การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. พยายามกระทําความผิดท่านเข้าใจว่าอย่างไร มีหลักกฎหมายและโทษอย่างไรบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด
ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”
อธิบาย
ตามมาตรา 80 กรณีที่จะถือว่าเป็นพยายามกระทําความผิดจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ที่สําคัญ 3 ประการ คือ
(1) ผู้กระทําจะต้องมีเจตนากระทําความผิด
(2) ผู้กระทําจะต้องลงมือกระทําความผิดแล้ว กล่าวคือ ได้ผ่านขั้นตระเตรียมการไปแล้ว จนถึงขั้นลงมือกระทําการเพื่อให้บรรลุผลตามที่เจตนา
(3) ผู้กระทํากระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล
ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ (3) นี้ จะเห็นได้ว่า การพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 80 อาจแบ่ง ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. พยายามกระทําความผิดที่กระทําไปไม่ตลอด ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
(1) ผู้กระทําจะต้องได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว หมายถึง ได้กระทําที่พ้นจากขั้น ตระเตรียมการไปแล้วจนถึงขั้นลงมือกระทํา
(2) กระทําไปไม่ตลอด หมายความว่า เมื่อผู้กระทําได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว ได้มีเหตุมาขัดขวางเสียไม่ให้กระทําไปได้ตลอด
ตัวอย่าง ก. ตั้งใจจะยิง ข. จึงยกปืนขึ้นประทับบ่าและจ้องไปที่ ข. พร้อมกับขึ้นนก ในขณะที่กําลังจะลั่นไก ค. ได้มาจับมือ ก. เสียก่อน ทําให้ ก. กระทําไปไม่ตลอด คือไม่สามารถยิง ข. ได้
2. พยายามกระทําความผิดที่กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ซึ่งมี องค์ประกอบ ดังนี้
(1) ผู้กระทําได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว
(2) การกระทํานั้นได้กระทําไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล เหตุที่ ไม่บรรลุผลก็เพราะว่ามีเหตุมาขัดขวางไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผลนั่นเอง
ตัวอย่าง ก. เจตนาฆ่า ข. และได้ยิงปืนไปที่ ข. แต่ลูกปืนไม่ถูก ข. หรือถูก ข. แต่ ข. ไม่ตาย ดังนี้ถือว่า ก. ได้ลงมือกระทําความผิด และได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล คือ ข. ไม่ตาย ตามที่ ก. ประสงค์
โทษของการพยายามกระทําความผิด
โดยปกติ การพยายามกระทําความผิดนั้น ผู้กระทําจะต้องรับโทษสองในสามส่วนของโทษที่ กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น (มาตรา 80 วรรคสอง) เว้นแต่ การพยายามกระทําความผิดบางกรณี ซึ่งถือเป็น ข้อยกเว้น ได้แก่
1. การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทําต้องรับโทษเท่าความผิดสําเร็จ เช่น การพยายาม กระทําความผิดตามมาตรา 107, มาตรา 108 เป็นต้น
2. การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทําไม่ต้องรับโทษ เช่น การพยายามกระทําความผิดที่ ผู้กระทํายับยั้งเสียเองไม่กระทําการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผลตามมาตรา 82 หรือ การพยายามกระทําความผิดลหุโทษตามมาตรา 105 เป็นต้น
3. การพยายามกระทําความผิดที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา 81 ที่ ผู้กระทําต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น
ข้อ 2. อย่างไรเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 68) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
อธิบาย
ตามบทบัญญัติมาตรา 68 การกระทําที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย อันจะมีผลทําให้ผู้กระทําไม่มีความผิด ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ คือ
1. ต้องมีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
“ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย” หมายความถึง ภยันตรายนั้นจะต้องเกิด จากการประทุษร้ายและการประทุษร้ายจะมีได้เฉพาะแต่การกระทําของบุคคลเท่านั้น
“ภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย” หมายความว่า เป็นภัยอันเกิดจากการกระทําของ บุคคลโดยไม่มีอํานาจอันถือได้ว่าเป็นการกระทําที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งก็ได้
2. ภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ภยันตรายที่ใกล้จะถึงนี้มีความหมายอยู่ในตัว ว่าไม่จําเป็นที่จะต้องให้ภัยนั้นเกิดขึ้นแก่ตัวผู้ที่จะต้องประสบเสียก่อน การป้องกันเป็นการกระทําเพื่อมิให้ภัยนั้น เกิดขึ้นจริงแก่ผู้ต้องประสบภัยตามที่ผู้ก่อภัยประสงค์จะกระทํา กล่าวคือ ถ้าไม่กระทําการป้องกันเสียแต่ขณะใด ภัยอาจเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมป้องกันได้ตั้งแต่ขณะนั้น
3. ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายนั้น
“จําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น” คําว่า สิทธิ หมายความถึง ประโยชน์อันบุคคลมีอยู่โดยกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ สิทธินี้อาจจะเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน เสรีภาพ หรือเกียรติยศชื่อเสียงก็ได้ เพราะบุคคลย่อมมีสิทธิในอันจะไม่ให้ผู้ใดมาละเมิดในสิ่งดังกล่าวของตน
“พ้นจากภยันตราย” หมายความว่า เมื่อมีผู้ก่อภัยขึ้น ผู้ประสบภัยชอบที่จะกระทําการ ป้องกันเพื่อให้ภัยนั้นพ้นจากตัวผู้ประสบภัย เช่น ดําเสื้อมีดจะฟันแดง แดงจึงใช้ไม้ตีที่ข้อมือดํา เพื่อให้มีดหลุดจากมือ ดังนี้ การที่แดงใช้ไม้ตีข้อมือดํา ก็เพื่อให้ภัยที่ก่อขึ้นพ้นไปจากตัวแดง
อย่างไรก็ดี ตามหลักเกณฑ์ข้อ 3. ดังกล่าว มีข้อยกเว้นอยู่ 3 ประการที่ผู้กระทําจะอ้างป้องกันไม่ได้ คือ
1) ผู้ที่เป็นต้นเหตุของภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย
2) ผู้ที่สมัครใจวิวาทต่อสู้กัน
3) ผู้ที่สมัครใจยินยอมให้ผู้อื่นกระทําความผิดต่อตน และอ้างว่าจําต้องกระทําต่อผู้อื่นเพื่อป้องกันตนเองไม่ได้
4) ต้องได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการคือ
1) ผู้ป้องกันได้ป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายนั้นด้วยวิถีทางที่ น้อยที่สุดเท่าที่จําต้องกระทํา เช่น ดําเป็นง่อยไปไหนไม่ได้ แดงจึงเขกศีรษะดําเล่น โดยเห็นว่าดําไม่มีทางกระทําตอบได้ ดําห้ามปรามเท่าใดแดงก็ไม่เชื่อฟัง ถ้าการที่ดําจะป้องกันมิให้แดงเขกศีรษะมีวิธีเดียวคือ ใช้มีดแทงแดง ต้องถือว่าการที่ดําใช้มีดแทงแดงนี้เป็นการกระทําพอสมควรแก่เหตุเพราะเป็นวิธีทางน้อยที่สุดที่จะป้องกันได้
2) ผู้ป้องกันได้กระทําการป้องกันโดยได้สัดส่วนกับภยันตราย ให้พิจารณาว่าอันตราย ที่จะบังเกิดขึ้นถ้าหากจะไม่ป้องกันจะได้สัดส่วนกับอันตรายที่ผู้กระทําได้กระทําเนื่องจากการป้องกันนั้นหรือไม่ เช่น คนเขาจะตบหน้าเราเราจะใช้มีดแทงเขาตายไม่ได้ เพราะความเจ็บอันเนื่องจากการถูกตบหน้า เมื่อมาเทียบกับ ความตายแล้วไม่ได้สัดส่วนกัน ฉะนั้นจึงถือว่าการเอามีดแทงเขาตายนี้เป็นการกระทําไปเกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่มีอํานาจทําได้
ข้อ 3. วรชัยวิ่งไล่จับสุนัขของตนที่วิ่งหนีออกจากบ้านวรชัย วรชัยวิ่งไปชนเด็กชายตุ้มบุตรของโตล้มลงได้รับบาดเจ็บ วรชัยยังวิ่งตามสุนัขต่อไป โตเห็นบุตรของตนได้รับบาดเจ็บจึงวิ่งไล่ตามวรชัย พอทันกัน โตชักมีดออกแทงวรชัย วีรชนบุตรวรชัยเห็นโตใช้มีดแทงวรชัยจึงใช้ไม้ตีไปที่โต ต่อน้องชายโตอยู่ในเหตุการณ์เห็นวีรชนเงื้อไม้ขึ้นตีโต จึงเข้าไปผลักวีรชนล้มลงได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ วรชัย วีรชน โต และต่อ ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ และจะอ้างเหตุตามกฎหมายอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงได้บ้าง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคแรก วรรคสองและวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่ หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น โดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”
มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทํา ความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วรชัย วีรชน โต และต่อ จะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ และจะอ้างเหตุ เพื่อไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงได้อย่างไรหรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
กรณีของวรชัย
การที่วรชัยวิ่งไล่จับสุนัขของตน แล้วไปชนถูกเด็กชายตุ้มบุตรของโตล้มลงได้รับบาดเจ็บนั้น วรชัยไม่ได้กระทําโดยเจตนา แต่ได้กระทําไปโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ แต่วรชัยหาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ จึงถือว่าวรชัยได้กระทําต่อเด็กชายตุ้มโดยประมาท ตามมาตรา 59 วรรคสี่ และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก
กรณีของโต
การที่โตเห็นบุตรของตนถูกวรชัยวิ่งชนจนได้รับบาดเจ็บ จึงได้วิ่งไล่ตามวรชัยจนทันแล้วชักมีดแทง วรชัยนั้น ถือว่าโตได้กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันโตประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของโตจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง โตจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโตได้กระทําไปเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และได้กระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงไปในขณะนั้น จึงถือว่าโตได้กระทําความผิดเพราะเหตุบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษโต น้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตามมาตรา 72 โดยโตจะอ้างว่าตนได้กระทําโดยเป็นการ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 68 ไม่ได้ เพราะภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว
กรณีของวีรชน
การที่วีรชนบุตรของวรชัยเห็นโตแทงวรชัยบิดา จึงใช้ไม้ตีไปที่โต ถือว่าเป็นการที่วีรชนได้กระทํา ต่อโตโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกัน วีรชนประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น วีรชนจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก
และกรณีดังกล่าววีรชนจะอ้างว่าการกระทําของตนเป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบ ด้วยกฎหมายเพื่อไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 ไม่ได้ เพราะการกระทําที่เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นนั้น ผู้อื่นต้องมีสิทธิป้องกันตนเองได้อยู่แล้ว แต่กรณีของวรชัยนั้น วรชัยได้ก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นโดยประมาท วรชัยจึงไม่มีสิทธิป้องกันตนเอง แต่วีรชนสามารถอ้างได้ว่าตนได้กระทําความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67(2) เพื่อไม่ต้องรับโทษ เพราะเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น โดยวิธีอื่นใดได้และเป็นภยันตรายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น
กรณีของต่อ
การที่ต่อน้องชายของโต เห็นวีรชนเงื้อไม้ขึ้นตีโต จึงเข้าไปผลักวีรชนล้มลงได้รับบาดเจ็บนั้น ถือว่าต่อได้กระทําต่อวีรชนโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันต่อก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ต่อจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก
