การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1
(ก) การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ มีผลในทางกฎหมายประการใด ให้อธิบายโดยสังเขป
(ข) นายสมพงษ์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายสมชายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ราคา 600,000 บาท โดยได้รับความยินยอมจากนายสมพร ซึ่งเป็นบิดาของนายสมพงษ์แล้ว ในวันทำสัญญาซื้อขาย นายสมชายได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายสมพงษ์ และนายสมพงษ์ได้วางเงินมัดจำให้ไว้แก่นายสมชาย 600,000 บาท กำหนดชำระราคาส่วนที่ยังค้างอยู่ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556
เมื่อถึงกำหนดนายสมพงษ์ไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสมชาย นายสมชายจึงทำหนังสือบอกกล่าวเตือนให้นายสมพงษ์นำเงินไปชำระให้แก่นายสมชายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวเตือน เมื่อครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวเตือนแล้ว นายสมพงษ์ก็ยังไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสมชาย นายสมชายจึงทำหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ส่งให้แก่นายสมพงษ์ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่านายสมพรบิดาของนายสมพงษ์ไม่ทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวแต่อย่างใด เช่นนี้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ ซึ่งนายสมชายกระทำต่อนายสมพงษ์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งมีต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง
อธิบาย
กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสมือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล
หลักทั่วไป ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเพื่อเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้
ข้อยกเว้น ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้
1. ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก) หรือ
2. การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ซึ่งนายสมชาย กระทำต่อนายสมพงษ์มีผลในทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร เห็นว่า การที่นายสมชายได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ส่งไปให้แก่นายสมพงษ์ซึ่งเป็นผู้เยาว์นั้น นายสมพรบิดาของนายสมพงษ์ไม่ได้รู้ถึงการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแต่อย่างใด และเรื่องนี้ก็มิใช่กิจการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์กระทำได้เองโดยลำพัง กรณี จึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้แสดง เจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ ตามมาตรา 170 วรรคแรก
ดังนั้น การที่นายสมชายบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ โดยส่งคำบอกกล่าวไปยังนายสมพงษ์โดยนายสมพรผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสมพงษ์มิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ก่อน มีผลในทางกฎหมาย คือ นายสมชายจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นขึ้นต่อสู้หรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากนายสมพงษ์ไม่ได้
สรุป ผลทางกฎหมาย คือ นายสมชายจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์ขึ้นต่อสู้กับนายสมพงษ์ผู้เยาว์ไม่ได้
มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งมีต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง
ข้อ 2 นาย ก ตกลงซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนาย ข โดยนาย ข มิได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่านาย ค ได้มาหลอกลวงนาย ก โดยบอกว่าที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีโครงการตัดถนนผ่าน ทำให้ที่ดินติดถนนสาธารณะไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่ ซึ่งนาย ก หลงเชื่อ เมื่อซื้อไปแล้วไม่มีโครงการตัดถนนดังคำกล่าวอ้างของนาย ค แต่อย่างใด นาย ก ไม่ต้องการที่ดินแปลงนี้แล้ว จึงมาปรึกษาท่าน ให้ท่านแนะนำนาย ก ถึงผลของสัญญาซื้อขายนี้ว่ามีอยู่อย่างไรตามกฎหมาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 157 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นโมฆียะ
ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การที่กลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก ได้ทำนิติกรรมโดยการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนาย ข เพราะได้หลงเชื่อข้อเท็จจริงตามที่นาย ค ได้หลอกลวงนาย ก ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีโครงการตัดถนนผ่านทำให้ที่ดินติดถนนสาธารณะไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่ จึงถือว่านาย ก ได้ทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว นาย ก ก็คงจะมิได้ทำสัญญาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาย ข ตามมาตรา 159 วรรคแรกและวรรคสอง
แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เป็นกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก ซึ่งตามกฎหมายนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วย ตามมาตรา 159 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่า คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง คือนาย ข มิได้รู้หรือควรจะรู้ว่านาย ค ได้มาหลอกลวงนาย ก ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนาย ก กับนาย ข จึงไม่ตกเป็นโมฆียะเพราะถูกกลฉ้อฉล
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนาย ก ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาย ข ไปแล้ว มาทราบในภายหลังว่าไม่มีโครงการตัดถนนดังคำกล่าวอ้างของนาย ค ซึ่งถ้านาย ก ได้ทราบตั้งแต่แรกก็คงจะไม่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้แน่นอน ดังนั้นนาย ก ย่อมสามารถอ้างได้ว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะตนได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม นิติกรรมในรูปของสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว จึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 (ฎ. 257/2537)
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นาย ก ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆียะ เพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินตามมาตรา 157
ข้อ 3 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2552 นายแดงได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากนายดำจำนวน 100,000 บาท โดยมีนายเขียวเป็นผู้ค้ำประกันมีกำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 31 มีนาคม 2552 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินมาชำระ นายดำได้ทวงถามตลอดมา แต่นายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระจนกระทั่งอายุความฟ้องร้อง 2 ปีได้สิ้นสุดลง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555
นายแดงถูกสลากกินแบ่งจำนวน 30,000 บาท จึงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน 20,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ ในวันที่นำเงินมาชำระนั้นเอง นายดำได้ให้นายแดงทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ตนหนึ่งฉบับ มีใจความว่านายแดงจะนำเงินจำนวน 80,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ดังนี้ อยากทราบว่า
