การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา 2555 

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน

ข้อ  1  ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยปราศจากความยินยอมจากผู้เยาว์หรือขออนุญาตจากศาล  จะมีผลเป็นการเช่นใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1572  ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำหนี้ที่บุตรจะต้องทำเองโดยมิได้รับความยินยอมของบุตรไม่ได้

มาตรา  1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้  ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

มาตรา  1575  ถ้าในกิจการใด  ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง  ขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์  ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้  มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

อธิบาย

ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น  เป็นเพียงบุคคลที่กฎหมายได้กำหนดให้มีขึ้น  เพื่อมุ่งที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เยาว์ในกรณีที่ผู้เยาว์จะทำ นิติกรรมบางอย่างซึ่งเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ไม่สามารถที่จะกระทำได้โดย ลำพังตนเอง  หรือในบางกรณีผู้แทนโดยชอบธรรมอาจจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ก็ได้

ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรม  จะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์นั้น  กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับหนี้ที่ผู้เยาว์  (บุตร)  จะต้องทำเองก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบุตรด้วย  ตามมาตรา  1572  และถ้าเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  เช่น  การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี  หรือการให้กู้ยืมเงิน  ฯลฯ  ดังนี้ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลด้วย  ตามมาตรา 1574

แต่อย่างไรก็ตาม  ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำนิติกรรมดังกล่าวโดยปราศจากความยินยอมของผู้เยาว์  หรือไม่ได้รับอนุญาตจากศาล  กฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าจะเกิดผลประการใด  แต่เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาประกอบกับมาตรา  1575  แล้ว  พอจะสรุปได้ว่าจะมีผลทางกฎหมายได้  2  ประการ  คือ

  1.  ไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3830/2542,  4861/2548  และ  7776/2551
  2. เป็นโมฆะ  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  8438/2547,  และ  ป.พ.พ.  มาตรา  1575)

 

ข้อ  2  ครอบครัววิชุนีตระกูลไฮโซชื่อดังกำลังประสบปัญหาการเงิน  คุณลำเพาและคุณนพรัตน์  วิชุนีประมุขของครอบครัวต้องรีบหาทางจัดการปัญหานี้ด่วน  เพื่อรักษาหน้าตาก่อนที่คนในสังคมจะรู้  และหนทางที่คุณลำเพาคิดได้  คือการไปทวงข้อตกลงกับคุณเปรม  ปัทมกุล เจ้าของไร่กาแฟแห่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงรายถึงสัญญาที่ทำกันไว้เมื่อยี่สิบปีก่อนว่า

จะทดแทนบุญคุณที่คุณนพรัตน์เคยช่วยเหลือเรื่องเงิน  ด้วยการให้ลูกชายของเขาแต่งงานกับรจนาซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัววิชุนี ปัทม์ลูกชายคนเดียวของครอบครัวปัทมกุลไม่พอใจเพราะพ่อของเขาผู้ให้คำสัญญาเสียชีวิตไปนานแล้ว  ประกอบกับเขาไม่ชอบให้ใครมาบังคับ  แม้ว่าเขาจะไม่ยอมทำตามข้อตกลง

แต่คุณลำเพาอ้างถึงบุญคุณที่คุณนพรัตน์เคยช่วยเหลือไว้  ไม่เช่นนั้นครอบครัวปัทมกุลคงไม่มีโอกาสสร้างไร่กาแฟได้อย่างทุกวันนี้  ปัทม์จึงจำเป็นต้องยอมทำตามข้อตกลงด้วยการจะเข้าแต่งงานกับรจนา  ก่อนวันงานแต่งงาน  ปัทม์จึงมาปรึกษากับท่านเพื่อหาเหตุผลข้อกฎหมายเพื่อยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว  เพราะเข้าใจผิดว่ารจนารู้ว่าครอบครัวของตนร่ำรวยมาก  จึงคิดว่าต้องการแต่งงานกับตนเพื่อที่จะสนองตอบความรักสบายของรจนาได้  ท่านจะให้คำแนะนำแก่ปัทม์อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ในการตกลงทำนิติกรรมกันนั้น  วัตถุประสงค์ของนิติกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  จะต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย  และจะต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ถ้านิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่คุณนพรัตน์  วิชุนี  ได้ตกลงกับคุณเปรม  ปัทมกุล  ให้รจนา  วิชุนี  กับปัทม์  ปัทมกุล  แต่งงานกันเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณที่คุณนพรัตน์เคยช่วยเหลือเรื่องเงินกันไว้นั้น  มิได้เกิดจากการตกลงกันระหว่างชายและหญิงที่จะแต่งงานกันแต่อย่างใด  ซึ่งตามหลักของสถาบันครอบครัวและกฎหมายครอบครัวนั้น การแต่งงานหรือการสมรสจะต้องเป็นเรื่องของชายและหญิงได้ตกลงที่จะเป็นสามีภริยากัน  ตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน  ไม่ได้ตกลงแต่งงานกันโดยมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น  ดังนั้นข้อตกลงระหว่างคุณนพรัตน์  วิชุนี  กับคุณเปรม  ปัทมกุล  ดังกล่าว  จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  150  และปัทม์สามารถบอกเลิกการแต่งงานของตนได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่ปัทม์ว่าข้อตกลงระหว่างคุณนพรัตน์กับคุณเปรม  ตกเป็นโมฆะ  ปัทม์สามารถบอกเลิกการแต่งงานของตนได้

