การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายต้อยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนด ในคืนวันที่ฝนตกถนนลื่น ขณะนายต้อยขับรถเลี้ยวในทางโค้ง นายต้อยไม่ได้ชะลอความเร็วยังคงขับรถเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้ นายต้อยเห็นนายต้องกําลังหาบเต้าหู้ขายและกําลังเดินข้ามถนนจะพ้นอยู่แล้ว นายต้อยจึงรีบห้ามล้อทันทีแต่ไม่ทันเพราะรถได้ลื่นไปชนหาบเต้าหู้ของนายต้อง หาบเต้าหูของนายต้องเสียหายทั้งหมด แต่ตัวนายต้องไม่เป็นอะไรเลย จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายต้อย

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต้อยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกําหนดในคืนวันที่ฝนตกถนนลื่น และขณะที่นายต้อยขับรถเลี้ยวในทางโค้งก็ไม่ได้ชะลอความเร็ว ยังคงขับรถเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้ เป็นเหตุให้ห้ามล้อไม่ทันจนทําให้ชนหาบเต้าหู้ของนายต้องเสียหายทั้งหมดนั้น ถือว่านายต้อย มิได้มีเจตนากระทําให้ทรัพย์ของนายต้องเสียหาย เนื่องจากนายต้อยไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่เกิดขึ้นนั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ดี การกระทําของนายต้อยดังกล่าวนั้น ถือเป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังตามภาวะวิสัยของคนขับรถในพฤติการณ์เช่นนั้น ซึ่งนายต้อยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทําของนายต้อยจึงเป็นการกระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินคือหาบเต้าหู้ของนายต้องเสียหาย แต่เนื่องจากการกระทําโดยประมาททําให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายนั้น กฎหมายอาญามิได้บัญญัติเป็นความผิด ดังนั้น นายต้อยจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

สรุป
นายต้อยไม่ต้องรับผิดในทางอาญาต่อนายต้อง

 

ข้อ 2.นายสาธิตทราบมาว่านางสาวจิตฝันมีความระแวงว่ามีคนจะมาฆ่าตน นายสาธิตจึงหลอกนางสาวจิตฝัน ว่าจะมีคนแต่งชุดนักเรียนแบบในรูปที่ให้ดูมาฆ่านางสาวจิตฝัน วันหนึ่งนางสาวจิตฝันเห็นนางสาวพันล้านแต่งชุดนักเรียนเหมือนที่นายสาธิตบอก นางสาวจิตฝันคิดว่านางสาวพันล้าน เป็นคนที่นายสาธิตพูดถึง จึงได้ชักมีดออกมาแทงนางสาวพันล้านทันที แต่นางสาวพันล้านหลบทัน นางสาวจิตฝันจะแทงซ้ำอีก นางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์เพื่อนนักเรียนของนางสาวพันล้าน เห็นเข้าพอดี จึงได้เข้ามาขัดขวางทําให้ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บไปด้วย จงวินิจฉัยความรับผิด ทางอาญาของนางสาวจิตฝัน

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติ ให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํา กฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไป ตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นางสาวจิตฝันจะต้องรับผิดทางอาญา ดังนี้คือ

ความรับผิดทางอาญาของนางสาวจิตฝันต่อนางสาวพันล้าน
การที่นางสาวจิตฝันได้ใช้มีดแทงนางสาวพันล้านนั้น ถือว่านางสาวจิตฝันได้กระทําต่อ นางสาวพันล้านโดยเจตนา เพราะนางสาวจิตฝันได้กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน นางสาวจิตฝันได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นางสาวจิตฝันได้กระทําต่อนางสาวพันล้านเพราะเข้าใจผิดคิดว่านางสาวพันล้านเป็นคนที่จะมาฆ่านางสาวจิตฝัน เนื่องจากเห็นนางสาวพันล้านแต่งชุดนักเรียนเหมือนกับที่นายสาธิตบอก นางสาวจิตฝันก็จะยกเอาความสําคัญผิดใน ตัวบุคคลดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทําต่อนางสาวพันล้านไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องถือว่านางสาวจิตฝัน ได้มีเจตนาฆ่านางสาวพันล้านด้วยตามมาตรา 61 และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นางสาวจิตฝันได้ใช้มีดแทงนางสาวพันล้นนั้น นางสาวพันล้านหลบทัน และเมื่อนางสาวจิตฝันจะแทงซ้ำอีกก็ถูกนางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์ขัดขวาง ทําให้การกระทําของนางสาวจิตฝันซึ่งได้กระทําไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล คือนางสาวพันล้านไม่ตาย ตามที่นางสาวจิตฝันต้องการ ดังนั้น นางสาวจิตฝันจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านางสาวพันล้านโดยสําคัญผิด ในตัวบุคคลตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 61 และมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

