การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระชวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อข้อ 1 กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรัฐ การใช้อำนาจรัฐในการปกครองประเทศ โดยองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นนิติบุคคลทางกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ หรือพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม
จึงขอให้นักศึกษาอธิบายคำว่า “นิติบุคคลทางกฎหมายมหาชน” ของรัฐไทย มีอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้กับนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และบุคคลธรรมดา ซึ่งคำว่า “นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน” หมายความถึงหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐนั่นเอง ส่วนคำว่า “บุคคลธรรมดา” หมายถึง บุคคลซึ่งเป็นปุถุชนทั่วไป
“นิติบุคคล” คือ บุคคลตามกฎหมายที่ถูกสมมุติขึ้นมาโดยกฎหมาย และกฎหมายได้รับรองให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เช่น นิติบุคคลสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินและถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ สามารถจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินได้ เป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ได้ เป็นโจทก์เป็นจำเลยได้ ฯลฯ เว้นแต่สิทธิและหน้าที่บางอย่างที่มีได้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น สิทธิในครอบครัว หรือสิทธิในทางการเมือง เป็นต้น กล่าวโดยสรุป นิติบุคคลคือ บุคคลตามกฎหมายหรือบุคคลที่กฎหมายสมมุติขึ้นซึ่งไม่ใช่บุคคลธรรมดานั่นเอง
นิติบุคคลสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งได้แก่ นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น ห้างหุ้นส่วนที่ได้จดทะเบียนแล้ว บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้ว เป็นต้น
- นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ได้แก่ นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และวัดวาอาราม เป็นต้น
“นิติบุคคลทางกฎหมายมหาชน” ตามระบบกฎหมายมหาชนของไทย จะมีดังต่อไปนี้ คือ
- กระทรวง ทบวง กรม
- จังหวัด
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งตามหลักการกระจายอำนาจและเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่
(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด
(2) เทศบาล
(3) องค์การบริหารส่วนตำบล
(4) กรุงเทพมหานคร
(5) เมืองพัทยา
- รัฐวิสาหกิจ
- วัดวาอาราม (เฉพาะวัดในพุทธศาสนาเท่านั้น ส่วนวัดในศาสนาอื่นอาจเป็นนิติบุคคลได้ในทางกฎหมายเอกชน)
- องค์การมหาชน
ข้อ 2 จงอธิบายว่ากฎหมายมหาชนมีความสำคัญต่อการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินของไทยอย่างไร
ธงคำตอบ
กฎหมายมหาชน มีความสำคัญต่อการเมืองและการปกครอง (การบริหารราชการแผ่นดิน) ของไทย ดังนี้คือ
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง
กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ
1 อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
2 อำนาจบริหาร เป็นอำนาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
3 อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจนี้ คือ ศาล
กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน
ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง ให้อำนาจในการออกกฎ ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง
หน่วยงานปกครอง ได้แก่ หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย เช่น สำนักงานรังวัดเอกชน สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์ สภาทนายความ ฯลฯ
เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจในทางปกครองของรัฐ ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง ฯลฯ
กล่าวโดยสรุป กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครองมีความสัมพันธ์กับการปกครองของไทยในทุกระดับในแง่ที่ว่า เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้ว ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น
ข้อ 3 การกระทำที่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคืออะไร ให้นักศึกษาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
ตามหลักของกฎหมายมหาชน การกระทำที่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน
การกระทำที่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตัวอย่างเช่น
(1) กระทำการข้ามขั้นตอน เช่น ในกรณีกฎหมายบัญญัติให้ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องสำคัญๆ จะต้องถามความเห็นประชาชนก่อน แต่รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ดำเนินการต่างๆโดยไม่ถามความเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้โต้แย้ง ถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะการนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
(2) กระทำการโดยปราศจากอำนาจ เช่น กฎหมายไม่ได้กำหนดหรือมอบอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติ อนุญาตให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ แต่เจ้าพนักงานธุรการผู้นั้นไปดำเนินการอนุมัติ หรืออนุญาตแทนปลัดอำเภอโดยไม่มีอำนาจ
(3) กระทำการผิดแบบ เช่น การออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางกรณีกฎหมายบัญญัติให้ออกเป็นหนังสือ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับไปออกคำสั่งด้วยวาจา ย่อมเป็นการทำผิดแบบที่กฎหมายกำหนด
(4) กระทำการนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น การที่ผู้บังคับบัญชานำเรื่องการย้ายการโอนมาเป็นการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพราะเรื่องการย้ายการโอนข้าราชการสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อตัวข้าราชการเอง มิใช่สร้างขึ้นมาเพื่อลงโทษแก่ตัวราชการผู้นั้น
(5) กระทำการโดยการสร้างภาระให้ประชาชน เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐไปสร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายหรือไปกำหนดให้ประชาชนกระทำการใดๆ เพื่อเติมโดยไม่มีความจำเป็น
(6) กระทำการโดยมีอคติหรือไม่สุจริต เช่น กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองได้เพียง 1 เดือน แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับสั่งปิดโรงงานดังกล่าวถึง 2 เดือน เพราะเคยมีปัญหาส่วนตัวกันมาก่อน ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยมีอคติ
และนอกจากนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง ได้กระทำการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ การกระทำดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกัน (พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคแรก (1))