การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายแดงกับนายดําเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองคนเข้าป่าล่าสัตว์เป็นงานอดิเรกด้วยกันเป็นประจํา วันหนึ่งทั้งคู่ได้นัดกันไปล่าสัตว์ตามปกติ โดยนัดเจอกันเวลาบ่ายโมงตรงใต้ต้นไม้ใหญ่ นายแดงล่าสัตว์ไม่ได้เลย จึงรู้สึกเบื่อหน่าย มานั่งรอนายดําก่อนเวลานัดจนเผลอหลับไป เมื่อใกล้เวลาบ่ายโมง นายแดงได้ยินเสียงดังอยู่หลังพุ่มไม้ที่ตนนอนอยู่ ด้วยความรีบร้อนไม่ทันดูให้ดีเสียก่อนจึงชักปืนจากเอว ขึ้นยิ่งไปทันที ปรากฏว่าเป็นนายดําที่จะเข้ามาหยอกล้อเล่นเหมือนที่เคยทําประจํา กระสุนถูกอวัยวะสําคัญทําให้นายดําถึงแก่ความตายทันที จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายแดง

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรก วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

การกระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้

กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 62 วรรคสอง “ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือ ความสําคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทําความผิด ให้ผู้กระทํา รับผิดฐานกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทํานั้นผู้กระทําจะต้องรับโทษ แม้กระทําโดยประมาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงใช้ปืนยิงไปที่หลังพุ่มไม้นั้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึกแล้ว จึงถือว่านายแดงมีการกระทําทางอาญา แต่การที่นายแดงยิงไปที่หลังพุ่มไม้โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์แต่เป็นนายดํานั้น เป็นกรณีที่นายแดงได้กระทําไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิ่งนั้นเป็นคน ดังนั้น จะถือว่านายแดงได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทําคือการที่นายดําถึงแก่ความตายไม่ได้ กล่าวคือ จะถือว่านายแดงได้กระทําโดยเจตนาต่อนายดําไม่ได้นั่นเอง (มาตรา 59 วรรคแรก วรรคสองและวรรคสาม)

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม ของนายแดงได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เพราะตามข้อเท็จจริงนั้นการกระทําของนายแดง เป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และนายแดงอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ ถ้านายแดงใช้ความระมัดระวัง พิจารณาให้ดีไม่รีบร้อนก็จะรู้ว่าหลังพุ่มไม้นั้นเป็นนายดําไม่ใช่สัตว์ เพราะนายดํามักจะหยอกล้อเล่นแบบนี้เป็นประจํา ดังนั้น นายแดงจึงต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 62 วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่

สรุป นายแดงต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทตามมาตรา 62 วรรคสองประกอบมาตรา 59 วรรคสี่

 

ข้อ 2. เรยาเกลียดณฤดีที่ได้รับความรักจากคุณใหญ่เพียงคนเดียว เรยาจึงคิดจะฆ่าณฤดี แต่กลับเห็นเด่นจันทร์เป็นณฤดี เมื่อใช้ปืนยิงเด่นจันทร์ถึงแก่ความตายไปแล้ว กระสุนที่ใช้ยิงเด่นจันทร์นั้นยังเลยไปถูกสินธรที่เดินอยู่ห่างออกไปได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้กระสุนยังแฉลบไปถูกรถยนต์ของสินธร ที่เด่นจันทร์ซื้อให้ราคา 20 ล้านบาท ได้รับความเสียหายอีกด้วย จงวินิจฉัยความรับผิดชอบทางอาญา
ของเรยา

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรก วรรคสองและวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่า นั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติ ให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํา กฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”

มาตรา 80 วรรคแรก “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไป ตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ความรับผิดทางอาญาของเรยา แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของเรยาต่อเด่นจันทร์
การที่เรยาใช้ปืนยิงเด่นจันทร์โดยเข้าใจว่าเป็นณฤดีนั้น เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํา คือ ความตายของผู้ที่ตนยิง ดังนั้น การกระทําของเรยา จึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง และกรณีดังกล่าวนี้เรยาจะยกเอาความสําคัญผิดขึ้นมา เป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้มีเจตนากระทําต่อเด่นจันทร์ไม่ได้ตามมาตรา 61 ดังนั้น เรยาจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเด่นจันทร์ฐานกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก

ความรับผิดของเรยาต่อสินธร
การที่เรยาใช้ปืนยิงเด่นจันทร์ และกระสุนยังได้เลยไปถูกสินธรบาดเจ็บด้วยนั้น ถือเป็นกรณีที่เรยาเจตนาจะกระทําความผิดต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําไปเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าเรยากระทําโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อเรยามีเจตนาฆ่ามาตั้งแต่ต้น เจตนาที่โอนมายังสินธรก็คือ เจตนาฆ่าเช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าสินธรเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ไม่ถึงแก่ความตาย เรยาจึงต้องรับผิดต่อสินธรฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามมาตรา 60 ประกอบมาตรา 80

ส่วนกรณีที่กระสุนยังแฉลบไปถูกรถยนต์ของสินธรได้รับความเสียหายด้วยนั้น ถือเป็นกรณี ที่เรยากระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ แต่เนื่องจากการทําให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นโดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เรยาจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อรถยนต์ของสินธร ทั้งนี้ตามหลัก ในมาตรา 59 วรรคแรกที่ว่า บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทําโดยประมาทก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติ ให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท

สรุป
เรยาต้องรับผิดทางอาญาต่อเด่นจันทร์ฐานกระทําต่อเด่นจันทร์โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรกประกอบมาตรา 61 และรับผิดทางอาญาต่อสินธรฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามมาตรา 60 ประกอบ มาตรา 80 แต่เรยาไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อรถยนต์ของสินธร

 

ข้อ 3. ก. ใช้ปืนขู่บังคับ ข. ให้ตีศีรษะ ค. หากไม่ตี ก. จะยิง ข. ให้ตาย ข. กลัว ก. ยิงตน ข. จึงใช้ไม้ตีไปที่ ค.
ค. เห็น ข. เงื้อไม้ขึ้นตีตน ค. จึงใช้ไม้ที่ถืออยู่ตีไปที่ ข. และไม้ได้หลุดจากมือ ค. เลยไปถูก ก. ด้วย
ดังนี้ ก. ข. และ ค. ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของ โทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 89 “ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ ลดโทษ หรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทําความผิดคนใด จะนําเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทําความผิดคนอื่นในการกระทําความผิดนั้นด้วยไม่ได้”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ก. ข. และ ค. ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของ ก.
การที่ ก. ใช้ปืนขู่บังคับ ข. ให้ตีศีรษะ ค. นั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดด้วย การบังคับขู่เข็ญแล้ว ก. จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคแรก และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทําลง คือ ข. ได้ใช้ไม้ตีไปที่ ค. ก. ผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง และกรณีนี้ ก. ไม่ได้รับการยกเว้นโทษ ตามมาตรา 89 เพราะถึงแม้การที่ ข. ใช้ไม้ตี ค. จะกระทําด้วยความจําเป็นและได้รับยกเว้นโทษตามมาตรา 67 ก็ตาม แต่การได้รับยกเว้นโทษดังกล่าวถือเป็นเหตุส่วนตัวของ ข. จะนํามาใช้กับ ก. ด้วยไม่ได้

ความรับผิดของ ข.
การที่ ข. ใช้ไม้ตีไปที่ ค. ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของ ข. จึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ข. จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ ข. ใช้ไม้ตีไปที่ ค. นั้น ข. ได้กระทําไปเพราะอยู่ภายใต้อํานาจบังคับ ของ ก. ซึ่ง ข. ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ เมื่อ ข. ได้กระทําไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทําของ ข. จึงเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67(1) ดังนั้น ข. จึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

ความรับผิดของ ค.
การที่ ค. ใช้ไม้ตีไปที่ ข. ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของ ค. จึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ค. จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ ค. ได้ใช้ไม้ตีไปที่ ข. นั้น ค. ได้กระทําไปเพื่อป้องกันสิทธิของตน ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของ ข. และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อ ค. ได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของ ค. จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ดังนั้น ค. จึงไม่ต้องรับผิดต่อ ข.