ความรับผิดทางอาญาของนางสาวจิตฝันต่อนางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์
การที่นางสาวจิตฝันใช้มีดแทงนางสาวพันล้านแต่นางสาวพันล้านหลบทัน และเมื่อนางสาวจิตฝัน จะแทงซ้ำอีก ก็ถูกนางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์ขัดขวางทําให้ทั้งสองได้รับบาดเจ็บนั้น ผลของการกระทําที่เกิดขึ้นกับนางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป จึงต้องถือว่านางสาวจิตฝันได้กระทําโดยเจตนาต่อนางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์ บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้นด้วยตามมาตรา 60 ดังนั้น เมื่อนางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์ไม่ตาย จึงถือว่านางสาวจิตฝันได้ลงมือกระทําความผิดและได้กระทําไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล นางสาวจิตฝันจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านางสาวบานชื่น และนางสาวรื่นรมย์โดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และมาตรา 60 ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

สรุป
นางสาวจิตฝันต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านางสาวพันล้านโดยสําคัญผิดใน ตัวบุคคลตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และมาตรา 61 ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

นางสาวจิตฝันต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านางสาวบานชื่นและนางสาวรื่นรมย์ โดยพลาดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และมาตรา 60 ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 3. นายโก๋มีเรื่องโกรธเคืองกับนายชัยในเรื่องแย่งจีบผู้หญิงคนเดียวกัน วันเกิดเหตุนายโก๋ดื่มสุรามีอาการมึนเมาไปยืนท้าทายที่หน้าประตูรั้วบ้านนายชัย “ไอ้ชัยมึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้ามึงแน่จริง” นายชัยได้ยินเช่นนั้นจึงพกอาวุธปืนไว้ที่เอวเปิดประตูรั้วบ้านออกไปพบนายโก๋เกิดการทะเลาะวิวาทกัน นายโก๋ชักมีดออกมาจะจ้วงแทงนายชัย นายชัยใช้ปืนยิงนายโก๋กระสุนถูกนายโก๋ถึงแก่ความตาย และกระสุนยังเลยไปถูกนายเฮงซึ่งขี่รถจักรยานผ่านมาถึงแก่ความตายอีกด้วย ดังนี้นายชัยจะต้อง รับผิดทางอาญาโดยยกเหตุใดมายกเว้นความผิด หรือลดหย่อนผ่อนโทษได้หรือไม่อย่างไร

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น…”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สาหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชัยได้ใช้ปืนยิงนายโก๋กระสุนถูกนายโก้ถึงแก่ความตายนั้น ถือว่านายชัยได้กระทําต่อนายโก๋โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันนายชัยได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ดังนั้น นายชัยจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายโก๋ ตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

และการที่นายชัยได้ใช้ปืนยิงนายโก๋นั้น นอกจากกระสุนปืนจะถูกนายโก๋ถึงแก่ความตายแล้ว กระสุนยังเลยไปถูกนายเฮงถึงแก่ความตายด้วยนั้น ผลของการกระทําที่เกิดขึ้นกับนายเฮงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปจึงต้องถือว่านายชัยได้กระทําโดยเจตนาต่อนายเฮงบุคคลซึ่งได้รับผลร้ายาจากการกระทํานั้นด้วย ตามมาตรา 60 ดังนั้น นายชัยจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายเฮงตายโดยเจตนาด้วยตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 60

ส่วนการที่นายชัยจะยกเหตุใดมายกเว้นความรับผิด หรือลดหย่อนผ่อนโทษได้หรือไม่อย่างไรนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีแรก นายชัยจะยกเหตุการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 มายกเว้น ความรับผิดไม่ได้ ทั้งนี้เพราะแม้ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์จะปรากฏว่า การที่นายชัยได้ใช้ปืนยิงนายโก๋นั้น เนื่องมาจากการที่นายโก๋ซึ่งมีเรื่องกับนายชัยได้ดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาและได้ไปยืนท้าทายที่หน้าประตูรั้วบ้านนายชัยดังกล่าวนั้น แม้ว่านายชัยไม่มีหน้าที่ต้องหลบหนีก็ตาม แต่หากนายชัยไม่สมัครใจที่จะวิวาทหรือต่อสู้กับ นายโก๋ นายชัยก็ชอบที่จะไม่ออกไปพบนายโก๋ เมื่อนายชัยได้พกอาวุธปืนและเปิดประตูรั้วบ้านออกไปพบนายโก๋ ย่อมแสดงให้เห็นว่านายชัยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับนายโก๋โดยไม่มีกฎหมายให้อํานาจ และการที่นายโก๋ ได้ชักมีดออกมาเพื่อจ้วงแทนนายชัย ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่วิวาทกันกับนายชัย ดังนั้น การที่นายชัย ใช้ปืนยิงนายโก๋จนถึงแก่ความตาย นายชัยจะอ้างว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ไม่ได้

