การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวบวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ให้อธิบายความหมายของ “กฎหมายมหาชน” และความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชน หลักกฎหมายเอกชน อธิบายมาให้เข้าใจอย่างละเอียด

ธงคำตอบ

เมื่อพิจารณาจากความหมาย ลักษณะ และขอบเขตของกฎหมายมหาชนแล้ว สามารถที่จะสรุปได้ว่า “กฎหมายมหาชน” เป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

  1. เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการกำหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ของคู่กรณี โดยที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นองค์กรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการสร้างนิติสัมพันธ์กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอาจเป็นองค์กรของรัฐด้วยกัน หรืออาจเป็นคู่กรณีที่มีสภาพบุคคลตามกฎหมายเอกชนก็ได้
  2. เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการมุ่งถึงประโยชน์ในการสร้างนิติสัมพันธ์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ
  3. เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยไม่จำต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักความเสมอภาค กล่าวคือ คู่กรณีฝ่ายรัฐสามารถมีอำนาจบังคับเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นเอกชนได้ หากเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ
  4. เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางกฎหมายเป็นการทั่วไป โดยคู่กรณีจะเจรจาหรือตกลงกันเองว่าจะนำกฎหมายใดมาใช้หรือไม่ใช้กฎหมายใดมีได้ (หากมีการทำข้อตกลงยกเว้นย่อมถือได้ว่ามีลักษณะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้)
  5. เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ศาลพิเศษมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี หากเกิดกรณีข้อพิพาทขึ้นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี คือ ศาลพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองเป็นต้น (ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามลักษณะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี)สำหรับความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนนั้น สามารถแยกออกเป็นหัวข้อที่สำคัญ ๆ ได้ดังนี้
  6. ความแตกต่างทางด้านองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทำนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีตัวการ) กฎหมายมหาชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทำนิติสัมพันธ์ ได้แก่ รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง กฎหมายเอกชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทำนิติสัมพันธ์ ได้แก่ เอกชนที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
  1. ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (ทฤษฎีผลประโยชน์)กฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและการให้บริการสาธารณะ โดยมิได้มีความมุ่งหมายถึงผลกำไรเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งหวังถึงความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ กฎหมายเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละบุคคล โดยมีความมุ่งหมายถึงผลกำไรเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเอกชนบางประเภทที่อาจดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่นมูลนิธิหรือสมาคมการกุศล เป็นต้น
  2. ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน) กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการใช้บังคับอำนาจที่มีอยู่เหนือนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกับปัจเจกบุคคล โดยวิธีการที่เป็น “การกระทำฝ่ายเดียว” และปรากฏออกมาในรูปแบบ “คำสั่ง” กล่าวคือ เป็นการกระทำที่ฝ่ายหนึ่ง (รัฐและผู้ปกครอง) สามารถกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัจเจกบุคคล) กระทำตาม โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องกระทำตามอาจไม่ไต้ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม

กฎหมายเอกชน มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนาหลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพในการทำสัญญา โดยคู่กรณีต้องมีความสมัครใจ (เจตนาเสนอสนองตรงกันสัญญาจึงจะเกิด) และคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะทำการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งโดยปราศจากความยินยอมมิได้

  1. ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการนำนิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนำแนวความคิดวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายมหาชน โดยการสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้บังคับ (โดยปฏิเสธการนำแนวความคิดวิเคราะห์ตามหลักกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับโดยตรง)

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการนำนิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนำความคิดวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเอกชนที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง และมุ่งเน้นถึงการรักษาผลประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

  1. ความแตกต่างหางด้านนิติปรัชญา

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงการประสานและสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ที่มุ่งถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กฎหมายให้อำนาจหรือกำหนดไว้กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสมัครใจของคู่กรณี

  1. ความแตกต่างหางด้านเขตอำนาจศาล

กฎหมายมหาชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลหรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือศาลพิเศษในทางมหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น

กฎหมายเอกชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคล หรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคลหรือเอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น

ข้อ 2. ให้อธิบายการกระทำของรัฐในทางกฎหมายมหาชนว่าสามารถปรากฏหรือแสดงออกมาผ่านการใช้อำนาจในลักษณะใด และการกระทำของรัฐในทางกฎหมายมหาชนดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจผ่านองค์กรหรือสถาบันทางการเมืองใด อธิบายมาให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