(ก) นายแดงมาทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วจำนวน 20,000 บาท คืนจากนายดำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 นายแดงไม่นำเงินมาชำระ นายดำจะนำคดีไปฟ้องนายแดงและนายเขียวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/ 9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ”
มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัย แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”
มาตรา 193/28 การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้
มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากนายดำจำนวน 100,000 บาท และมิได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำเลย และเมื่อนายดำไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของนายดำที่มีต่อนายแดงลูกหนี้และนายเขียวผู้ค้ำประกันย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายดำย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายแดงและนายเขียวชำระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายดำฟ้องนายแดงและนายเขียวให้ชำระหนี้ นายแดงและนายเขียวย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10
และตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้นำเงินบางส่วนไปชำระหนี้แก่นายดำ รวมทั้งการที่นายแดงได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้แก่นายดำโดยมีใจความว่านายแดงจะนำเงินจำนวนที่เหลืออีก 80,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 นั้น ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายแดงลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อนายดำเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 นั้น ต้องเป็นการกระทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้นการกระทำของนายแดงจึงเป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว และเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28
ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จึงวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายแดงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน 20,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากนายดำไม่ได้ ตามมาตรา 193/28 วรรคแรก ที่ว่าการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่า สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมิได้ทำให้หนี้นั้นระงับไปแต่อย่างใด(ข) เมื่อนายแดงได้รับสภาพความรับผิด โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือกับนายดำว่าจะนำเงินจำนวน 80,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำ ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ ดังนั้นเมื่อนายแดงไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด นายดำย่อมสามารถฟ้องให้นายแดงชำระหนี้ได้ (ฎ. 1770/2517) โดยนายดำจะต้องฟ้องนายแดงภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/35 แต่นายดำจะฟ้องนายเขียวไม่ได้ เพราะนายเขียวผู้ค้ำประกันเดิมที่ไม่ได้รับสภาพความรับผิดเช่นเดียวกับนายแดง และตามมาตรา 193/28 วรรคสองตอนท้าย ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า “…แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้” กล่าวคือ ถ้านายดำฟ้องนายเขียวผู้ค้ำประกัน นายเขียวย่อมมีสิทธิยกเอาการที่หนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้นายดำได้
สรุป
(ก) นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วจำนวน 20,000 คืนจากนายดำไม่ได้
(ข) เมื่อหนี้ถึงกำหนด นายแดงไม่นำเงินมาชำระ นายดำสามารถนำคดีไปฟ้องนายแดงได้แต่จะฟ้องนายเขียวไม่ได้
ข้อ 4
(ก) คำเสนอคืออะไร การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป
(ข) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2556 นายทองหล่อได้ไปที่สำนักงานบริษัท ทองแท้แร่ไทย จำกัด และได้บอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัทว่า “ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ 40 ตัน แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน 20 ตัน ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ” ต่อมาอีกสามวัน นายทองดีซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัททองแท้แร่ไทย จำกัด ได้ทำหนังสือตอบไปยังนายทองหล่อว่า “บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่ท่านเต็มจำนวนตามที่ท่านเสนอ ราคาตันละห้าแสนบาท ทั้งนี้ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน” ดังนี้สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างทองหล่อกับบริษัท ทองแท้แร่ไทย จำกัด เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
(ก) คำเสนอ คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้น
การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้
(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน
(2) มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที(ข) วินิจฉัย
โดยหลักของกฎหมาย สัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายหรือกว่านั้นขึ้นไปเป็นคู่สัญญาแสดงเจตนาเป็นคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกัน หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคู่สัญญาสองฝ่ายได้ให้คำเสนอและคำสนองสอดคล้องตรงกัน
และการแสดงเจตนาที่ถือว่าเป็นคำเสนอนั้น จะต้องมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1. ต้องเป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน
2. มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาจะเกิดขึ้นทันทีกรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองหล่อได้บอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัทฯว่า “ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ 40 ตัน แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน 20 ตัน ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ” ดังนี้ถือว่า เป็นคำเสนอขอซื้อแร่ดีบุก 20 ตัน เพราะการแสดงเจตนาในส่วนแรกที่ว่า ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ 40 ตันนั้น เป็นข้อความที่ไม่แน่นอน จึงไม่เป็นคำเสนอ แต่ข้อความในส่วนต่อไปที่ว่าแต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน 20 ตัน เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน และมีความมุ่งหมายว่าถ้าอีกฝ่ายหนึ่งสนองตอบตกลงสัญญาเกิดขึ้นทันที ซึ่งเมื่อนายทองดี ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ได้สนองรับโดยตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่นายทองหล่อเต็มจำนวนตามที่นายทองหล่อเสนอ ก็เป็นสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกเพียง 20 ตัน ส่วนที่นายทองหล่อจะขอซื้ออีก 20 ตันนั้น คงเป็นแต่เพียง “คำปรารภ” ของนายทองหล่อ (ว่าประสงค์จะซื้อ) ดังนั้นแม้บริษัทตอบรับว่าจะขายก็เป็นเพียงคำเสนอ มิใช่คำสนองรับ และเมื่อนายทองหล่อไม่สนองรับ ก็ไม่เป็นสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกอีก 20 ตัน (ฎ. 411/2490)
สรุป สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายทองหล่อกับบริษัท ทองแท้แร่เทียม จำกัด เกิดขึ้นเพียง 20 ตัน ส่วนอีก 20 ตัน ถือว่าสัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้น