ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์หนึ่งคูหา มีกำหนดเวลา 3 ปี สัญญาเช่าข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า “หากสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่ 31 มกราคม 2554 แล้วผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ว่าต้องการเช่าต่อด้วย” ขาวเช่าอาคารมาได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น
แดงซึ่งเป็นเจ้าของอาคารได้ยกอาคารให้กับดำบุตรบุญธรรมของแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย ขาวอยู่ในอาคารมาจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 ขาวจึงแจ้งให้กับดำทราบว่าขาวต้องการเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย และดำตอบกับขาวว่าดำตกลง ขาวจึงอยู่ในอาคารต่อมาจนถึงเดือนมีนาคม 2554 แต่ถูกดำเรียกอาคารคืน และบอกเลิกการเช่ากับขาว ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของดำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 569 ได้กำหนดเอาไว้ว่า ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป และมีผลทำให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา 3 ปี เมื่อทำสัญญาเป็นหนังสือ สัญญาเช่าจึงชอบด้วยมาตรา 538 และสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขาวเช่าอาคารมาได้เพียง 6 เดือน แดงได้ยกอาคารหลังนี้ให้กับดำบุตรบุญธรรมของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคแรก โดยดำผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย กล่าวคือ ดำต้องให้ขาวเช่าอยู่ในอาคารพาณิชย์นั้นต่อไปจนครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง
ส่วนสัญญาเช่าข้อสุดท้ายนั้นถือเป็นคำมั่น โดยหลักแล้วย่อมมีผลผูกพันเฉพาะระหว่างคู่สัญญา คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวจึงต้องระงับไปพร้อมกับการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่า ดำจึงไม่ต้องผูกพันรับคำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวมาด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด ขาวได้แจ้งให้กับดำทราบว่าขาวต้องการเช่าอาคารต่อไปอีก 3 ปี ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย และดำได้ตอบตกลงแล้ว จึงถือเป็นกรณีที่ดำยอมปฏิบัติตามคำมั่นที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่า ดำจึงต้องให้ขาวเช่าอาคารต่อไปอีก 3 ปีตามคำมั่น ดังนั้น การที่ดำเรียกอาคารคืน และบอกเลิกการเช่ากับขาวในเดือนมีนาคม 2554 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การกระทำของดำไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2
(ก) มืดทำสัญญาเป็นหนังสือให้เขียวเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 และตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 35,000 บาท โดยต้องชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน สัญญาเช่าข้อ 5 ตกลงว่า “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เลย โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่านำค่าเช่ามาชำระ” ในวันที่ 1 มกราคม 2554 เขียวได้ชำระค่าเช่าไว้ล่วงหน้าเป็นเงินทั้งสิ้น 105,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นเขียวไม่ชำระค่าเช่าเลย จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ครั้นถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 มืดจึงบอกเลิกสัญญากับเขียวทันที ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 151 การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ
มาตรา 560 ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน
วินิจฉัย
ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เขียวได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับมืด 105,000 บาทนั้น ทำให้เขียวมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้ใน 3 เดือนแรก คือ เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม แต่ในเดือนเมษายน 2554 เขียวต้องชำระค่าเช่าให้มืด ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน การที่เขียวไม่ชำระค่าเช่าในเดือนเมษายนนั้น โดยหลักมืดจะบอกเลิกสัญญากับเขียวทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้เขียวชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน หากเขียวยังไม่ยอมชำระอีกมืดจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา 560 วรรคสอง
แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 560 ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อในสัญญาเช่าข้อ 5 มีการตกลงกันว่า “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เลย โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่านำค่าเช่ามาชำระ” จึงสามารถใช้บังคับกันได้ตามมาตรา 151 ดังนั้น การที่มืดบอกเลิกสัญญากับเขียวทันทีในวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 จึงชอบด้วยกฎหมาย
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 574 วรรคแรก ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
วินิจฉัย
ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่เขียวผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนเมษายน 2554 นั้น ถือว่าเขียวผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้วสามคราว ดังนั้น การที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่มืดเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาได้ จะต้องปรากฏว่าเขียวผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช่เงินสองคราวติดๆกัน ตามมาตรา 574 วรรคแรก
สรุป
(ก) การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การบอกเลิกสัญญาของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านขายของของเหลือง ตกลงชำระสินจ้างทุกๆวันที่ 15 ของแต่ละเดือน แต่ไม่ได้ตกลงว่าจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใดโดยน้ำเงินได้รับค่าจ้างเดือนละ 13,250 บาท น้ำเงินทำงานมาจนถึงปี 2554 น้ำเงินไม่อยากทำงานต่อไป และในวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 น้ำเงินจึงไปพบเหลือง และขอบอกเลิกสัญญา ดังนี้ น้ำเงินจะต้องทำงานให้เหลืองต่อไปอีกถึงวันที่เท่าใด และน้ำเงินจะได้รับสินจ้างตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2554 ถึงวันสิ้นสุดสัญญาจ้างเป็นเงินจำนวนเท่าใด จงวินิจฉัย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 582 วรรคแรก ได้กำหนดไว้ว่า สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า 3 เดือน
กรณีตามอุทาหรณ์ เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านขายของของเหลือง แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 น้ำเงินได้ไปพบเหลืองและขอบอกเลิกสัญญา จึงถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ซึ่งจะมีผลให้สัญญาสิ้นสุดในวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ตามมาตรา 582 วรรคแรก ดังนั้น น้ำเงินจึงต้องทำงานต่อไปถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 และน้ำเงินจะได้รับเงินค่าจ้างในวันที่ 15 มิถุนายน 2554 เป็นเงิน 13,250 บาท กับวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 เป็นเงิน 13,250 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 26,500 บาท หรือเหลืองจะจ่ายเงินค่าจ้างให้น้ำเงินทั้งหมด 26,500 บาท แล้วให้น้ำเงินออกจากงานในทันทีเลยก็ได้ตามมาตรา 582 วรรคสอง
สรุป น้ำเงินจะต้องทำงานให้เหลืองต่อไปอีกถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 และน้ำเงินจะได้รับสินจ้างตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2554 ถึงวันสิ้นสุดสัญญาจ้างเป็นจำนวนเงิน 26,500 บาท