การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายเป็ดอายุย่างเข้าปีที่ 25 ได้ประสบอุบัติเหตุรถชนเป็นเหตุให้ขาและแขนของนายเป็ดขาดทั้งสองข้าง นางไก่มารดาของนายเป็ดเห็นว่านายเป็ดไม่สามารถจัดทำการงานได้ด้วยตนเอง จึงร้องขอต่อศาลสั่งให้นายเป็ดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏจึงสั่งให้นายเป็ดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และตั้งให้นางไก่เป็นผู้พิทักษ์
ต่อมาภายหลังนายเป็ดได้นำรถยนต์ของตนออกให้นายหมูเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือน อีกทั้งนำที่ดินของตนให้นายเต่าเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยนางไก่ไม่ได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด ให้วินิจฉัยว่า การให้เช่ารถยนต์และที่ดินซึ่งนายเป็ดทำขึ้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
(5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี
การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ’’
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว เมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และได้จัดให้อยู่ในความพิทักษ์ของผู้พิทักษ์ตามมาตรา 32 แล้ว แม้คนเสมือนไร้ความสามารถยังมีความสามารถในการทำนิติกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ก็ตาม แต่ในกรณีที่เป็นนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การเช่า หรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี ตามมาตรา 34 (5) แล้ว คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ (ตามมาตรา 34 วรรคท้าย)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเป็ดซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้นำที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ออกให้นายเต่าเช่ามีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เกินกว่า 3 ปี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางไก่ผู้พิทักษ์นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 34 (5) ดังนันสัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายเป็ดและนายเต่าจึงตกเป็นโมฆียะ
ส่วนการที่นายเป็ดได้นำรถยนต์ออกให้นายหมูเช่าเพียง 3 เดือนนั้น เมื่อรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์และการให้เช่าก็มีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ดังนี้แม้สัญญาเช่าดังกล่าวจะไม่ได้รับความยินยอมจากนางไก่ผู้พิทักษ์ ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 34 (5) แต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาเช่ารถยนต์ระหว่างนายเป็ดและนายหมูจึงสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้
สรุป
การให้เช่ารถยนต์ซึ่งนายเป็ดทำขึ้นชอบด้วยกฎหมายและมีผลสมบูรณ์ ส่วนการให้เช่าที่ดินซึ่งนายเป็ดทำขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลเป็นโมฆียะ
ข้อ 2. ด้วยความรักอันหวานชื่นของสมศักดิ์และสมหญิง เป็นเหตุให้ทั้งคู่ตกลงที่จะจดทะเบียนสมรสและใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้เพียง 3 ปี สมศักดิ์และสมหญิงกลับจดทะเบียนหย่ากันเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษี โดยทั้งคู่ยังคงอยู่กินและอุปการะเลี้ยงดูกันเหมือนไม่ได้หย่าขาดจากกันเลย
ให้วินิจฉัยว่า การจดทะเบียนหย่าของสมศักดิ์และสมหญิงทำให้การสมรสสิ้นสุดลงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155 วรรคแรก “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”
วินิจฉัย
คำว่า “การแสดงเจตนาลวง” นั้น หมายถึง การที่คู่กรณีสองฝ่ายได้สมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมขึ้นมา แต่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย ดังนั้นนิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรก และจะไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันในทางกฎหมายขึ้นระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมศักดิ์ได้จดทะเบียนหย่ากับสมหญิงโดยที่ความจริงทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแต่อย่างใด แต่ที่ทำไปก็เพี่อลวงผู้อื่นเกี่ยวกับประโยชน์ในการเสียภาษีนั้น
ถือได้ว่าการจดทะเบียนหย่าของทั้งสองเป็นเพียงการแสดงเจตนาลวงโดยการสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมา ดังนั้นการจดทะเบียนหย่าของทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรก และจะไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันในทางกฎหมายขึ้นระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด กล่าวคือจะไม่ทำไห้การสมรสระหว่างสมศักดิ์และสมหญิงสิ้นสุดลง
สรุป
การจดทะเบียนหย่าของสมศักดิ์และสมหญิงไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง
ข้อ 3. โปรดจงอธิบายหลักการกำหนดระยะเวลาตามปีปฏิทิน
ธงคำตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 และมาตรา 193/6 ได้บัญญัติหลักการกำหนดระยะเวลาตามปีปฏิทินไว้ดังนี้ คือ
- ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือนหรือปี ให้คำนวณตามปีปฏิทิน (มาตรา 193/5 วรรคแรก)
คำว่า “ปีปฏิทิน” ในปัจจุบันหมายถึงการนับระยะเวลาทางสุริยคติ กล่าวคือ ถ้านับเป็นสัปดาห์ หมายความถึงระยะเวลา 7 วัน วันแรกแห่งสัปดาห์คือวันอาทิตย์ วันสุดท้ายแห่งสัปดาห์คือวันเสาร์ ถ้านับเป็นเดือน หมายความถึงระยะเวลาในแต่ละเดือน ซึ่งบางเดือนอาจจะมี 30 วัน บางเดือนอาจจะมี 31 วัน และบางเดือนอาจจะมี 28 หรือ 29 วันก็ได้ แต่ถ้านับเป็นปีก็จะหมายความถึงระยะเวลาในแต่ละปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม โดยไม่คำนึงว่าในปีนั้นจะมี 365 วัน หรือ 366 วัน
- ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ เดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือนหรือปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น (มาตรา 193/5 วรรคสอง)
เช่น ก. กู้เงิน ข. ไปเมื่อวันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2557 กำหนดชำระคืนภายใน 1 สัปดาห์ ดังนี้ระยะเวลาย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2557 และระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2557 เป็นต้น (ซึ่ง ก. ต้องชำระเงินคืนให้แก่ ข. ภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2557)
- ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา (มาตรา 193/5 วรรคสองตอนท้าย)
เช่น ก. กู้เงิน ข. ไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2556 กำหนดชำระคืนภายใน 2 เดือน ดังนี้ระยะเวลาย่อมเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556 และระยะเวลา 2 เดือนย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้น (ซึ่ง ก. ต้องชำระเงินคืนให้แก่ ข. ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557)
- ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือนให้นับจำนวนเดือนเต็มก่อน แล้วจึงนับจำนวนวันหรือส่วนของเดือนเป็นวัน (มาตรา 193/6 วรรคแรก)
เช่น ก. กู้เงิน ข. ไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 กำหนดชำระคืนภายใน 2 เดือน 10 วัน ดังนี้ การคำนวณระยะเวลาให้นับจำนวนเดือนเต็มก่อน คือ 2 เดือน ซึ่งระยะเวลา 2 เดือน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 หลังจากนั้นจึงนับจำนวนวันอีก 10 วัน ดังนั้นระยะเวลา 2 เดือน 10 วัน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 (ซึ่ง ก. ต้องชำระเงินคืนให้แก่ ข. ภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557)
- ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นส่วนของปี ให้คำนวณส่วนของปีเป็นเดือนก่อน หากมีส่วนของเดือนให้นับส่วนของเดือนเป็นวัน การคำนวณส่วนของเดือน ให้ถือว่าเดือนหนึ่งมีสามสิบวัน (มาตรา 193/6 วรรคสองและสาม)
ข้อ 4. แก้วมีความประสงค์ที่จะซื้อที่ดินจากไชยากรเพื่อนำมาปลูกสร้างเรือนหอกับน้ำทิพย์ จึงตกลงด้วยวาจาที่จะทำการซื้อที่ดินในราคา 1 ล้านบาท และนำเงิน 1 แสนบาทมาวางเป็นมัดจำเอาไว้พร้อมกับสัญญาว่าจะรวบรวมเงินที่เหลือให้ครบเพื่อนัดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันอีกในอีก 2 เดือน ถัดไป ครั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แก้วเปลี่ยนใจเพราะเห็นว่าที่ดินดังกล่าวราคาสูงเกินไป จึงไม่ตกลงทำสัญญาด้วย แต่ไชยากรปฏิเสธเพราะถือว่าได้ทำสัญญากันแล้วด้วยการวางมัดจำเพียงแต่ยังมิได้ตกลงกันในรายละเอียดเท่านั้น นายแก้วจึงมาปรึกษาท่านเพื่อขอความเห็นทางกฎหมายว่ามีสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างแก้วกับไชยากรหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 366 วรรคสอง “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 366 วรรคสอง ในกรณีที่สัญญาที่คู่สัญญามุ่งจะทำนั้น กฎหมายมิได้บังคับไว้ว่าจะต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด คู่สัญญาก็อาจตกลงกันได้ว่าสัญญานั้นต้องทำเป็นหนังสือ และเมื่อมีการตกลงกันไว้ดังกล่าว เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญานั้นเกิดขึ้นแล้วหรือยัง กฎหมายให้ถือว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แก้วกับไชยากรตกลงจะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าแก้วกับไชยากรได้ตกลงกันว่าจะนัดทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีกในอีก 2 เดือนถัดไป อันเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกัน แก้วเปลี่ยนใจไม่ยอมทำสัญญาด้วยไชยากรจะถือว่าการที่แก้วตกลงว่าจะซื้อที่ดินและได้มีการวางมัดจำไว้มาวินิจฉัยว่ามีสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้วไม่ได้ เพราะกรณีดังกล่าวต้องตามมาตรา 366 วรรคสอง ที่ให้ถือว่ายังมิได้มีสัญญาจะซื้อจะขายต่อกันจนกว่าจะได้ทำสัญญากับขึ้นเป็นหนังสือแล้ว
สรุป
ข้าพเจ้าจะให้ความเห็นแก่แก้วว่า สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างแก้วกับไชยากรยังไม่เกิดขึ้น