การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายนัทกลับบ้านมากลางดึก ได้ทราบข่าวจากนางจอยที่เป็นภริยาว่า โดเรม่อนน้องหมาที่เลี้ยงไว้มากัด ด.ญ.ส้มจี๊ดที่เป็นลูกสาวได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา นายนัทโมโหมากตั้งใจว่าจะไม่อยู่ร่วมโลกกับโดเรม่อน อีกต่อไป จึงนั่งรอโดเรม่อนกลับเข้ามาในบ้าน เพราะโดเรม่อนได้หนีออกจากบ้านไปหลังจากกัด ด.ญ.ส้มจี๊ด ผ่านไปครู่ใหญ่มีน้องหมาตัวหนึ่งลอดประตูรั้วบ้านเข้ามาและเข้ามาคุ้ยเขียกองขยะในถังขยะหน้าบ้านกินด้วยความหิวโหย ในเวลานั้นเองนายนัทเดินไปที่รถเพื่อหยิบไม้กอล์ฟจากรถออกมาตี ที่หัวน้องหมาตัวนั้นจนน้องหมาตายคาที่ ปรากฏว่า น้องหมาตัวนั้นไม่ใช่โดเรม่อนของนายนัท แต่เป็นน้องหมาโนปิตะของนายบอลที่เป็นเพื่อนบ้าน โนปิตะมีสีและรูปร่างใกล้เคียงกับโดเรม่อนมาก
ให้นักศึกษาวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายนัท พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบการวินิจฉัย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้
กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความ ระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 62 วรรคสอง “ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือความสําคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคหนึ่ง ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทําความผิด ให้ผู้กระทํารับผิดฐานกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทํานั้นผู้กระทําจะต้องรับโทษ แม้กระทําโดยประมาท”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้วบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติ ไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
การกระทําโดยเจตนา ได้แก่การกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้ คือจะถือว่า ผู้กระทําได้กระทําโดยเจตนาไม่ได้นั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนัทได้ใช้ไม้กอล์ฟตีน้องหมา คือ โนปิตะตายนั้นเป็นการเคลื่อนไหว ร่างกายโดยรู้สํานึกจึงถือว่าเป็นการกระทําทางอาญาแล้ว แต่การกระทําดังกล่าวของนายนัทจะถือว่าเป็นการกระทําโดยเจตนาหาได้ไม่ เพราะนายนัทได้กระทําโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม คือไม่รู้ว่าน้องหมาที่ตนใช้ไม้กอล์ฟตีจนตายนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่นไม่ใช่โดเรม่อนสุนัขของตนเอง ดังนั้นนายนัทจึงไม่มีความรับผิดทางอาญาฐานทําให้เสียทรัพย์ (องค์ประกอบของความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 358 คือ 1. ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า หรือทําให้ไร้ประโยชน์ 2. ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย 3. โดยเจตนา)
และแม้ว่าการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้น ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของนายนัทเนื่องจากนายนัทได้ที่โนบิตะซึ่งเป็นสุนัขของนายบอลตายนั้น ได้กระทําโดยไม่ทันดูให้ดีว่าไม่ใช่โดเรม่อนสุนัขของตน แต่นายนัทก็ไม่ต้องรับผิดฐานประมาททําให้เสียทรัพย์ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทําโดยประมาททําให้เสียทรัพย์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใดตามมาตรา 59 วรรคสี่ ประกอบกับมาตรา 62 วรรคสอง ดังนั้นนายนัทจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา
สรุป
นายนัทไม่มีความรับผิดทางอาญา
ข้อ 2. แจ็คต้องการฆ่าแคนดี้ เพราะแคนดี้เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่สําคัญของแจ็ค วันหนึ่งแจ็คเห็นน้ำตาลเดินมาเข้าใจว่าเป็นแคนดี้ จึงใช้ปืนขนาด .38 มม. ที่พกอยู่เป็นอาวุธเล็งปืนไปที่น้ำตาล น้ำตาลตาไวเห็นทันพอดี จึงตีลังกาหลบแจ็ค ทําให้กระสุนไม่ถูกน้ำตาลเลย แต่กระสุนกลับเลยไปถูกขวัญ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ทําให้น้องหมาของแป๋มที่ขวัญอุ้มอยู่ตกลงไปในท่อจนตาย จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของแจ็คต่อผู้เสียหายทุกราย พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดย ประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํากฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”
มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แจ็คต้องการฆ่าแคนดี้ เมื่อเห็นน้ำตาลเดินมาเข้าใจว่าเป็นแคนดี้ จึงใช้ปืนเล็งและยิงไปที่น้ำตาลโดยสําคัญผิดนั้น การกระทําของแจ็คเป็นการกระทําโดยเจตนาประสงค์ต่อผลตาม มาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อ ผลของการกระทํานั้น แต่เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกน้ำตาล จึงเป็นกรณีที่แจ็คได้ลงมือกระทําความผิดซึ่งได้กระทําไป ตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล คือน้ำตาลไม่ตายตามที่แจ็คต้องการ แจ็คจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าน้ำตาลโดยสําคัญผิดในตัวบุคคลตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 61 และมาตรา 80 วรรคหนึ่ง แจ็คจะอ้างว่าได้กระทําเพราะเหตุสําคัญผิดว่าน้ำตาลเป็นแคนดี้เป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่
การที่กระสุนปืนไม่ถูกน้ำตาลแต่เลยไปถูกขวัญได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยนั้น เป็นกรณีที่แจ็คได้ กระทําโดยเจตนาต่อน้ำตาลแต่ผลของการกระทําเกิดแก่ขวัญโดยพลาดไป ให้ถือว่าแจ็คได้กระทําโดยเจตนาต่อขวัญ บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทําด้วยตามมาตรา 60 และเมื่อขวัญไม่ตายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นแจ็คจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าขวัญโดยพลาดไปตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 60 และมาตรา 80 วรรคหนึ่ง
ส่วนการที่กระสุนปืนไปถูกขวัญทําให้น้องหมาของแป๋มที่ขวัญอุ้มอยู่ตกลงไปในท่อจนตายนั้น แจ็คไม่ต้องรับผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ เพราะมิใช่การกระทําโดยพลาดตามมาตรา 60 ทั้งนี้เพราะผลร้ายที่ เกิดขึ้นโดยพลาดไม่ได้เป็นผลประเภทเดียวกับที่เจตนากระทํา กล่าวคือเมื่อเป็นการกระทําโดยเจตนาต่อบุคคล แต่ผลร้ายเกิดขึ้นกับทรัพย์จึงไม่อยู่ในความหมายของคําว่าพลาด แต่อย่างไรก็ดีการกระทําของแจ็คเป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ แต่แม้จะเป็นการกระทําโดยประมาท แจ็คก็ไม่มีความผิด เพราะการทําให้เสียทรัพย์โดยประมาทนั้น ไม่มี กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดแต่อย่างใด
สรุป
แจ็คต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าน้ำตาล
แจ็คต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าขวัญ
แจ็คไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานทําให้เสียทรัพย์ของแป๋ม
ข้อ 3. เฮงโชคดีถูกลอตเตอรี่ได้เงินมาดีใจชวนดํา ขาว และเขียว มารับประทานอาหารและดื่มสุราที่บ้านในตอนค่ำ เมื่อดื่มสุรากันจนเมา ได้พูดคุยกันเรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดํากับขาวความเห็น ไม่ตรงกันเกิดการทะเลาะกันเสียงดัง ดําโมโหคว้าขวดสุราตีศีรษะขาวแตกเลือดไหลแดง เฮงและเขียว ช่วยห้ามมิให้ทะเลาะกัน และนั่งดื่มสุรากันต่อไป สักครู่ขาวขอตัวกลับบ้านไปทําแผล เมื่อส่องกระจก เห็นศีรษะแตกมาก อีกประมาณ 2 ชั่วโมง ขาวถือมีดดาบย้อนกลับไปที่บ้านเฮง พบว่าทุกคนเมาสุรา นอนหลับกันหมดแล้ว ขาวเห็นดําเมาสุรานอนหลับอยู่ จึงใช้มีดดาบที่ถือติดตัวมาฟันศีรษะดํา อย่างแรง 2 ครั้ง ถึงแก่ความตาย ดังนี้ ขาวจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร และจะอ้างเหตุใด มายกเว้นโทษหรือลดหย่อนโทษได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”
มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่ขาวใช้มีดดาบฟันศีรษะดําอย่างแรง 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ดําถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าขาวมีเจตนาฆ่าดํา เพราะเป็นกรณีที่ขาวได้กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันขาวก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้นขาวจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อดําตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ฐานฆ่าดําตายโดยเจตนา
และกรณีดังกล่าว ขาวไม่สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่ กฎหมายได้กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นได้ เพราะกรณีที่ผู้กระทําความผิดจะอ้างว่าได้กระทําความผิดเพราะเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษให้ตามมาตรา 72 นั้น จะต้องเป็นการกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหง ในขณะนั้นคือในขณะที่ถูกข่มเหงนั่นเอง แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์จะเห็นได้ว่าระยะเวลาที่ขาวกระทําต่อดำกับการที่ขาวถูกดําตีศีรษะนั้นไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากปรากฏว่าหลังจากที่ดําใช้ขวดสุราตีศีรษะขาวนั้น ทั้งสองคนยังคงร่วมดื่มสุรากันต่อไป และเมื่อขาวได้ขอตัวกลับบ้านไปทําแผลอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ขาวจึงย้อนกลับมาและใช้มีดดาบที่ถือติดตัวมาฟันศีรษะดํา จึงไม่ถือว่าขาวได้กระทําความผิดต่อดําในขณะบันดาลโทสะอยู่ ดังนั้น ขาวจึง ไม่สามารถอ้างได้ว่าตนได้กระทําความผิดโดยบันดาลโทสะตามมาตรา 72
