การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระชวนวิชา  LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศซึ่งกำหนดกติกาการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการ  กติกาที่ใช้ในการปกครองประเทศจะต้องเป็นกติกาที่สร้างดุลยภาพขององค์กรที่ใช้อำนาจ  ไม่ใช่กติกาที่ไว้รังแกอีกฝ่ายหนึ่ง  และกติกาการปกครองต้องเป็นประโยชน์สาธารณะ

ดังนั้น  ปัญหากติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2550  เป็นกติกาที่ขัดหลักกฎหมายหลายประการ  สมควรแก้ไขกติกาการใช้อำนาจการปกครองประเทศ

จึงขอให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์  วิธีการ  และขั้นตอนที่กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา  291  ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  มาตรา  291  ได้กำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ  และขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้ คือ

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชน   ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้ 

(2)  ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4)  การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5)  เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6)  การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7)  เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ข้อ  2 

ก)จงอธิบายการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยหน่วยงานใดบ้าง

ข)จงอธิบายว่ากฎหมายมหาชนเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

ก)     การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  เป็นการจัดระเบียบราชการตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง  โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นมาแยกออกจากราชการบริหารส่วนกลาง  มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง  และมีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมายหรือตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ซึ่งปัจจุบันการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ  5  ประเภทได้แก่1  เทศบาล

2  องค์การบริหารส่วนตำบล

3  องค์การบริหารส่วนจังหวัด

4  กรุงเทพมหานคร

5  เมืองพัทยา

ข)     กฎหมายมหาชนมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  ดังนี้คือกฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ  ระบอบการปกครอง  การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย

กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  การจัดระเบียบราชการบริหาร  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  บริการสาธารณะ  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ราชการบริหารส่วนกลาง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

กล่าวโดยสรุป  กฎหมายมหาชน  ซึ่งปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง  มีความสัมพันธ์กับการปกครองของไทยในทุกระดับในแง่ที่ว่า  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ  รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ  เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ  หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้  ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้  เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้ว  ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้  ก็ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น

ตัวอย่างที่ถือว่ากฎหมายมหาชนมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  เช่น  ในการจัดตั้งเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล  ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  ก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายมหาชนได้กำหนดไว้  หรือเมื่อมีการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว  เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นจะมีอำนาจและหน้าที่ประการใดบ้าง  ก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน  (ซึ่งในที่นี้ก็คือกฎหมายปกครองนั่นเอง)  บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย  ทั้งนี้เพราะตามหลักของกฎหมายมหาชนนั้น  หน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  (รวมทั้งหน่วยราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค)  จะสามารถดำเนินการใดๆได้  ก็จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้เท่านั้น

 

ข้อ  3  จงอธิบายการควบคุมการใช้อำนาจรัฐแบบป้องกัน  และแบบแก้ไขมาโดยละเอียด  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ  หมายถึง  การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  องค์กรของรัฐ  หน่วยงานของรัฐ

เหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค  รัฐ  หน่วยงานของรัฐ  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  มีอำนาจเหนือประชาชนหากไม่มีการควบคุม  เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้  การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ  องค์กรของรัฐ  หน่วยงานของรัฐ  กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย  หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย  อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

ส่วนวิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายปกครอง  แบ่งออกเป็น  2  รูปแบบ  คือ

 1       การควบคุมแบบป้องกัน  หมายถึง  ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีการกระทำในทางปกครอง  ที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมีระบบป้องกันเสียก่อน  กล่าวคือ  มีกฎหมายกำหนดกระบวนการ  หรือขั้นตอนต่างๆก่อนที่จะมีคำสั่งออกไปกระบวนการควบคุมดังกล่าวในกฎหมายของต่างประเทศมีตัวอย่างเช่น

การโต้แย้งคัดค้าน  คือ  ผู้ที่อาจเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองจะต้องสามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ก่อนมีการกระทำนั้น  เพื่อหลีกเลี่ยง  การปกครองที่ดื้อดึง

–  การปรึกษาหารือ  เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

การให้เหตุผล  เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง

หลักการไม่มีส่วนได้เสีย  กล่าวคือ  ผู้มีอำนาจสั่งการทางปกครองต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่สั่งการนั้น

การไต่สวนทั่วไปเป็นวิธีการที่กำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง  โดยทำการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย  แล้วทำเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะตัดสินใจกระทำการที่จะมีผลกระทบผู้มีส่วนได้เสียการควบคุมแบบป้องกัน  จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุมโดยทางศาล  เพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง  ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย

2       การควบคุมแบบแก้ไข  หรือการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง  หลังการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว  และเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางการปกครองนั้นขึ้น  จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้  ได้แก่

2.1 การควบคุมโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหารเอง  เช่น –  การร้องทุกข์

–   การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยทางปกครอง

2.2 การควบคุมโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร  เช่น

–  การควบคุมโดยทางการเมือง  ได้แก่  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ  ได้แก่  ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

–  การควบคุมโดยศาลปกครอง

Advertisement