และกรณีดังกล่าว ต่อจะอ้างว่าการกระทําของตน เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบ ด้วยกฎหมายเพื่อไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 ไม่ได้ เพราะโตได้ก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นโดยเจตนา โตจึงไม่มีสิทธิป้องกันตนเอง (เช่นเดียวกับกรณีของวรชัย) แต่ต่อสามารถอ้างได้ว่าตนได้กระทําความผิด ด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67(2) เพื่อไม่ต้องรับโทษ (เช่นเดียวกับกรณีของวีรชน)
สรุป
วรชัยต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคแรก ประกอบวรรคสี่
วีรชนต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทําโดยเจตนา แต่ไม่ต้องรับโทษ เพราะได้กระทํา ความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67
โตต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทําโดยเจตนา แต่จะรับโทษน้อยลง เพราะได้กระทํา ความผิดเพราะเหตุบันดาลโทสะตามมาตรา 72
ต่อต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทําโดยเจตนา แต่ไม่ต้องรับโทษ เพราะได้กระทํา ความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67
ข้อ 4. สมยศต้องการฆ่าสมทรง สมยศจ้างสมเดชให้ไปจ้างหาญให้ไปฆ่าสมทรง ก่อนที่สมเดชจะไปจ้างหาญ สมยศเปลี่ยนใจไม่อยากฆ่าสมทรง จึงบอกเลิกการจ้างต่อสมเดช แต่สมเดชต้องการให้สมทรงตาย สมเดชจึงไปจ้างหาญให้ไปฆ่าสมทรง หาญไม่มีอาวุธ เก่งทราบว่า หาญจะไปฆ่าสมทรงแต่ไม่มีอาวุธปืน เก่งจึงให้หาญยืมอาวุธปืน ก่อนที่หาญจะไปฆ่าสมทรง สมเดชเกิดความกลัวว่าจะถูกจับด้วยหากหาญ ซัดทอด สมเดชจึงบอกเลิกการจ้างต่อหาญ หาญจึงไม่ทําการฆ่าสมทรง ดังนี้ สมยศ สมเดช และเก่ง ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํายังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการ ที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความ สะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สมยศ สมเดช และเก่ง จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ แยก พิจารณาได้ดังนี้คือ
กรณีของสมยศ
การที่สมยศต้องการฆ่าสมทรง สมยศจ้างสมเดชให้ไปจ้างหาญให้ไปฆ่าสมทรง แต่ก่อนที่สมเดช จะไปจ้างหาญ สมยศเปลี่ยนใจไม่อยากฆ่าสมทรง จึงบอกเลิกการจ้างต่อสมเดชนั้น ถือว่าสมยศไม่ต้องรับผิดต่อสมทรง ฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 เพราะความผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 นั้น จะต้องเป็น “การก่อให้ผู้อื่นกระทํา ความผิด” แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์สมยศเพียงแต่จ้างสมเดชให้ไปจ้างหาญให้ไปฆ่าสมทรงไม่ได้จ้างให้สมเดช ไปฆ่าสมทรง ดังนั้นสมเดชจึงมิใช่ “ผู้อื่น” ตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 84 และแม้ว่าต่อมาสมเดช จะได้ไปจ้างหาญให้ไปฆ่าสมทรง การกระทําของสมเดชก็ไม่ถือว่าเป็นเพราะการใช้ของสมยศ เพราะสมยศได้บอกเลิก การจ้างต่อสมเดชแล้วนั่นเอง
กรณีของสมเดช
การที่สมเดชต้องการให้สมทรงตาย สมเดชจึงไปจ้างหาญให้ไปฆ่าสมทรงนั้น ถือว่าเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิด สมเดชจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคแรก แต่เมื่อความผิดที่ใช้ยังมิได้กระทําลงเพราะสมเดชได้บอกเลิกการจ้างต่อหาญ หาญจึงไม่ทําการฆ่าสมทรง สมเดชจึงต้องรับโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นตามมาตรา 84 วรรคสอง
กรณีของเก่ง
การที่เก่งให้หาญยืมอาวุธปืนนั้น ถึงแม้จะเป็นการกระทําอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก แก่ผู้อื่นในการกระทําความผิด แต่เมื่อปรากฏว่าหาญยังไม่ได้ลงมือกระทําความผิด เก่งจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็น ผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
สรุป
สมยศไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้
สมเดชต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ โดยรับโทษ 1 ใน 3 ตามมาตรา 84
เก่งไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุน