การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ตํารวจจับกุมนายดําในข้อหาว่าเป็นคนลาวอพยพหนีจากเขตควบคุม นายดําให้การปฏิเสธพร้อมทั้งแสดงบัตรประจําตัวประชาชนให้ตํารวจดู ซึ่งข้อความที่ให้การนั้นเป็นเท็จ ดังนี้ นายดํามีความผิดต่อเจ้าพนักงานประการใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

Advertisement

มาตรา 137 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 นี้สามารถแยกองค์ประกอบความผิด ได้ดังนี้

1. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2. แก่เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
4. โดยเจตนา

“แจ้งข้อความ” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ ให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น อาจจะกระทําโดยวาจา โดยการเขียนเป็นหนังสือ หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

“ข้อความอันเป็นเท็จ” หมายถึง ข้อความที่นําไปแจ้งไม่ตรงกับข้อความจริงหรือตรงข้ามกับ ความจริง

อนึ่งในคดีอาญา ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้ เพื่อให้ตนเองพ้นผิด หรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้ แม้คําให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทําผิด ก็ยังถือว่าเป็นคําให้การในฐานะ ผู้ต้องหาอยู่ (ฎ. 1093/2522)

“แก่เจ้าพนักงาน” เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้ ต้องมีอํานาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดําเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น และต้องกระทําการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย

“ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย” การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความ เสียหายใด ๆ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ อนึ่งกฎหมายใช้คําว่า “อาจทําให้เสียหาย” จึงไม่จําเป็นต้องเกิด ความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ เพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําจะต้องกระทําด้วยเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือ ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็น ความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ตํารวจจับกุมนายดําในข้อหาว่าเป็นคนลาวอพยพหนีจากเขตควบคุม และนายดําได้ให้การปฏิเสธพร้อมทั้งแสดงบัตรประจําตัวประชาชนให้ตํารวจดู ซึ่งข้อความที่ให้การเป็นเท็จนั้น การกระทําของนายดําย่อมไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เพราะเป็นการให้การในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งผู้ต้องหาชอบที่จะแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ตนเองพ้นผิด แม้ว่าคําให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ ก็ไม่ถือเป็นการแจ้งความอันจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ตามหลักกฎหมายที่ ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น

สรุป
นายดําไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 137

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ (มาตรา 157)

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ…”

อธิบาย
มาตรานี้ กฎหมายบัญญัติการกระทําอันเป็นความผิดอยู่ 2 ความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดแรก เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4. โดยเจตนา

“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือน จากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อย ให้รับสารภาพ เป็นต้น

“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การงดเว้นกระทําการตามหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป เป็นต้น

ดังนั้นถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัตินั้น ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่ หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่ ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหาย ในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ไม่จําเป็นว่า ต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอ ที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําต้องปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
3. โดยทุจริต
4. โดยเจตนา

“โดยทุจริต” หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเอง หรือผู้อื่น ทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นถ้าผู้กระทําขาดเจตนาทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทําโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม และโดยไม่ต้องคํานึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทําโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด

“ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เป็นจํานวนที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง เป็นต้น

“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว มิได้นําเงินลงบัญชี ทั้งมิได้ดําเนินการให้ ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

 

ข้อ 3. นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะวางเพลิงเผาตึกที่ทําการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง นายห้าคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการกระทําครั้งนี้ และไม่ไปร่วมทําการตามที่นัดหมาย ส่วนนายหนึ่ง นายสอง นายสาม และนายสี่ ถูกตํารวจจับได้ในระหว่างกําลังหิ้วน้ำมันเบนซินและไม้ขีดไฟมาวางข้างตึกคณะนิติศาสตร์ ดังนี้ บุคคลทั้งห้ามีความผิดเกี่ยวกับ ความสงบสุขของประชาชน และมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 210 วรรคแรก “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิดฐาน เป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ”

มาตรา 217 “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ”

มาตรา 219 “ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือ

มาตรา 218 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทําความผิดนั้น ๆ”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า บุคคลทั้งห้ามีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุข ของประชาชนประการใดหรือไม่ เห็นว่า
ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. สมคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา

“การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

การสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่าห้าคนแล้วไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร
“เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2” หมายความว่า ความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดตามภาค 2 ได้แก่ ความผิดตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 366 เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

“ความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป” หมายความว่า โทษอย่างสูง เป็นอัตราโทษอย่างสูงตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทําความผิด ทั้งนี้จะต้องมีกําหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย

“โดยเจตนา” หมายความว่า รู้สํานึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้ประชุม ปรึกษาหารือกันว่าจะวางเพลิงเผาตึกที่ทําการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง แต่นายห้าคัดค้านไม่เห็นด้วย และไม่ไปร่วมทําการตามที่นัดหมายนั้น ไม่ถือว่าเป็นการสมคบกันครบห้าคนในความผิดฐานเป็นซ่องโจร เพราะคําว่าสมคบนั้น หมายถึง การปรึกษาหารือแล้วตกลงร่วมกันที่จะกระทําความผิด แต่เมื่อนายห้าไม่ได้ตกลงร่วมกันด้วยกับพวกอีกสี่คน ผู้ที่สมคบกันกระทําความผิดจึงมีเพียงสี่คน ดังนั้น บุคคลทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐาน เป็นซ่องโจรตามมาตรา 210

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัย มีว่า บุคคลทั้งห้ามีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อ ประชาชนประการใดหรือไม่ เห็นว่า
ความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา 219 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. ตระเตรียม
2. เพื่อกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 218
3. โดยเจตนา

โดยทั่วไปแล้ว การตระเตรียมการยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะยังไม่ลงมือกระทําความผิด แต่การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น มีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน อย่างร้ายแรง ดังนั้นการตระเตรียมการเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น จึงเป็นความผิดแล้ว และต้องระวางโทษ เท่ากับพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217 หรือมาตรา 218 แล้วแต่กรณี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่ง นายสอง นายสาม และนายสี่ ถูกตํารวจจับได้ในระหว่าง กําลังหิ้วน้ำมันเบนซินและไม้ขีดไฟมาวางข้างตึกนิติศาสตร์นั้น การกระทําของบุคคลทั้งสี่ย่อมถือว่าอยู่ในขั้นตระเตรียมการวางเพลิงแล้ว เพราะเป็นการกระทําด้วยประการใด ๆ อันนําไปสู่การกระทําความผิดสําเร็จได้ และถือว่าเป็นการตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (มหาวิทยาลัยรามคําแหง ถือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ) ตามมาตรา 218 (4) ซึ่งได้กระทําโดยมีเจตนา ดังนั้น บุคคลทั้งสี่จึงมีความผิดฐาน ตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา 219 ส่วนนายห้าไม่มีความผิดฐานนี้ด้วย เพราะไม่ได้ร่วมกระทําผิด

สรุป
บุคคลทั้งห้าไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 แต่นายหนึ่ง นายสอง นายสาม และนายสี่ มีความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา 219

 

 

ข้อ 4. จําเลยเป็นพนักงานบัญชีของธนาคาร มีหน้าที่ควบคุมการ์ดบัญชีเงินฝากของธนาคาร เมื่อลูกค้าของธนาคารนําเงินมาฝากจําเลยต้องจดตัวเลขจํานวนเงินลงในช่องการ์ดบัญชีเงินฝากของธนาคาร พร้อมทั้งเซ็นชื่อของจําเลย วันเกิดเหตุจําเลยจดลงในบัญชีว่ามีลูกค้านําเงินมาฝาก 200,000 บาท จากนั้นได้เซ็นชื่อของจําเลยลงไป ข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันดังกล่าวไม่มีลูกค้านําเงินมาฝากแต่ประการใด ให้ท่านวินิจฉัยว่าจําเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคแรก “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของธนาคาร จดตัวเลขจํานวนเงิน 200,000 บาท ลงในช่องการ์ดบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งตนมีหน้าที่ควบคุมการ์ดดังกล่าวนั้น ถือเป็นการกระทําภายในขอบเขตอํานาจหน้าที่ของจําเลย แม้ความจริงจะไม่มีการนําเงินดังกล่าวเข้าฝากธนาคารเลยก็ตาม ก็เป็นการลงข้อความเท็จเท่านั้น หาใช่เป็นการปลอมเอกสารไม่ เพราะมิใช่เป็นการทําปลอมเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด ดังนั้น จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร (เทียบฎีกาที่ 2379/2526)

สรุป
จําเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

Advertisement