การกระทำของรัฐในทางกฎหมายมหาชน หมายความถึง การใช้บังคับอำนาจอธิปไตยภายใต้หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีการใช้บังคับอำนาจอธิปไตยผ่านการกระทำของรัฐในทางกฎหมายมหาชนสามรูปแบบ ได้แก่ การใช้บังคับอำนาจอธิปไตยด้านการนิติบัญญัติ การใช้บังคับอำนาจอธิปไตยด้านการบริหาร และการใช้บังคับอำนาจอธิปไตยด้านการตุลาการ

  1. การใช้บังคับอำนาจอธิปไตยก้านการนิติบัญญัติ ได้แก่ การใช้อำนาจรัฐในการออกหรือตรากฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายในลำดับศักดิ์ต่าง ๆ ได้แก่ การใช้อำนาจในการออกกฎหมายของรัฐสภา (เช่น พระราชบัญญัติ) หรือการใช้อำนาจในการออกกฎหมายของรัฐบาล/คณะรัฐมนตรี (เช่น พระราชกำหนด ในกรณีทีมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินเพื่อประโยชน์สาธารณะ) หรือการใช้อำนาจในการออกกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ (เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าให้อำนาจไว้) หรือการใช้อำนาจรัฐในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น
  2. การใช้บังคับอำนาจอธิปไตยด้านการบริหาร ได้แก่ การใช้อำนาจรัฐในการปกครองรัฐหรือการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่

ก. การใช้อำนาจรัฐในการกระทำทางการเมือง หมายความถึง การที่รัฐบาล/คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจทางการเมือง เช่น การแถลงนโยบาย ฯลฯ การทำหนังสือสัญญา (สนธิสัญญา) ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น

ข. การใช้อำนาจรัฐในการกระทำทางปกครอง หมายความถึงการที่รัฐ/คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือใช้อำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะ โดยอาจใช้อำนาจผ่านหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ต้องกระทำการภายใต้กรอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

  1. การใช้บังคับอำนาจอธิปไตยด้านการตุลาการ ได้แก่ การใช้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี หรือพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาท ได้แก่

ก. การใช้บังคับอำนาจรัฐทางด้านตุลาการตามหลักกฎหมายมหาชน หมายความว่าหากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลหรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือศาลพิเศษในทางมหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองเป็นต้น (ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามลักษณะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี)

ข. การใช้บังคับอำนาจรัฐทางด้านตุลาการตามหลักกฎหมายเอกชน หมายความว่าหากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคลหรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคลหรือเอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้วคดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น

ข้อ 3. ให้อธิบายลักษณะการควบคุมการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือฝ่ายปกครองแบบป้องกันและแบบแก้ไขมาให้เข้าใจอย่างละเอียด

ธงคำตอบ

การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยสั่งการ หรือการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือฝ่ายปกครองนั่นเอง ซึ่งการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. ลักษณะการควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบป้องกัน หมายความว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือฝ่ายปกครองจะได้วินิจฉัยสั่งการ หรือมีการกระทำในทางปกครองที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใด ควรมีระบบป้องกันหรือควบคุมการวินิจฉัยสั่งการหรือการกระทำนั้นเสียก่อน กล่าวคือมีกฎหมายกำหนดกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคำสั่งนั้นออกไป
  2. ลักษณะการควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบแก้ไข หมายความว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สั่งการใดหรือวินิจฉัยเรื่องใดไปแล้ว หากกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงกำหนดให้มีระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบแก้ไขโดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ ระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร และระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร

(1)       ระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร เป็นระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยขึ้นอยู่กับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยอาจกระทำได้โดยการบังคับบัญชา และการกำกับดูแล ได้แก่

ก) ระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ด้วยการควบคุมบังคับบัญชาและการกำกับดูแล

–           การควบคุมบังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาทำการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาจตรวจสอบเองหรือมีบุคคลมาร้องเรียน

–           การกำกับดูแล โดยหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของหน่วยงานตามสายการบังคับบัญชา

ข) ระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ด้วยการร้องทุกข์และการอุทธรณ์ภายในหน่วยงาน โดยสามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งไปยังผู้ออกคำสั่งนั้น

(2)       ระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร ได้แก่

ก) การควบคุมโดยองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐสภา เป็นต้น

ข) การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

(3)       ระบบการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรศาล ได้แก่

ก) การควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยศาลยุติธรรม

ข) การควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยศาลปกครอง

ค) การควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยศาลรัฐธรรมนูญ

 

Advertisement