การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวของแดงมีกำหนดเวลา  2  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า  “ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่ 31  สิงหาคม  2554  หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่ออีก  2  ปี  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าต่อไปอีก  แต่ผู้เช่าต้องตอบให้ผู้ให้เช่าทราบภายในวันที่  15  กันยายน  2554  เท่านั้น  แต่ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงิน  50,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น”  

ปรากฏว่าขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้กับดำพี่ชายบุญธรรมของภริยาแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวเช่าตึกแถวมาจนครบ  2  ปี  ในวันที่  31  สิงหาคม  2554  ขาวได้แจ้งให้ดำทราบว่าขาวมีความประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  2  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย แต่ดำปฏิเสธและเรียกให้ขาวคืนตึกแถวให้ภายในวันที่  16  กันยายน  2554  ขาวจึงเรียกเงินค่าขนย้าย  50,000  บาท  ดังกล่าวจากดำอีก  แต่ดำก็ปฏิเสธอีกเช่นกัน  ให้วินิจฉัยว่าการปฏิเสธของดำทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกำหนด  2  ปี  ได้ทำเป็นหนังสือ  สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  538  และสามารถใช้บังคับกันได้  2  ปี  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาได้เพียง  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้กับดำพี่ชายบุญธรรมของภริยาแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยดำผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  ดำต้องให้ขาวเช่าตึกแถวนั้นต่อไปจนครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาเช่า

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่เขียนไว้ว่า   “ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่  31  สิงหาคม  2554  หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่ออีก  2  ปี  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าต่อไปอีก”  นั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่น  ไม่ใช่สิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันดำ  ดังนั้น  การที่ขาวได้แจ้งให้ดำทราบว่ามีความประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  2  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และดำปฏิเสธและเรียกให้ขาวคืนตึกแถวนั้น  คำปฏิเสธของดำกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อสัญญาที่ว่า  “ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงิน  50,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น”  นั้น  ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น  มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  ผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพันตามข้อสัญญานี้  เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนจะต้องรับมาด้วยนั้น  คือสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  ดังนั้น  การที่ขาวเรียกค่าขนย้าย  50,000  บาท  แต่ดำปฏิเสธ  คำปฏิเสธของดำกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป  คำปฏิเสธของดำทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)    น้ำเงินทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์บรรทุกมีกำหนดเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2554  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  1  ของเดือน  เดือนละ  25,000  บาท  ในวันทำสัญญาเช่า  เหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไว้เป็นเงิน  150,000  บาท  แต่ปรากฏว่าเมื่อได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าแล้วเหลืองไม่เคยชำระค่าเช่าเลยจนถึงเดือนกันยายน  ดังนั้นในวันที่  5  กันยายน  2554  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันที  และให้เหลืองส่งรถยนต์คืนภายในวันที่  15  กันยายน  2554  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่า  กำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับน้ำเงินเป็นเงิน  150,000  บาทนั้น  ทำให้เหลืองมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้  6  เดือน  คือ  เดือนมีนาคม  เมษายน  พฤษภาคม  มิถุนายน  กรกฎาคม  และเดือนสิงหาคม  แต่เดือนกันยายนเหลืองต้องชำระค่าเช่าให้น้ำเงิน  (ในวันที่  1  กันยายน  2554)  และเมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  การที่เหลืองไม่ชำระค่าเช่าในเดือนกันยายนนั้น  น้ำเงินจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้  แต่น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้เหลืองชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าเหลืองยังไม่ยอมชำระอีกน้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้น  การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนกันยายน  2554  ถือว่าเหลืองผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว  6  คราว  ดังนั้น  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้  เพราะการที่น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาได้จะต้องปรากฏว่าเหลืองผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  ดังนั้น  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นคำตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ  3  นายรำลึกทำสัญญาจ้างนายสำเภาให้รื้อตึก  20  คูหาและก่อสร้างตึกใหม่  โดยมีข้อตกลงให้ชำระสินจ้างเป็นงวดๆ  ตามความสำเร็จของงาน  นายสำเภาจึงได้ทำสัญญาจ้างนาย  1  เป็นหัวหน้าคนงาน  มีกำหนดเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  กรกฎาคม  และทำสัญญาจ้างนาย  2  ถึงนาย  10  เป็นลูกจ้างทั่วไปไม่มีกำหนดเวลา  โดยตกลงชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  เมื่อเริ่มทำงานได้เพียงสองเดือนนายรำลึกเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหาไม่ควรลงทุนในช่วงนี้จึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสำเภาในวันที่  10  กันยายน  นายสำเภาเห็นว่าไม่มีงานให้ทำต่อไปแล้วจึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ถึงนาย  10  ทันทีในวันที่  15  กันยายน  โดยชำระสินจ้างให้ครึ่งหนึ่ง  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้

(ก)    นายสำเภาจะต่อสู้ว่าได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)   นาย  1  ถึงนาย  10 จะต่อสู้ได้อย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  575  อันว่าจ้างแรงงานนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ลูกจ้าง  ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

(ก)   โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้น  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับผู้รับจ้าง  ตามมาตรา  605

ตามอุทาหรณ์  สัญญาจ้างให้รื้อตึก  20  คูหาและก่อสร้างตึกใหม่ดังกล่าว  เป็นกรณีที่นายสำเภา  ตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับนายรำลึกผู้ว่าจ้าง  และนายรำลึกผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จของงานที่ทำนั้น  จึงเป็นสัญญาจ้างทำงาน  ตามมาตรา 587

เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า  ในวันที่  10  กันยายน  ซึ่งนายสำเภาผู้รับจ้างเริ่มทำงานได้เพียงสองเดือน  และงานที่จ้างก็ยังทำไม่แล้วเสร็จ  นายรำลึกผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสำเภา  ดังนี้ถือว่านายรำลึกมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา  605  แต่นายรำลึกจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากการยกเลิกสัญญานั้นให้กับนายสำเภา  นายสำเภาจะต่อสู้ว่าตนได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้

(ข)   โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  ถ้าเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอนสัญญานั้นย่อมระงับลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้  ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างมิได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ตกลงกันไว้  นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

ตามอุทาหรณ์  การที่นายสำเภาทำสัญญาจ้างนาย  1  เป็นหัวหน้าคนงานโดยตกลงจ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่นาย  1  ทำงานให้  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  และเมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมีกำหนดเวลา  1  ปี  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ดังนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่านาย  1  ได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่อย่างใด  และการจ้างก็ยังไม่ครบกำหนดเวลา  1  ปี  นายสำเภาจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ในวันที่  15  กันยายนไม่ได้  เมื่อนายสำเภาบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ในวันที่  15  กันยายน  นาย  1  จึงสามารถต่อสู้ได้ว่านายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ได้เพราะยังไม่ครบกำหนดเวลา  1  ปี  ตามสัญญาจ้าง

ส่วนสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายสำเภากับนาย  2  ถึงนาย  10  นั้น  เมื่อเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา  ดังนั้น  นายสำเภาสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้  แต่ต้องดำเนินการตามมาตรา  582  วรรคแรก  กล่าวคือ  จะต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้าและให้มีผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  2  ถึงนาย  10  ทันทีในวันที่  15  กันยายนไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้นาย  2  ถึงนาย  10  ทราบก่อนในวันที่  30  กันยายน  และไปบอกเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปในวันที่  31  ตุลาคม

แต่อย่างไรก็ดี  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างและให้นาย  2  ถึงนาย  10  ออกจากงานไปเลยในวันที่  15  กันยายนก็ได้  แต่ต้องจ่ายสินจ้างที่ต้องจ่ายในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมรวมสองเดือน  แล้วให้นาย  2  ถึงนาย  10  ออกจากงานไปทันทีได้เลยตามมาตรา  582  วรรคสอง  มิใช่จ่ายสินจ้างให้เพียงครึ่งหนึ่ง

สรุป

(ก)    นายสำเภาจะต่อสู้ว่าได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้

(ข)   นาย  1  สามารถต่อสู้ได้ว่า  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ได้เพราะยังไม่ครบกำหนด  1  ปี  ตามสัญญาจ้าง

Advertisement