การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระชวนวิชา  LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ขอให้นักศึกษาอธิบายสาระสำคัญของหลักกฎหมายมหาชนต่อไปนี้

ก.      หลักนิติรัฐ
ข.      หลักประโยชน์สาธารณะ

ธงคำตอบ

ก.      หลักนิติรัฐ  ลักษณะสำคัญของ  “นิติรัฐ”  อธิบายโดยสรุปได้ว่า  “นิติรัฐเป็นรัฐที่ต้องยอมตนอยู่ใต้ระบบกฎหมายในความสัมพันธ์กับปัจเจกชน  และเพื่อคุ้มครองสถานะของปัจเจกชน  โดยรัฐยอมตนอยู่ใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด”  ดังนั้นใน  “นิติรัฐ”  การกระทำของรัฐต่อปัจเจกชนจึงมีอยู่สองนัย  คือ

1       รัฐต้องกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
2       รัฐต้องกำหนดวิธีการและมาตรการซึ่งรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งสองประการดังกล่าวนี้ทำให้เกิดผล  คือ  “การจำกัดอำนาจรัฐ”  หมายความว่า  การใช้อำนาจรัฐต้องอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่รัฐกำหนด

ด้วยเหตุนี้  เมื่อฝ่ายปกครองเข้าไปมีนิติสัมพันธ์กับประชาชน  ฝ่ายปกครองก็ไม่สามารถจะฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้  ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นนิติรัฐที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แล้ว  กรณีก็จะเข้มงวดถึงกับว่าถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้  ฝ่ายปกครองก็ไม่อาจจะกระทำการใดๆ  อันเป็นการบังคับประชาชนได้เลยถ้าประชาชนไม่สมัครใจ  ซึ่งหมายความว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้โดยตรงหรือโดยปริยายแล้ว  ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถใช้มาตรการอย่างใดๆต่อประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองได้เลย

ใน  “นิติรัฐ”  แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้  ฝ่ายปกครองก็ยังต้องดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้  ด้วยวิธีการและตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด  หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า  ฝ่ายปกครองซึ่งเป็นองค์กรใช้อำนาจรัฐจะกระทำการใดๆต่อประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้  และด้วยวิธีการที่ระบบกฎหมายในขณะนั้นได้กำหนดไว้เท่านั้น

ถ้าหากว่าฝ่ายปกครองได้ละเมิดหลักการแห่ง  “นิติรัฐ”  ดังกล่าว  ประชาชนก็สามารถดำเนินคดีกับการกระทำที่มิชอบทุกประเภทของฝ่ายปกครอง  โดยการร้องขอต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยขอให้  “ยกเลิก”  หรือ  “เพิกถอน”  หรืออาจจะขอให้  “เปลี่ยนแปลงแก้ไข”  การกระทำหรือคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองได้

สรุป  “นิติรัฐ”  ก็คือ  ระบบที่สร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นหลักในการป้องกันและ แก้ไขเยียวยาการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจของฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครอง  “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน”  นั่นเอง  และกฎหมายที่ใช้ในการปกครองต้องเป็นกฎหมายที่ดี  (Good  Law)  เป็นกฎหมายที่ชอบธรรมด้วย

ข. หลักประโยชน์สาธารณะ  คือ  การตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม  ไม่ใช่การตอบสนองความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ  และไม่ใช่การตอบสนองความต้องการของผู้ที่ดำเนินการนั้นเอง  ดังนั้น  ประโยชน์สาธารณะก็คือ  ความต้องการของคนแต่ละคนที่ตรงกัน  และมีจำนวนมากจนเป็นคนหมู่มาก  หรือเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั่นเอง  ซึ่งความต้องการของคนส่วนใหญ่นั้นถือเป็นประโยชน์สาธารณะ  และมีความแตกต่างกับประโยชน์ส่วนบุคคลของเอกชนแต่ละคน

องค์กรที่แสดงถึงประโยชน์สาธารณะ  ได้แก่  องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร  องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ  และองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ

1)    องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร  ในส่วนของรัฐบาลนั้นต้องมีการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในการบริหารประเทศ  ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจัดทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ  นอกจากนั้นประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องดำเนินการ  ถ้าเป็นกิจกรรมที่รัฐสภาได้ตราเป็นกฎหมายออกมาแล้ว  หากฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการย่อมเป็นการไม่ชอบ  เพราะว่าเหตุที่ให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจ  ก็เพราะฝ่ายปกครองมีภาระหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม  ฝ่ายปกครองจึงต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อให้ภาระหน้าที่นั้นบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

2)    องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ  ได้แก่  รัฐสภา  ทำหน้าที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน  และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  ซึ่งก็เพื่อประโยชน์สาธารณะ

3)    องค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาล  ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  ศาลทหาร  ศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งจะทำหน้าที่ในอำนาจหน้าที่ของแต่ละศาลที่แตกต่างกัน  แต่ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย

 

ข้อ  2  จงอธิบายว่า  กฎหมายมหาชนมีความสำคัญต่อการเมืองการปกครอง  และการบริหารราชการแผ่นดินของไทยอย่างไร

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง  ซึ่งกฎหมายปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของ  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติ  พระราชกำหนด  ประมวลกฎหมาย  หรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาศคณะปฏิวัติก็ได้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ  ระบอบการปกครอง  การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย  กล่าวคือ  เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งแบ่งออกเป็น  3  อำนาจ  คือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้  คือ  ศาลกฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  “การจัดระเบียบราชการบริหาร”  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  “บริการสาธารณะ”  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ราชการบริหารส่วนกลาง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