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  10  สิงหาคม  2553  นายสมหมายได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายสมจริงได้รับบาดเจ็บสาหัส  นายสมจริงถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา  1  เดือน  นายสมจริงได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน  4  แสนบาท  ต่อมานายสมจริงจึงได้ไปทวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากนายสมหมายเมื่อวันที่  3  ตุลาคม  2553  แต่นายสมหมายได้ขอผัดผ่อนเรื่อยมา  จนกระทั่งวันที่  15  พฤศจิกายน  2553

นายสมหมายได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสมจริงเพื่อช่วยค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน  5,000  บาท  หลังจากนั้นก็มิได้นำไปชำระให้อีกเลย  นายสมจริงจึงได้นำคดีไปฟ้องศาลเพื่อเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ตนได้ออกไปก่อนในวันที่  22  กันยายน  2554  นายสมหมายได้ต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  แต่นายสมจริงอ้าว่ายังไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความได้สะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  15  พฤศจิกายน  2553 ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายสมจริงฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/15  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด  ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อวันที่  10  สิงหาคม  2553  นายสมหมายได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อ  ชนนายสมจริงได้รับบาดเจ็บสาหัส  การที่นายสมหมายขับรถยนต์ชนนายสมจริงเป็นการกระทำละเมิด  อายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมีกำหนดอายุความ  1  ปี  ตามมาตรา  448  ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะครบกำหนดอายุความในวันที่  10  สิงหาคม  2554

เมื่อนายสมจริงถูกรถชนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล  และได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน  4  แสนบาท  จึงได้มาทวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากนายสมหมาย  แต่นายสมหมายได้ผัดผ่อนเรื่อยมา  จนกระทั่งวันที่  15  พฤศจิกายน  2553  นายสมหมายได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสมจริง  5,000  บาท  เป็นการชำระหนี้ให้แก่นายสมจริงบางส่วน  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(1)  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา  193/15  วรรคแรก  และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่  15  พฤศจิกายน  2553  และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่  15  พฤศจิกายน  2554  ตามมาตรา  193/15  วรรคสอง  นายสมจริงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  22  กันยายน  2554  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ  ข้ออ้างของนายสมจริงจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของนายสมจริงฟังขึ้น

 

ข้อ  4  เมื่อวันที่  1  มีนาคม  2556  นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ  ได้ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนไปยังนางจันทราซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา  3  ล้านบาท  โดยนายอาทิตย์ได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่า  ถ้านางจันทราต้องการซื้อบ้านหลังนี้  ให้ตอบไปยังนายอาทิตย์ภายในวันที่  31  มีนาคม  2556  นางจันทราส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ  แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่  5  เมษายน  2556

อย่างไรก็ตาม  เมื่อดูตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนางจันทราแล้ว  เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า  นางจันทราได้ส่งจดหมายตั้งแต่วันที่  26  มีนาคม  2556  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายในวันที่  31  มีนาคม  2556  ตามที่นายอาทิตย์กำหนด

เช่นนี้  จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านที่นางจันทราส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางจันทราได้ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ  แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่  5  เมษายน  2556  ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายอาทิตย์ได้กำหนดไว้  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่า  นางจันทราส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  26  มีนาคม  พ.ศ.2556  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายอาทิตย์ก่อน  หรือภายในวันที่  31  มีนาคม  พ.ศ.2556  อันเป็นเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้  ในกรณีเช่นนี้  คำสนองของนางจันทราจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับว่านายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่า  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว  ดังนั้น

(1)    ถ้านายอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองล่วงเวลา

(2)   แต่ถ้านายอาทิตย์ละเลย  ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราเกิดขึ้น

สรุป  จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านของนางจันทราที่ส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า  นายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่  ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่  ตามมาตรา  358

Advertisement