การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ให้อธิบายความหมายของหลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) และหลักการที่เป็นสาระสำคัญในการบริการสาธารณะ (Public Service) มีหลักการสำคัญอะไรบ้าง และภายใต้หลักการดังกล่าวในการบังคับอำนาจรัฐ เป็นการกระทำผ่านการใช้อำนาจรัฐขององค์กรใดบ้าง (อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจนถึงการใช้อำนาจในการบริการสาธารณะของแต่ละองค์กร)

ธงคำตอบ

หลักประโยชน์สาธารณะ หมายถึง หลักการใช้อำนาจรัฐเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนสวนใหญ่ มิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกบุคคลเพียงคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และมิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของรัฐหรือผู้ดำเนินการนั้นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าประโยชน์สาธารณะ คือความต้องการของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่ตรงกัน และเป็นความต้องการที่ตรงกันจำนวนมากจนเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม มีผลทำให้ความต้องการในลักษณะดังกล่าวเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากประโยชน์ส่วนบุคคลของปัจเจกบุคคลหรือเอกชนแต่ละคน

หลักการที่เป็นสาระสำคัญในการบริการสาธารณะนั้น อย่างน้อยต้องมีหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ

  1. หลักความต่อเนื่องในการบริการสาธารณะ หมายถึง การจัดทำบริการสาธารณะจะต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลา
  2. หลักความเสมอภาคในการบริการสาธารณะ หมายถึง การไม่เลือกปฏิบัติ ต้องให้ความเสมอภาคทั้งในด้านการให้บริการและการรับบุคคลเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ
  3. หลักการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริการสาธารณะ คือ จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดความทันสมัยนั้นเอง
  4. หลักการกำกับดูแลการบริการสาธารณะโดยรัฐ หมายถึง ในการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ โดยหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

การใช้อำนาจรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นการกระทำผ่านการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ

  1. การบริการสาธารณะโดยองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการบัญญัติหรือออกกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปและใช้บังคับกับประชาชน ตลอดจนมีอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การใช้อำนาจทางปกครองและการบริการสาธารณะขององค์กรฝ่ายบริหาร
  2. การบริการสาธารณะโดยองค์กรฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน การใช้อำนาจทางปกครอง และการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนเพื่อใช้อำนาจรัฐในการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  3. การบริการสาธารณะโดยองค์กรฝ่ายตุลาการ (ศาล) ปัจจุบันได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีและอำนวยความยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติและกำหนดขอบเขตอำนาจของแต่ละศาลไว้ซึ่งจะแตกต่างกัน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ข้อ 2. จงอธิบายว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ฃองประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมายหรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาคคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้ คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการรางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งทางปกครอง ให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

ซึ่งในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรวมทั้งการใช้อำนาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่นและการทำสัญญาทางปกครองขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ซึ่งรวมทั้งเพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ดังนั้นในการใช้อำนาจต่าง ๆ หรือการกระทำต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้

และนอกจากนั้น ในการใช้อำนาจต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องได้ใช้อำนาจโดยถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยซน์สาธารณะ หลักความยุติธรรม และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น

หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อำนาจทางปกครองเพื่อออกกฎ เช่น ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือออกคำสั่งทางปกครอง หรือกระทำการทางปกครองในรูปแบบอื่น หรือการทำสัญญาทางปกครองในการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ฃองมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทุกคน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้นก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้องใช้อำนาจและหน้าที่นั้นโดยถูกต้องตามหลักการต่าง ๆ ของกฎหมายมหาชนดังกล่าวข้างต้นด้วย เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ หรือได้ใช้อำนาจและหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนแล้ว ย่อมอาจก่อให้เกิดข้อพิพาท เรียกว่า ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองขึ้นมาแล้ว ก็สามารถนำข้อพิพาทนั้นไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน จะมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อข้าพเจ้า ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. จงอธิบายถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และสำคัญของพระราชบัญญัติทั้ง 3 พระราชบัญญัติ ได้แก่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อเรื่องการควบคุมการใช้อำนาจรัฐมาพอสังเขป พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานของรัฐนั่นเอง และเหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค รัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจเหนือประชาชน หากไม่มีการควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ซึ่งการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

สำหรับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น มีหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นต้น

  1. พระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539

พระราชบัญญัติฉบับนี้จะใช้บังคับแก่การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงานของรัฐ โดยจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าการกระทำละเมิดนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องรับผิดในทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น

  1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

เป็นพระราชบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ในการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานราชการแผ่นดินของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ให้มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมแก่ประชาชน เช่น การวางกรอบวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง รูปแบบและผลของคำสั่ง การอุทธรณ์คำสั่ง การเพิกถอนคำสั่ง วิธีการแจ้งคำสั่ง ระยะเวลาและอายุความ เป็นต้น

  1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

เป็นพระราชบัญญัติที่ใช้ควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจทางปกครองหรือใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใด ๆ เอกชนผู้ได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้โดยอาศัยกลไกของกฎหมายฉบับนี้

และที่ถือว่าพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ รวมทั้งการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใด ๆ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายได้บัญญัติไว้เท่านั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบหรือใช้อำนาจทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือแก่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐก็จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการกระทำดังกล่าวสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองมีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนการกระทำดังกล่าวนั้นได้ ทั้งนี้ก็โดยอาศัยกลไกของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนั่นเอง

Advertisement