หน่วยงานปกครอง  ได้แก่  หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  ส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ  และหน่วยงานอื่นๆที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง  รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับสอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  เช่น สำนักงานรังวัดเอกชน  สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์  สภาทนายความ ฯลฯ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้แก่  บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจในทางปกครองของรัฐ  ได้แก่  ข้าราชการ  พนักงานเจ้าหน้าที่  ลูกจ้าง  คณะบุคคล  หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง  ฯลฯ

จากหลักการต่างๆที่ได้อธิบายมาแล้วทั้งหมด  จึงเห็นได้ว่า  กฎหมายมหาชนไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ  หรือกฎหมายปกครองซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของกฎหมายใดๆก็ตาม  มีความสำคัญต่อการเมืองการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินของไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ  รวมทั้งการบัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐทั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ  องค์กรฝ่ายบริหาร  และองค์กรฝ่ายตุลาการ  และยังได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ในทางปกครองของฝ่ายปกครอง  ได้แก่  อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ  อำนาจในการออกกฎหรือคำสั่ง  อำนาจในการกระทำทางปกครองและอำนาจในการทำสัญญาทางปกครอง  ซึ่งกรณีดังกล่าวหากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้  องค์กรของรัฐและฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆได้  ทั้งนี้เพราะตามหลักของกฎหมายมหาชน  องค์กรของรัฐฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้เท่านั้น

 

ข้อ  3  การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในส่วนของราชการส่วนภูมิภาค  ถือหลักกฎหมายปกครองใด  และในปัจจุบันที่มาของกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  มีที่มาอย่างไร  จัดอยู่ในราชการใด  และขอให้นักศึกษากล่าวถึงทิศทางของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยในอนาคต  พร้อมเหตุผลประกอบ  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

“หลักกฎหมายปกครอง”  ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  แบ่งออกเป็น  3  หลัก  คือ  หลักการรวมอำนาจ  หลักการแบ่งอำนาจ  และหลักการกระจายอำนาจ

1.  หลักการรวมอำนาจ  คือ  หลักการปกครองที่อำนาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น  จะไม่มีการมอบอำนาจการตัดสินใจบางระดับบางเรื่องไปให้แก่เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งออกไปประจำอยู่ในภูมิภาค  และไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับท้องถิ่นเลย  มีการรวมกำลังในการบังคับต่างๆ  เช่น  กำลังทหารและกำลังตำรวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลางทั้งสิ้น  รวมทั้งมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ 

2.  หลักการแบ่งอำนาจ  คือ  หลักการที่รัฐมอบอำนาจในการตัดสินใจบางประการของรัฐในส่วนกลางให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ  แต่ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง  โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของการปกครองส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา  เช่น  ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ  เป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย  ศึกษาธิการจังหวัด  ป่าไม้จังหวัด  สรรพากรจังหวัด  ฯลฯ  เป็นตัวแทนของกระทรวง  ทบวง  กรมต่างๆในส่วนกลาง  เป็นต้น  โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องรับคำสั่งจากส่วนกลางเพื่อไปปฏิบัติตามแผนและนโยบายที่ส่วนกลางได้ให้ไว้  เพียงแต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจมีอำนาจตัดสินใจในบางเรื่องบางระดับโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้ามาขออนุญาต  อนุมัติจากส่วนกลางเพื่อความสะดวกเท่านั้นเอง

3.  หลักการกระจายอำนาจ  เป็นวิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นนอกจากองค์กรของส่วนกลาง  ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง  และสามารถดำเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ  มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง  มีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมาย  โดยไม่ต้องขอรับคำสั่งจากส่วนกลาง  ส่วนกลางเพียงแต่คอยกำกับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยถูกต้องเท่านั้น  มิได้เข้าไปบังคับบัญชาหรืออำนวยการเอง

ที่มาของกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน

สำหรับที่มาของกำนัน  และผู้ใหญ่บ้านนั้น  เป็นไปตาม  พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ฯกล่าวคือ  “กำนัน”  จะมาจากการคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในตำบลนั้นโดยที่ประชุมผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นเห็นชอบ  ซึ่งเมื่อผู้ใหญ่บ้านที่มาประชุมเห็นชอบคัดเลือกผู้ใดแล้ว  ให้นายอำเภอคัดเลือกผู้นั้นเป็นกำนัน  ส่วน  “ผู้ใหญ่บ้าน”  จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงในหมู่บ้าน  และทั้งกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  จัดอยู่ในราชการส่วนภูมิภาค

สำหรับทิศทางของการจัดระเบียบราชการแผ่นดินของไทยในอนาคตนั้น  เมื่อพิจารณาจากกระแสของการปฏิรูปการเมือง  และการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแล้ว  จะเห็นได้ว่าจะให้ความสำคัญไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อให้ประชาชนได้ปกครองตนเองในรูปแบบขององค์การบริหารส่วนตำบล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  เทศบาล  กรุงเทพมหานคร  และเมืองพัทยา  ทำให้บทบาทของราชการส่วนภูมิภาคในปัจจุบันต้องลดบทบาทและความสำคัญลง  โดยเปลี่ยนจากผู้ควบคุมบังคับบัญชา  มาเป็นผู้กำกับดูแล  คอยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  มีอิสระทางการคลัง  และสามารถดำเนินการบริหารจัดการท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่  ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอ  ผู้ว่าราชการจังหวัด  และราชการส่วนกลางโดยไม่ใช้อำนาจที่จะเข้าไปควบคุมบังคับบัญชา  ทำให้ทิศทางในอนาคตในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยอาจจะเหลือเพียง  2  ส่วนราชการก็ได้  นั่นคือ  ราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น  โดยการยุบราชการส่วนภูมิภาคดังเช่นของต่างประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  หรือญี่ปุ่น  เป็นต้น

Advertisement