การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางชมพู่ทำสัญญากู้ยืมเงินนางทุเรียนไปจำนวน 350,000 บาท โดยนางทุเรียนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน หลังจากนั้นต่อมานางชมพู่มีการค้างชำระดอกเบี้ย นางทุเรียนจึงนำดอกเบี้ยมาคิดรวมกับต้นเงินกู้เป็นเงินจำนวน 590,000 บาท ที่นางชมพู่เป็นหนี้อยู่ ต่อมาสามีของนางชมพู่ได้ทำสัญญาขายบ้านให้นางทุเรียนในราคา 590,000 บาท โดยมีการโอนหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่นางชมพู่ค้างชำระนางทุเรียนทั้งหมดจำนวน 590,000 บาท นั้นแทนการชำระราคาบ้าน ดังนี้จงวินิจฉัยว่า

(1)  การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นมีผลเป็นอย่างไร

(2)  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างสามีของนางชมพู่กับนางทุเรียนมีผลเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรีอศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 173 “ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้”

มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1)  การที่นางชมพู่ทำสัญญากู้ยืมเงินนางทุเรียนไปจำนวน 350,000 บาท โดยนางทุเรียนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน และหลังจากนั้นเมื่อนางชมพู่มีการค้างชำระดอกเบี้ย นางทุเรียนจึงนำดอกเบี้ยมาคิดรวมกับต้นเงินกู้เป็นเงินจำนวน 590,000 บาทนั้น ถือว่าการคิดดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามมาตรา 150 และเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี (ตามมาตรา 654 และ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา) ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ

(2)  การที่สามีของนางชมพู่ได้ทำสัญญาขายบ้านให้นางทุเรียนในราคา 590,000 บาท โดยมีการโอนหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่นางชมพู่ค้างชำระนางทุเรียนทั้งหมดจำนวน 590,000 บาทนั้น แทนการชำระราคาบ้าน เมื่อสัญญาซื้อขายบ้านดังกล่าวเกิดจากหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ราคาบ้านที่กำหนดไว้ในสัญญาจะรวมเอาต้นเงินกู้ที่นางทุเรียนมีสิทธิได้รับไว้ด้วยก็ตาม แต่นางทุเรียนและสามีของนางชมพู่ก็มิได้มีเจตนาจะแบ่งแยกซื้อขายบ้านบางส่วนในราคาต้นเงิน 350,000 บาท ที่นางชมพู่ค้างชำระอยู่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างสามีของนางชมพู่และนางทุเรียนย่อมตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามมาตรา 173 (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 10852/2551)

สรุป

(1) การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ

(2) สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างสามีของนางชมพู่กับนางทุเรียนมีผลเป็นโมฆะทั้งฉบับ

 

ข้อ 2. นายเอกตกลงซื้อแจกันสมัยราชวงศ์หมิงซึ่งมีรอยร้าวจากนายโทใบหนึ่ง แต่นายโทได้นำกาวไปป้ายไว้เพื่อตบตานายเอกและบอกว่าไม่มีตำหนิ นายเอกจึงได้ตกลงซื้อแจกันใบดังกล่าวในราคา 50,000 บาท

ภายหลังต่อมานายเอกทราบว่าแจกันมีรอยร้าวซึ่งหากจะซื้อขายกันในท้องตลาดจะมีราคาเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าแม้นายเอกจะทราบว่าแจกันมีตำหนิ นายเอกก็ยังคงซื้อแจกันใบดังกล่าวอยู่ดีเพราะเป็นของโบราณหายาก ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเอกได้เข้าทำสัญญาซื้อขายเพราะลูกกลฉ้อฉลหรือไม่ มีผลทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 161 “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดจากการที่ผู้ทำนิติกรรมถูกกลฉ้อฉลนั้นกฎหมายได้บัญญัติให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ คู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิบอกล้างได้ (ป.พ.พ. มาตรา 159)

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 161 ได้บัญญัติว่า ถ้ากลฉ้อฉลนั้นเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องการแสดงเจตนาทำนิติกรรมอยู่แล้วแม้จะไม่มีการทำกลฉ้อฉล ต้องยอมรับข้อกำหนดตามนิติกรรมอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการทำกลฉ้อฉลเช่นนั้น คู่กรณีฝ่ายนั้นจะไม่ยอมรับข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าว ผลของการทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลในกรณีเช่นนี้ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ

แต่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกตกลงซื้อแจกันสมัยราชวงศ์หมิงซึ่งมีรอยร้าวจากนายโท แต่นายโทได้นำกาวไปป้ายไว้เพื่อตบตานายเอกและบอกว่าไม่มีตำหนิ ทำให้นายเอกหลงเชื่อและได้ตกลงซื้อแจกันใบดังกล่าวนั้น การกระทำของนายโทถือว่าเป็นการใช้อุบายหลอกลวงให้นายเอกเข้าทำสัญญาซื้อขายแจกันกับตน

ดังนั้น การที่นายเอกได้เข้าทำสัญญาซื้อขายแจกันกับนายโท ย่อมถือว่านายเอกได้แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า แม้นายโทจะไม่ใช้อุบายหลอกลวงนายเอก และถ้านายเอกทราบว่าแจกันมีรอยร้าว (มีตำหนิ) นายเอกก็ยังคงซื้อแจกันใบดังกล่าวอยู่ดีเพราะเป็นของโบราณหายาก เพียงแต่จะซื้อในราคาท้องตลาดคือในราคาเพียง 10,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจะต่ำกว่าราคาที่นายเอกได้ตกลงซื้อไปเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลคือ 50,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่นายเอกได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล ซึ่งเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายเอกจะยอมรับโดยปกติตามมาตรา 161

ดังนั้น นายเอกจะยกเอาเหตุที่ถูกกลฉ้อฉลเพื่อบอกล้างนิติกรรมซื้อขายแจกันไม่ได้ แต่นายเอกชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้ ซึ่งได้แก่จำนวนเงินที่นายเอกต้องจ่ายเกินไปกว่า

ราคาอันแท้จริงของแจกัน คือ 40,000 บาท

สรุป

นายเอกได้เข้าทำสัญญาซื้อขายแจกันเพราะถูกกลฉ้อฉล แต่นายเอกจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันไม่ได้ ทำได้แต่เพียงเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ผู้ให้กู้ ตกลงให้ผู้กู้ กู้เงินจำนวน 200,000 บาท ผู้กู้ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินลงลายมือชื่อฝ่ายผู้กู้และส่งมอบให้แก่ผู้ให้กู้เรียบร้อยแล้ว โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ภายใน 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าสองวันก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระผู้กู้คิดว่าตนไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้กู้ได้ทันตามกำหนดเวลาชำระหนี้ จึงมาขอขยายกำหนดเวลาชำระหนี้ออกไป ผู้ให้กู้สงสารจึงยินยอมให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปให้อีก 1 ปีครึ่ง โดยคู่กรณีมิได้มีการตกลงกำหนดวันเริ่มต้นนับระยะเวลาที่ขยายออกไปกันไว้

ดังนี้อยากทราบว่า หนี้ดังกล่าวจะถึงกำหนดชำระเมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 วรรคสอง “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวับแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”

มาตรา 193/5 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา ”

มาตรา 193/6 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นส่วนของปี ให้คำนวณส่วนของปีเป็นเดือนก่อน หากมีส่วนของเดือนให้นับส่วนของเดือนเป็นวัน”

มาตรา 193/7 “ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้กู้ได้ทำสัญญากู้เงินจากผู้ให้กู้จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 30 ตุลาคม 2558 มีกำหนดชำระคืนภายใน 4 เดือนนั้น ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง การเริ่มต้นนับระยะเวลามิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน แต่ให้เริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ดังนั้นวันที่ 31 ตุลาคม 2558 จึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา (มิใช่วันต้นแห่งเดือนคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558) ซึ่งระยะเวลา 4 เดือน ย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นตามมาตรา 193/5 วรรคสอง

แต่เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ค. 2559 ไม่มีวันตรงกัน คือไม่มีวันที่ 31 กุมภาพันธ์ ดังนั้น จึงต้องถือเอาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดของระยะเวลา (ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง ตอนท้าย)

แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระผู้กู้ไม่มีเงินไปชำระ และผู้ให้กู้สงสารจึงยินยอมให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปีครึ่ง โดยคู่กรณีมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปนั้น ระยะเวลาที่ขยายออกไปจึงต้องเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น (ตามมาตรา 193/7) และเมื่อระยะเวลาที่ขยายออกไปนั้นมีกำหนด 1 ปีครึ่ง คือมีการกำหนดกันเป็นปี (1 ปี) และส่วนของปี (ครึ่งปี) จึงต้องคำนวณส่วนของปีเป็นเดือนก่อนซึ่งก็คือ 6 เดือน (ตามมาตรา193/6 วรรคสอง) ดังนั้น ระยะเวลาที่ขยายออกไปจึงเท่ากับ 1 ปี 6 เดือน

เมื่อระยะเวลาที่ขยายออกไปมีหน่วยนับระยะเวลาเป็นปีและเดือนผสมกัน จึงต้องคำนวณหาระยะเวลา 1 ปีก่อนว่าสิ้นสุดลงเมื่อใดแล้วจึงคำนวณหาระยะเวลา 6 เดือนว่าสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่าการนับระยะเวลา 1 ปี จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งมิใช่วันต้นแห่งปี ดังนั้นระยะเวลา 1 ปี ย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มต้นนับระยะเวลา ซึ่งก็คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 (ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง) ส่วนการนับระยะเวลาอีก 6 เดือนนั้น วันเริ่มต้นนับ จึงเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2560 (ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง) และระยะเวลา 6 เดือนจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 (ตามมาตรา 193/5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นเดือน ให้คำนวณตามปีปฏิทิน”) ดังนั้น ระยะเวลาที่ขยายออกไปอีก 1 ปีครึ่งจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงทาคม 2560 และหนี้ดังกล่าวจะถึงกำหนชำระในวันที่ 31 สิงหาคม 2560

สรุป

หนี้ดังกล่าวซึ่งมีการขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปีครึ่งจะกำหนดชำระในวันที่ 31 สิงหาคม 2560

 

ข้อ 4. คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่านายกรุงเทพเลี้ยงเป็ดไว้จำนวน 2,000 ตัว นายกรุงเทพตกลงขายเป็ดจำนวน 2,000 ตัวนั้น ให้แก่นายปักกิ่งในราคา 200,000 บาท กำหนดชำระราคาเป็ดและส่งมอบเป็ดดังกล่าวกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 แต่เมื่อถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2559 เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดอย่างหนักในท้องที่ที่นายกรุงเทพอยู่ ทำให้เป็ดของนายกรุงเทพติดเชื้อโรคไข้หวัดนก ทางราชการจึงต้องทำการฆ่าเป็ดทั้งหมดจำนวน 2,000 ตัว ด้วยการฝังทั้งเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนก นายกรุงเทพจึงไม่สามารถส่งมอบเป็ดจำนวน 2,000 ตัว ให้แก่นายปักกิ่งได้

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายปักกิ่งต้องชำระราคาเป็ดให้แก่นายกรุงเทพหรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 370 วรรคหนึ่ง “ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกรุงเทพได้ตกลงขายเป็ดจำนวน 2,000 ตัว ให้แก่นายปักกิ่งในราคา 200,000 บาทนั้น สัญญาซื้อขายเป็ดระหว่างนายกรุงเทพกับนายปักกิ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง (คือเป็ดจำนวน 2,000 ตัว ดังกล่าว) เมื่อปรากฏว่าเป็ดจำนวนดังกล่าวที่นายกรุงเทพกำลังจะส่งมอบแก่นายปักกิ่งติดเชื้อโรคไข้หวัดนก ทำให้ทางราชการจำเป็นต้องนำเป็ดทั้งหมดไปทำการฆ่าทิ้ง จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษนายกรุงเทพ (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องส่งมอบเป็ด)ไม่ได้ การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่นายปักกิ่ง (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับการส่งมอบเป็ด)

ดังนั้น ถึงแม้ว่านายกรุงเทพไม่สามารถส่งมอบเป็ดทั้งหมดจำนวน 2,000 ตัว ให้แก่นายปักกิ่งได้ นายปักกิ่งก็ยังคงต้องชำระราคาค่าเป็ดจำนวน 200,000 บาท ให้แก่นายกรุงเทพตามที่ตกลงกันในสัญญา

สรุป

นายปักกิ่งต้องชำระราคาเป็ดจำนวน 200,000 บาท ให้แก่นายกรุงเทพ

Advertisement