การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายบัวขาวเป็นชายหนุ่มได้อยู่กินกับนางบัวบาน ซึ่งเป็นหม้ายอายุแก่กว่าประมาณ 20 กว่าปี ต่อมานายบัวขาวแนะนำนางบัวบานให้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้แก่นายบัวขาวหลอกๆ เพื่อป้องกันมิให้บุตรของนางบัวบานที่เกิดจากสามีเดิมมาเอาที่ดินนั้นไป เมื่อทั้งสองปรึกษาหารือกันแล้ว นางบัวบานจึงขายที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายบัวขาวในราคา 3 ล้านบาท
โดยในสัญญาระบุว่านางบัวบานได้รับเงินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่ความจริงนายบัวขาวไม่ได้จ่ายเงินค่าที่ดินแปลงนั้นให้แก่นางบัวบานเลย ต่อมานายบัวขาวได้เล่าความจริงต่างๆที่เกิดขึ้นให้นายโมหะน้องชายของตนฟัง ทำให้นายโมหะอยากได้ที่ดินแปลงนั้นมาก นายโมหะก็เลยอ้อนวอนขอที่ดินแปลงนั้นจากนายบัวขาว
นายบัวขาวจึงจำใจยกที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายโมหะ ต่อมานายบัวขาวรู้สึกเสียดายที่ดินแปลงนั้น นายบัวขาวจึงไปทวงที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะ โดยอ้างว่าตนมิได้มีเจตนาจะให้ที่ดินแปลงนั้นแก่นายโมหะจริงๆ นายโมหะไม่ยอมคืน ดังนี้ นายบัวขาวหรือนางบัวบานจะสามารถฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 155 วรรคแรก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะมีผลตามมาตรา 155 วรรคแรก คือ ตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายมาตรา 155 วรรคแรก ได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอก โดยห้ามมิให้บุคคลใดๆยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงนั้นขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้
(1) กระทำการโดยสุจริต
(2) ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบัวขาวและนางบัวบานได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่านายบัวขาวซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนางบัวบานนั้น การแสดงเจตนาลวงระหว่างนายบัวขาวและนางบัวบานย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 155 วรรคแรกตอนต้น จึงมีผลทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวยังคงเป็นของนางบัวบานตามเดิม
และการที่นายบัวขาวได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายโมหะนั้น แม้ว่านายโมหะจะเป็นบุคคลภายนอก แต่กรณีที่บุคคลภายนอกจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้น บุคคลภายนอกจะต้องได้กระทำการโดยสุจริต และต้องได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นด้วย ตามมาตรา 155 วรรคแรกตอนท้าย แต่กรณีตามอุทาหรณ์ นายโมหะกระทำการโดยไม่สุจริต คือ ได้รับมอบที่ดินแปลงนั้นจากนายบัวขาวโดยทราบถึงการแสดงเจตนาลวงระหว่างนายบัวขาวกับนางบัวบาน และนายโมหะก็ไม่ได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น เพราะนายโมหะรับมอบที่ดินจากนายบัวขาวโดยไม่ได้เสียค่าตอบแทนแต่อย่างใด นายโมหะจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้น นางบัวบานเจ้าของที่ดินจึงสามารถฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะได้
ส่วนกรณีของนายบัวขาวนั้น เมื่อการแสดงเจตนาลวงระหว่างนายบัวขาวกับนางบัวบานตกเป็นโมฆะแล้ว นายบัวขาวย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว และไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะ
สรุป นางบัวบานจะสามารถฟ้องคดีเรียกที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายโมหะได้
ข้อ 2 นายแดงได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากนายดำ 1 แปลง จำนวน 5 ไร่ โดยได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเรียบร้อยแล้ว ต่อมาปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้รวมที่ดินสาธารณะไว้ด้วยบางส่วน จึงทำให้เนื้อที่ดินขาดหายไปประมาณ 50 ตารางวา นายแดงจึงไปทวงเงินค่าที่ดินคืนจากนายดำ
แต่นายดำไม่ยอมคืนให้ จึงเป็นเหตุทำให้นายแดงเข้าใจว่านายดำหลอกลวงตนโดยเอาที่ดินสาธารณะมาขายให้บางส่วน นายแดงจึงพูดขู่นายดำว่า หากไม่คืนเงินจะฟ้องให้นายดำติดคุกติดตะราง นายดำกลัวติดคุกจึงยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ ยอมรับจะใช้เงินที่ขาดคืนแก่นายแดง ดังนี้ อยากทราบว่า หนังสือรับสภาพหนี้ของนายดำมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 164 “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น”
มาตรา 165 วรรคแรก “การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่”
วินิจฉัย
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้น
ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 แต่มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆียะ เช่น การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ตามมาตรา 165 วรรคแรก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน เป็นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงเข้าใจว่านายดำหลอกลวงตนโดยเอาที่ดินสาธารณะมาขายให้บางส่วน จึงพูดขู่นายดำว่า หากไม่คืนเงินจะฟ้องให้นายดำติดคุกติดตะราง จนทำให้นายดำกลัวและยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้นั้น แม้จะเป็นการข่มขู่ แต่ก็เป็นกรณีที่นายแดงกระทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะแต่อย่างใดไม่ ตามมาตรา 165 วรรคแรก ดังนั้น หนังสือรับสภาพหนี้ของนายดำจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด (ฎ. 5334/2533)
สรุป หนังสือรับสภาพหนี้ของนายดำมีผลใช้บังคับได้
ข้อ 3 นายแดงกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ พนักงานอัยการได้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 เวลา 14.00 น. ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายแดงมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี
นายแดงถามเจ้าหน้าที่เรือนจำว่าตนเองจะพ้นโทษเมื่อใด เจ้าหน้าที่เรือนจำได้บอกกับนายแดงว่า “นายแดงจะออกจากเรือนจำในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552” ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าถ้อยคำของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่บอกแก่นายแดงถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด และนายแดงจะออกจากเรือนจำเมื่อใด จงอธิบาย
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 บัญญัติว่า “ในการคำนวณระยะเวลาจำคุกให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง”
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/1 “การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบ ข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น”
มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น
ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำ การงานกันตามประเพณี
มาตรา 193/5 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ให้คำนวณตามปีปฏิทิน
ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา”
วินิจฉัย
โดยหลักทั่วไป วิธีการนับระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ใช้บังคับแก่การนับระยะเวลาทั้งปวงในกิจการต่างๆ ของบุคคลทุกเรื่อง แต่มีข้อยกเว้นว่าวิธีการนับระยะเวลาดังกล่าว ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่มีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายแดงมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 นั้น ระยะเวลาของโทษจำคุกตามคำพิพากษาดังกล่าว ถือเป็นการกำหนดระยะเวลาเป็นปี ซึ่งโดยหลักแล้ว กฎหมายมาตรา 193/3 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า การนับระยะเวลาจำคุกนั้น ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ดังนั้นการเริ่มนับระยะเวลาในกรณีนี้ จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะคือ ต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป
และเมื่อปรากฏว่าวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับ มิใช่วันต้นแห่งปี (วันที่ 1 มกราคม 2551) เพราะฉะนั้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี ย่อมจะสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้า อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ซึ่งก็คือวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552 ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง ดังนั้นโทษจำคุก 1 ปี ที่นายแดงได้รับจึงครบกำหนดในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552 และนายแดงจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 (จะได้รับการปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนดตาม ปอ. มาตรา 21 วรรคสาม) ดังนั้นถ้อยคำของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่บอกกับนายแดงว่า นายแดงจะออกจากเรือนจำในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 จึงถูกต้องตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
สรุป ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่บอกแก่นายแดงถูกต้อง และนายแดงจะออกจากเรือนจำในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552
ข้อ 4 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นายสมพงษ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีได้ส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนให้แก่นายสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ราคา 1,000,000 บาท โดยกำหนดไปในจดหมายด้วยว่าหากนายสมบูรณ์จะซื้อ ต้องส่งจดหมายตอบตกลงซื้อมาถึงนายสมพงษ์ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2553 นายสมบูรณ์ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งตัวนั้นตามราคาที่นายสมพงษ์เสนอ แต่จดหมายมาถึงนายสมพงษ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 หากเป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 เช่นนี้ จะมีผลในกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 358 ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ จดหมายคำสนองตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์ไปถึงนายสมพงษ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมพงษ์กำหนดไว้ 6 วัน แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนายสมบูรณ์ว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึงนายสมพงษ์ภายใน 3 วัน หรือ 5 วันเป็นอย่างช้า คือมาถึงทันภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2553 ซึ่งนายสมพงษ์กำหนดไปในคำเสนอ
ดังนั้น คำสนองของนายสมบูรณ์จึงเป็นคำสนองที่มาถึงผู้เสนอเนิ่นช้า แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ถูกส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงผู้เสนอภายในเวลากำหนด ซึ่งจะมีผลในกฎหมายตามมาตรา 358 ดังนี้
- นายสมพงษ์ผู้เสนอมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง คือนายสมบูรณ์ผู้สนอง โดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่นายสมพงษ์ผู้เสนอจะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว
- ถ้านายสมพงษ์ผู้เสนอปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองล่วงเวลา
- แต่ถ้านายสมพงษ์ผู้เสนอละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายม้าแข่งระหว่างนายสมพงษ์กับนายสมบูรณ์เกิดขึ้น
สรุป จดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์จะมีผลในกฎหมายเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่านายสมพงษ์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 358 หรือไม่