การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จงอธิบายว่า กฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับนักศึกษาอย่างไร

ธงคำตอบ

“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ฃองประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมายหรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาคคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้ คือ ศาล

กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการรางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งทางปกครอง ให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

ซึ่งในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรวมทั้งการใช้อำนาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่นและการทำสัญญาทางปกครองขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ซึ่งรวมทั้งเพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ดังนั้นในการใช้อำนาจต่าง ๆ หรือการกระทำต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้

และนอกจากนั้น ในการใช้อำนาจต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องได้ใช้อำนาจโดยถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยซน์สาธารณะ หลักความยุติธรรม และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น

หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อำนาจทางปกครองเพื่อออกกฎ เช่น ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือออกคำสั่งทางปกครอง หรือกระทำการทางปกครองในรูปแบบอื่น หรือการทำสัญญาทางปกครองในการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ฃองมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทุกคน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้นก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้องใช้อำนาจและหน้าที่นั้นโดยถูกต้องตามหลักการต่าง ๆ ของกฎหมายมหาชนดังกล่าวข้างต้นด้วย เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ หรือได้ใช้อำนาจและหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนแล้ว ย่อมอาจก่อให้เกิดข้อพิพาท เรียกว่า ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองขึ้นมาแล้ว ก็สามารถนำข้อพิพาทนั้นไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน จะมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อข้าพเจ้า ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 2. จงอธิบายความหมายของกฎหมายมหาชน และอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน มาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ธงคำตอบ

เมื่อพิจารณาจากความหมาย ลักษณะ และขอบเขตของกฎหมายมหาชนแล้ว สามารถที่จะสรุปได้ว่า “กฎหมายมหาชน” เป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

  1. เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการกำหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ของคู่กรณี โดยที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นองค์กรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการสร้างนิติสัมพันธ์กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอาจเป็นองค์กรของรัฐด้วยกัน หรืออาจเป็นคู่กรณีที่มีสภาพบุคคลตามกฎหมายเอกชนก็ได้
  2. เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการมุ่งถึงประโยชน์ในการสร้างนิติสัมพันธ์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ
  3. เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยไม่จำต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักความเสมอภาค กล่าวคือ คู่กรณีฝ่ายรัฐสามารถมีอำนาจบังคับเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นเอกชนได้ หากเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ
  4. เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางกฎหมายเป็นการทั่วไป โดยคู่กรณีจะเจรจาหรือตกลงกันเองว่าจะนำกฎหมายใดมาใช้หรือไม่ใช้กฎหมายใดมีได้ (หากมีการทำข้อตกลงยกเว้นย่อมถือได้ว่ามีลักษณะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้)
  5. เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ศาลพิเศษมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี หากเกิดกรณีข้อพิพาทขึ้นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี คือ ศาลพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองเป็นต้น (ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามลักษณะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี)สำหรับความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนนั้น สามารถแยกออกเป็นหัวข้อที่สำคัญ ๆ ได้ดังนี้
  6. ความแตกต่างทางด้านองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทำนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีตัวการ) กฎหมายมหาชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทำนิติสัมพันธ์ ได้แก่ รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

กฎหมายเอกชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทำนิติสัมพันธ์ ได้แก่เอกชนที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

  1. ความแตกต่างหางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (ทฤษฎีผลประโยชน์)กฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและการให้บริการสาธารณะ โดยมิได้มีความมุ่งหมายถึงผลกำไรเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งหวังถึงความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ กฎหมายเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละบุคคล โดยมีความมุ่งหมายถึงผลกำไรเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเอกชนบางประเภทที่อาจดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่นมูลนิธิหรือสมาคมการกุศล เป็นต้น
  2. ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน) กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการใช้บังคับอำนาจที่มีอยู่เหนือนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกับปัจเจกบุคคล โดยวิธีการที่เป็น “การกระทำฝ่ายเดียว” และปรากฏออกมาในรูปแบบ “คำสั่ง” กล่าวคือ เป็นการกระทำที่ฝ่ายหนึ่ง (รัฐและผู้ปกครอง) สามารถกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัจเจกบุคคล) กระทำตาม โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องกระทำตามอาจไม่ไต้ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม

กฎหมายเอกชน มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนาหลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพในการทำสัญญา โดยคู่กรณีต้องมีความสมัครใจ (เจตนาเสนอสนองตรงกันสัญญาจึงจะเกิด) และคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะทำการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งโดยปราศจากความยินยอมมิได้

  1. ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการนำนิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนำแนวความคิดวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายมหาชน โดยการสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้บังคับ (โดยปฏิเสธการนำแนวความคิดวิเคราะห์ตามหลักกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับโดยตรง)

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการนำนิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนำความคิดวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเอกชนที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง และมุ่งเน้นถึงการรักษาผลประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

  1. ความแตกต่างหางด้านนิติปรัชญา

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงการประสานและสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ที่มุ่งถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กฎหมายให้อำนาจหรือกำหนดไว้กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสมัครใจของคู่กรณี

  1. ความแตกต่างหางด้านเขตอำนาจศาล

กฎหมายมหาชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลหรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือศาลพิเศษในทางมหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น

กฎหมายเอกชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคล หรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคลหรือเอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น

ข้อ 3. จงอธิบายหลักการกำกับดูแล และหลักการควบคุมบังคับบัญชา ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของไทยอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักการควบคุมบังคับบัญชา และหลักการกำกับดูแลมีความเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย ดังนี้ คือ

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

ราชการบริหารส่วนกลาง ประกอบด้วย กระทรวง ทบวง กรม เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการรวมอำนาจ โดยการปกครองแบบนี้อำนาจในการติดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น มีการรวมกำลังในการบังคับต่าง ๆ ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน

ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการแบ่งอำนาจ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ส่วนกลางมอบอำนาจตัดสินใจบางประการให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาค โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของส่วนกลางตลอดเวลา

ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการกระจายอำนาจ โดยรัฐจะมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง โดยจะมีอิสระตามสมควร ไม่ต้องขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาชองส่วนกลาง เพียงแต่ขึ้นอยู่ในการกำกับดูแลเท่านั้น

การควบคุมบังคับบัญชา คือ อำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เช่นการที่รัฐมนตรีใช้อำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระทรวง อำนาจบังคับบัญชาเป็นอำนาจที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการใด ๆ ก็ได้ตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม สามารถกลับ แก้ ยกเลิก เพิกถอนคำสั่งหรือการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจบังคับบัญชานี้ต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะใช้โดยขัดต่อกฎหมายได้ซึ่งการควบคุมบังคับบัญชานี้เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคของไทยนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป การควบคุมบังคับบัญชา ได้แก่ อำนาจในการออกคำสั่งเพื่อการควบคุมการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือออกคำสั่งเพื่อควบคุมกิจการ กำหนดแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขการกระทำชองผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น

และอำนาจในการควบคุมบังคับบัญชานั้น เป็นอำนาจที่มีอยู่เหนือการกระทำและเหนือตัวบุคคล กล่าวคือผู้บังคับบัญชาสามารถควบคุมการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาได้โดยการออกเป็นหนังสือหรือคำสั่งให้เจ้าหน้าที่กระทำการตามที่ตนสั่งได้ ส่วนอำนาจเหนือตัวบุคคล ได้แก่ อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ให้ความดีความชอบ รวมทั้งการลงโทษทางวินัย เป็นต้น เช่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนกลาง มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค เป็นต้น

ส่วนการควบคุมกำกับดูแล คือ การควบคุมที่ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับ จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข คือ จะใช้ได้ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด ในการควบคุมกำกับนั้น องค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติตามที่ตนเห็นสมควร องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้นองค์กรควบคุมจึงเป็นแต่ควบคุมกำกับให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งการควบคุมกำกับดูแลนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่นของไทยนั่นเอง

และอำนาจในการควบคุมกำกับดูแลนั้น จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับอำนาจในการควบคุมบังคับบัญชาที่สามารถควบคุมกำกับดูแลเหนือการกระทำและเหนือตัวบุคคลได้เช่นเดียวกัน แต่จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้

–           อำนาจกำกับดูแลเหนือการกระทำ เช่น อำนาจในการให้ความเห็นชอบกับงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออำนาจในการสั่งยกเลิกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

–           อำนาจกำกับดูแลเหนือตัวบุคคล เช่น อำนาจในการถอดถอนผู้บริหารส่วนท้องถิ่น หรืออำนาจในการสั่งยุบสภาท้องถิ่น เป็นต้น

Advertisement