สรุป
ขาวจะต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าดําตายโดยเจตนา โดยจะอ้างเหตุบันดาลโทสะ เพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษให้ตามมาตรา 72 ไม่ได้
ข้อ 4. นางสีถูกนายใหญ่สามีทําร้ายบ่อยจึงกลับไปหานางอ่อนมารดาที่บ้าน เล่าเรื่องที่ถูกสามีทําร้าย ซึ่งขณะนั้นนางอ่อนกําลังนั่งพูดคุยอยู่กับนายสอนบุตรชายซึ่งเป็นน้องชายของนางสี นายสอนได้ยิน แล้วรู้สึกสงสารนางสีพี่สาว นายสอนไปปรึกษากับนายเชิดเพื่อนสนิท นายเชิดยุให้ฆ่านายใหญ่ พร้อมกับลุกไปหยิบปืนพกในห้องมาส่งให้นายสอนแล้วชวนกันไปขอยืมรถยนต์จากนายช้างเพื่อใช้เป็นพาหนะ นายช้างรู้ความประสงค์รับอาสาขับรถยนต์พานายสอนและนายเชิดไปส่งจุดที่จะลอบยิง นายใหญ่แล้วจะกลับมารับเมื่อยิงนายใหญ่ตายแล้ว นายเชิดเป็นคนดูต้นทางและให้สัญญาณให้นายสอนเป็นคนยิงนายใหญ่ นายสอนยิงนายใหญ่ตายแล้ว นายเชิดได้โทรศัพท์ให้นายช้างขับรถยนต์ มารับแล้วทั้งสามก็หลบหนีไปด้วยกัน ดังนี้ นางสี นายเชิด และนายช้าง จะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่นายสองยิงนายใหญ่ตายอย่างไร หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”
มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่สนับสนุนนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสอนใช้ปืนพกยิงนายใหญ่ตาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายสอนจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้น นายสอนจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง (ในความผิดฐานฆ่านายใหญ่ตายโดยเจตนา)
สําหรับนางสี นายเชิด และนายช้าง จะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่นายสอนยิงนายใหญ่ตาย อย่างไรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของนางสี
การที่นางสีถูกนายใหญ่สามีทําร้ายบ่อยจึงกลับบ้านและเล่าเรื่องที่ถูกสามีทําร้ายให้นางอ่อน มารดาฟัง ทําให้นายสอนน้องชายของนางสีซึ่งกําลังนั่งพูดคุยอยู่กับนางอ่อนได้ยินแล้วรู้สึกสงสารนางสีพี่สาวจึงไปยิงนายใหญ่ตายนั้น จะเห็นได้ว่านางสีมิได้มีเจตนาก่อให้นายสอนกระทําความผิดแต่อย่างใด นางสีจึงไม่ใช่ผู้ใช้ ตามนัยของมาตรา 84 ดังนั้น นางสีจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่นายสอนยิงนายใหญ่ตาย
กรณีของนายเชิด
การที่นายเชิดยุให้นายสอนฆ่านายใหญ่พร้อมลุกไปหยิบปืนพกในห้องมาส่งให้นายสอน แล้วชวนกันไปขอยืมรถยนต์จากนายช้างเพื่อใช้เป็นพาหนะ อีกทั้งนายเชิดจะเป็นคนดูต้นทางและให้สัญญาณให้นายสอน เป็นคนยิงนายใหญ่ และเมื่อนายสอนยิงนายใหญ่ตายแล้ว ทั้งนายสอนและนายเชิดก็ได้หลบหนีไปด้วยกันนั้น ถือว่า นายเชิดมีเจตนาร่วมกันกระทําความผิดกับนายสอนตั้งแต่แรกจนถึงขั้นลงมือกระทําความผิดแล้วโดยเป็นการแบ่งหน้าที่กันทํา ดังนั้น นายเชิดจึงต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่นายสอนยิงนายใหญ่ตายฐานเป็นตัวการร่วมกับ นายสอนตามมาตรา 83
กรณีของนายช้าง
การที่นายช้างรู้ความประสงค์ของนายสอนที่จะไปลอบฆ่านายใหญ่ ได้รับอาสาขับรถยนต์พานายสอนและนายเชิดไปส่งยังจุดที่จะลอบยิงนายใหญ่แล้วจะกลับมารับเมื่อยิงนายใหญ่ตายแล้วนั้น การกระทําของนายช้างถือว่าเป็นการให้ความสะดวกหรือช่วยเหลือนายสอนและนายเชิดก่อนการกระทําความผิด ดังนั้น นายช้างจึงต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่นายสอนยิงนายใหญ่ตายฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
อนึ่ง การกระทําของนายช้างไม่เป็นการกระทําในฐานะตัวการตามมาตรา 83 เพราะในขณะที่นายสอนยิงนายใหญ่ตายนั้น นายช้างมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือกันได้ จึงไม่เข้าลักษณะของตัวการตามนัยมาตรา 83
สรุป นางสีไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะมิได้เป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84
นายเชิดต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83
นายช้างต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86