กรณีที่ 2 การที่นายชัยได้ใช้ปืนยิงนายโก๋ถึงแก่ความตายนั้น นายชัยจะยกเหตุบันดาลโทสะ ตามมาตรา 72 มาเป็นเหตุเพื่อลดหย่อนผ่อนโทษไม่ได้ เพราะการที่นายโก๋ได้มายืนท้าทายและเรียกให้นายชัย ออกมาต่อยกันตัวต่อตัวนั้น ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายชัยได้ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด ดังนั้น นายชัยจะอ้างว่าตนได้กระทําไปเพราะเหตุบันดาลโทสะตามมาตรา 72 ไม่ได้

สรุป
นายชัยต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายโก๋ตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายเฮงตายโดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 60

นายชัยจะอ้างเหตุการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 หรือเหตุบันดาลโทสะ ตามมาตรา 72 ขึ้นมาเพื่อยกเว้นความรับผิด หรือเพื่อลดหย่อนผ่อนโทษไม่ได้

 

ข้อ 4. หนึ่งกับสองร่วมกันวางแผนที่บ้านหนึ่งจะฆ่าเชิดโดยตกลงกันให้สองไปหลอกเชิดออกจากบ้านมาให้หนึ่งเป็นคนยิง แจ๋วน้องสาวหนึ่งแอบได้ยินนําความมาเล่าให้อรสาซึ่งเคยอยู่กินกับเชิดแล้วถูกเชิดทอดทิ้งไป อรสาจึงไปขโมยปืนพกขนาด .38 ของบิดามาให้แจ๋วฝากไปให้หนึ่งใช้ยิงเชิด โดยห้ามแจ๋วไม่ให้บอกว่าเป็นปืนของใครให้บอกแต่ว่าเป็นปืนของผู้หวังดี หนึ่งรับปืนจากแจ๋วโดยไม่รู้ว่าเป็นปืนของใคร จึงให้สองไปหลอกเชิดออกจากบ้านมาตรงที่หนึ่งซุ่มอยู่แล้วหนึ่งใช้ปืนกระบอกนั้นยิงเชิดตาย ดังนี้ สอง แจ๋ว และอรสา จะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่งใช้ปืนยิงเชิดตายอย่างไรหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งใช้ปืนพกยิงเชิดตาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของหนึ่งจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้น หนึ่งจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง (ในความผิดฐาน ฆ่าเชิดตายโดยเจตนา)

สําหรับสอง แจ๋ว และอรสา จะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่งใช้ปืนยิงเชิดตายอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของสอง
การที่สองได้ร่วมกันกับหนึ่งวางแผนเพื่อจะฆ่าเชิด โดยให้สองเป็นผู้ไปหลอกเชิดมาให้หนึ่งเป็นคนยิงนั้น ถือว่าสองมีเจตนาร่วมกันกับหนึ่งในการกระทําความผิดตั้งแต่แรกจนถึงขั้นลงมือกระทําความผิดแล้วโดยเป็นการแบ่งหน้าที่กันทํา ดังนั้น เมื่อหนึ่งใช้ปืนยิงเชิดตาย สองจึงต้องรับผิดทางอาญาร่วมกับหนึ่ง ในฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

กรณีของแจ๋ว
การที่แจ๋วได้เอาปืนของอรสาไปให้หนึ่ง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าหนึ่งจะเอาปืนนั้นไปยิงเชิดนั้น การกระทําของแจ๋วถือว่าเป็นการกระทําโดยมีเจตนาให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกก่อนการกระทําความผิด ดังนั้นแจ๋วจึงต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่งใช้ปืนนั้นยิงเขิดตายในฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

กรณีของอรสา
การที่อรสารู้ว่าหนึ่งจะฆ่าเชิด จึงได้ขโมยปืนพกของบิดามาให้แจ๋วฝากไปให้หนึ่งใช้ยิงเชิดนั้น แม้ว่าหนึ่งรับปืนจากแจ๋วโดยไม่รู้ว่าเป็นปืนของใครก็ตาม การกระทําของอรสาถือว่าเป็นการกระทําโดยมีเจตนาให้ความช่วยเหลือ ให้ความสะดวกก่อนการกระทําความผิด ดังนั้น อรสาจึงต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่ง ใช้ปืนยิงเชิดตายในฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

สรุป
สองต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83
แจ๋วและอรสา ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

Advertisement