การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ช่องว่างของกฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการบัญญัติวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่าอย่างไร อธิบาย

ธงคำตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย คือ กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณอักษรที่จะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อนำมาปรับใช้แก่กรณีไม่พบนั่นเอง

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมายเกิดจากการที่ผู้ร่างกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย อาจจะเป็นเพราะผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่จะนึกถึงช่องว่างของกฎหมายนั้นได้ เพราะยังไม่มีเหตุการณ์อันทำให้ช่องว่างนั้นเกิดขึ้น

ซึ่งหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป ”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ให้ศาลวินิจฉัยตามลำดับ ดังนี้

  1. ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนำมาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าฃองธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
  2. ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนำเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น
  3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรณีนี้เป็นวิธี การอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้ายหมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุคคลย่อมถึงแก่ความตายหรือถือว่าถึงแก่ความตายในกรณีใดบ้าง อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายทุกกรณี

ธงคำตอบ

ตามกฎหมาย บุคคลย่อมถึงแก่ความตายหรือให้ถือว่าถึงแก่ความตายมีได้ 2 กรณี ได้แก่ การตายตามธรรมดา และการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งถือว่าเป็นการตายโดยผลแห่งกฎหมาย

  1. การตายตามธรรมดา หมายถึง การที่บุคคลหมดลมหายใจ และหัวใจหยุดเต้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การที่บุคคลเจ็บป่วยถึงแก่ความตาย หรือประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น เพียงแต่ปัจจุบันในทางการแพทย์นั้น ถือว่าเมื่อแกนสมองตาย ก็ถือได้ว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายและให้สภาพบุคคลสิ้นสุดลง
  2. การตายโดยการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญตามมาตรา 61 ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1) การเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคแรก ซึ่งจะต้องประกอบด้วย

(1)       บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่นอนว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็น หรือนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนาไปหรือนับแต่วันที่ได้ทราบข่าวคราวของบุคคลนั้นในครั้งหลังสุดเป็นต้นไป

(2)       ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง บุคคลที่จะมีหรือเกิดสิทธิขึ้น เนื่องจากคำสั่งศาล เช่น สามีภริยา บิดามารดา ลูก หลาน ฯลฯ ของบุคคลที่ไปจากภูมิลำเนานั่นเอง

(3)       ศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวคราวของนาย ก. อีกเลย ดังนี้ถ้าครบ 5 ปีนับแต่วันที่นาย ก. ได้หายไป พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้เสีย อาจร้องขอต่อศาลให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญได้ และหากศาลมีคำสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญแล้ว ย่อมถือว่า นาย ก. ได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของนาย ก. สิ้นสุดลง

2) การเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ ซึ่งหลักเกณฑ์การเป็นคบสาบสูญในกรณีพิเศษนั้น ก็ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ เช่นเดียวกับการเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา เพียงแต่ตามมาตรา 61 วรรคสอง ให้นับระยะเวลาลดลงมาเหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยให้นับตั้งแต่

(1)       วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบ หรือสงครามดังกล่าว เช่น นายแดงรับราชการทหารถูกส่งไปรบที่ชายแดน และสูญหายไปในการรบติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี หรือ

(2)       วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางไป อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

เช่น นายแดงเดินทางท่องเที่ยวทางเรือ และเรือถูกพายุพัดจนอับปาง ทำให้นายแดงสูญหายไป เป็นต้น หรือ

(3)       วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ(1)และข้อ (2)ได้ ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เดินทางไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างการเดินทางเรือได้เจอพายุและอับปางลง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งนาย ก. ด้วยที่ได้สูญหายไปโดยไม่มีใครได้รับข่าวคราวหรือพบเห็นตัวนาย ก. เลย ดังนี้ถ้า นาง ข. ภริยาของนาย ก. จะร้องขอให้ศาลสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญ นาง ข. สามารถร้องขอได้เมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เรืออับปาง โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนด 5 ปีแต่อย่างใด

 

ข้อ 3. ตามปกติผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นย่อมเป็นโมฆียะ มีกรณีใดบ้างที่ผู้เยาว์อาจทำได้โดยลำพังตนโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายทุกกรณี

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยขอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 22 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ”

มาตรา 23 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว”

มาตรา 24 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร ”

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นิติกรรมที่ผู้เยาว์อาจทำได้โดยลำพังตนเองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่

  1. นิติกรรมที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว หมายถึง นิติกรรมที่เมื่อผู้เยาว์ได้ทำแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว หรือเป็นนิติกรรมที่เมื่อผู้เยาว์ได้ทำแล้วจะไม่ก่อให้เกิดหน้าที่และเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้เยาว์นั่นเอง (ตามมาตรา 22) ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือ

(1)       นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปแต่เพียงสิทธิอันใดอันหนึ่ง เช่น ปู่ยกที่ดินให้แก่ผู้เยาว์โดยเสน่หาโดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ผู้เยาว์ย่อมสามารถจดทะเบียนรับโอนที่ดินนั้นได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแต่อย่างใด

(2)       นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง หรือทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากภาระหน้าที่ที่มีอยู่นั่นเอง เช่น การที่ผู้เยาว์รับเอาการปลดหนี้ที่เจ้าหนี้ของผู้เยาว์ได้ปลดหนี้ให้แก่ผู้เยาว์ เป็นต้น

  1. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว (ตามมาตรา 23) ซึ่งหมายถึง นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำด้วยตนเองจะให้ผู้อื่นทำแทนให้ไม่ได้นั่นเอง เช่น การที่ผู้เยาว์จดทะเบียนรับรองบุตร หรือการเพิกถอนการสมรส เป็นต้น
  2. นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์ และเป็นการสมแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์(ตามมาตรา 24) เช่น การที่ผู้เยาว์ซื้ออาหารรับประทาน หรือซื้อตำราเรียน เป็นต้น
  3. พินัยกรรมซี่งผู้เยาว์ได้ทำในขณะที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว (ตามมาตรา 25)

Advertisement