และเมื่อการกระทําของ ค. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าไม้ได้หลุดจากมือ ค. เลยไปถูก ก. ด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีที่ ค. เจตนากระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไปและกฎหมายให้ถือว่า ค. เจตนากระทําต่อ ก. โดยพลาดไปตามมาตรา 60 ก็ตาม แต่เมื่อเจตนาตอน แรกของ ค. เป็นการกระทําป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปก็ถือเป็นผลที่เกิดจากการ กระทําป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ด้วย ดังนั้น ค. จึงไม่ต้องรับผิดต่อ ก. เช่นเดียวกัน

สรุป
ก. ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 และรับโทษเสมือนตัวการ
ข. ต้องรับผิดทางอาญา แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 67 เพราะเป็นการกระทําความผิด ด้วยความจําเป็น
ค. ไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. เนวินได้บอกกับบรรจงลูกน้องว่า สุเทพกําแหงมากสมควรตายได้แล้ว บรรจงได้ยินเช่นนั้นทราบทันทีว่าเนวินต้องการให้ฆ่าสุเทพ บรรจงได้ร่วมกับสุขุมเพื่อนกันวางแผนฆ่าสุเทพ โดยบรรจงไปขอยืม อาวุธปืนจากสุขสม โดยบอกกับสุขสมว่าจะนําอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวเพราะมีคนปองร้าย สุขสมทราบดีว่าบรรจงจะนําอาวุธปืนไปยิงสุเทพ แต่ไม่กล้าบอกความจริง สุขสมเองอยากให้สุเทพตายอยู่แล้ว จึงให้บรรจงยืมอาวุธปืน บรรจงได้อาวุธปืนจากสุขสมแล้วได้นั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ที่สุขุมเป็นผู้ขับขี่ บรรจงใช้อาวุธปืนยิงสุเทพตาย ดังนี้ เนวิน สุขุม และสุขสมต้องรับผิดในการกระทําของบรรจงอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํายังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บรรจงใช้อาวุธปืนยิงสุเทพตาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของบรรจงจึงเป็นการกระทํา โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง บรรจงจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า เนวิน สุขุม และสุขสม ต้องรับผิดในการกระทําของบรรจงอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของเนวิน
การที่เนวินได้บอกกับบรรจงลูกน้องว่า สุเทพกําแหงมากสมควรตายได้แล้ว เมื่อบรรจงได้ยิน เช่นนั้นจึงทราบทันทีว่าเนวินต้องการให้ฆ่าสุเทพนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดแล้ว เนวินจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคแรก และเมื่อผู้ถูกใช้คือ บรรจง ได้ลงมือกระทําความผิดตามที่ก่อ เนวินผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง

ความรับผิดของสุขุม
การที่สุขุมได้ร่วมวางแผนกับบรรจงเพื่อฆ่าสุเทพ และได้ขี่รถจักรยานยนต์ให้บรรจงซ้อนท้ายไปยังสุเทพนั้น การกระทําของสุขุมถือเป็นการร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันกับบรรจง สุขุมจึงต้องรับผิดฐานเป็น ตัวการร่วมกับบรรจงตามมาตรา 83

ความรับผิดของสุขสม
การที่สุขสมให้บรรจงยืมอาวุธโดยรู้อยู่แล้วว่าบรรจงจะไปยิงสุเทพนั้น การกระทําของสุขสม ถือเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด สุขสมจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามมาตรา 86

สรุป
เนวินต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และต้องรับโทษเสมือนตัวการ
สุขุมต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ สุขสมต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

Advertisement