การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายหนึ่งนําบ้านและที่ดินของตนไปขายให้นายสองในราคา 1 ล้านบาท แต่นายสองไม่มีเงินสดครบ 1 ล้านบาท จึงตกลงกันว่าให้นายสองผ่อนชําระให้เดือนละ 1 แสนบาท เมื่อครบ 1 ล้านบาท นายหนึ่งก็จะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้ เมื่อนายสองผ่อนไปได้ 2 งวด นายไก่ได้มาขอซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าวในราคา 2 ล้านบาท โดย ไม่ทราบเลยว่านายหนึ่งได้ขายให้นายสองไปแล้ว นายหนึ่งได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายบ้าน และที่ดินให้นายไก่ และนายไก่ก็ได้ชําระราคาครบถ้วนพร้อมทั้งได้รับมอบบ้านและที่ดินไปเรียบร้อย แล้ว ดังนี้
1) สัญญาระหว่างนายหนึ่งและนายสองเป็นสัญญาประเภทไหนและมีผลในทางกฎหมายอย่างไร นายสองจะฟ้องให้นายหนึ่งรับผิดชอบว่าผิดสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
2) สัญญาระหว่างนายหนึ่งและนายไก่เป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน และมีผลในทางกฎหมาย
อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ สัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
วินิจฉัย
“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขาย ที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชําระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคํานึงว่าในขณะที่ ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชําระราคากันแล้วหรือไม่
“สัญญาจะซื้อขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่ คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทําตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไปทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง
และสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคแรก ประกอบมาตรา 453 ส่วนสัญญาจะซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้นกฎหมายมิได้กําหนดแบบไว้แต่อย่างใดเพียงแต่ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณี ที่จะมีการฟ้องร้องบังคับคดีกัน จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
1. จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ
2. มีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือ
3. มีการชําระหนี้บางส่วน
1) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งนําบ้านและที่ดินของตนไปขายให้นายสองในราคา 1 ล้านบาท โดยนายหนึ่งและนายสองตกลงกันว่าให้นายสองผ่อนชําระให้เดือนละ 1 แสนบาท เมื่อครบ 1 ล้านบาท นายหนึ่งก็จะไปโอนกรรมสิทธิ์ให้นั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายหนึ่งและนายสอง เป็นสัญญาจะซื้อขาย (จะซื้อจะขาย) อสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นสัญญาที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันเมื่อได้ ไปกระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไปทําเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั่นเอง และสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ แม้จะตกลงกันด้วยวาจา เพราะ ในทางกฎหมายนั้น สัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่นายหนึ่งได้นําบ้านและที่ดินดังกล่าวไปทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนขาย ให้แก่นายไก่ นายสองจะฟ้องให้นายหนึ่งรับผิดชอบว่าผิดสัญญาได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามอุทาหรณ์ สัญญาจะซื้อขาย บ้านและที่ดินระหว่างนายหนึ่งและนายสองนั้น แม้จะมิได้ทําเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ นายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดก็ตาม สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และเมื่อตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่าสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันตามมาตรา 456 วรรคสอง คือ ได้มีการ ชําระหนี้บางส่วนโดยนายสองได้ชําระราคามาได้ 2 งวด เป็นเงิน 2 แสนบาทแล้ว ดังนั้น เมื่อนายหนึ่งผิดสัญญา ได้นําบ้านและที่ดินไปขายให้แก่นายไก่ นายสองจึงสามารถฟ้องนายหนึ่งให้รับผิดชอบเพราะผิดสัญญาได้
2) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งและนายไก่ได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์กันนั้น ทั้งสองได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเพียงครั้งเดียวและเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดย ไม่มีข้อตกลงกันว่าจะไปกระทําตามแบบพิธีใด ๆ ในภายหน้า ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและนายไก่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และเมื่อคู่กรณีได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายที่สมบูรณ์ เพราะปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 456 วรรคแรก
สรุป
1) สัญญาระหว่างนายหนึ่งและนายสองเป็นสัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย นายสองจะฟ้องให้นายหนึ่งรับผิดชอบว่าผิดสัญญาได้
2) สัญญาระหว่างนายหนึ่งและนายไก่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ข้อ 2. นายสามตกลงซื้อรถยนต์จากนายสี่ซึ่งเป็นเพื่อนกันในราคามิตรภาพ และยังเป็นรถใหม่ป้ายแดงในราคา 1 ล้านบาท มีการส่งมอบและชําระราคาเรียบร้อย แต่เมื่อนายสามนํารถยนต์ไปใช้งาน ปรากฏว่าบางวันสตาร์ทไม่ติด ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง นายสามจะฟ้องให้นายสี่รับผิดในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อนายสามแจ้งให้นายสี่ รับผิดชอบ นายสี่ปฏิเสธและอ้างว่าตนก็ไม่เคยทราบมาก่อนเช่นกันถึงเหตุดังกล่าว
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุ ให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”
วินิจฉัย
ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ไม่ว่าผู้ขายจะได้รู้หรือไม่รู้ว่าทรัพย์สินที่ขายนั้นมีความ ชํารุดบกพร่องอยู่
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสามได้ตกลงซื้อรถยนต์จากนายสี่ซึ่งเป็นรถใหม่ป้ายแดง โดยมี การส่งมอบและชําระราคาเรียบร้อยแล้ว และเมื่อนายสามได้นํารถยนต์ไปใช้งานปรากฏว่าบางวันสตาร์ทไม่ติด ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงนั้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่าทรัพย์สินที่ขายนั้นมีความชํารุดบกพร่อง เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติแล้ว ดังนั้น นายสี่ผู้ขายจึงต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องที่ เกิดขึ้นนั้น และนายสี่จะปฏิเสธและอ้างว่าตนก็ไม่เคยทราบมาก่อนเช่นกันถึงเหตุดังกล่าวไม่ได้
สรุป นายสามสามารถฟ้องให้นายสี่รับผิดในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้
ข้อ 3. นายห้านําบ้านและที่ดินของตนที่ปลูกไว้ริมแม่น้ําในจังหวัดเชียงราย ไปทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายหกในราคา 1 ล้านบาท ไถ่คืนภายในกําหนด 1 ปี ในราคาเดิมบวก ประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 5 เดือน เกิดแผ่นดินไหว ทําให้บ้านบางส่วนพังทลายลงแม่น้ำไป นายห้ามา ขอไถ่บ้านและที่ดินคืน โดยจะชําระสินไถ่เพียง 8 แสนบาท เพราะบ้านและที่ดินพังไปบางส่วน และเรียกค่าเสียหายจากนายหกอีก 3 แสนบาท ในความเสียหายของบ้าน นายหกปฏิเสธทั้ง 2 ข้อ และยืนยันว่า อยากไถ่คืนต้องเป็นไปตามสัญญา ดังนี้ การปฏิเสธของนายหกรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคแรก “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”
มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมี ข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”
มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กําหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกิน อัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”
มาตรา 501 “ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่า ทรัพย์สินนั้นถูกทําลายหรือทําให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายห้าได้นําบ้านและที่ดินของตนไปขายฝากไว้กับนายหกในราคา 1 ล้านบาท มีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ในราคา 1 ล้านบาทบวกประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์นั้น เมื่อสัญญาขายฝาก ดังกล่าวได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากระหว่างนายห้าและนายหกจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก
ดังนั้น ถ้านายห้ามาใช้สิทธิขอไถ่บ้านและ ที่ดินคืน นายห้าจึงต้องใช้เงิน 1 ล้านบาท บวกประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา เพราะสินไถ่ตามที่กําหนดไว้ในสัญญานั้นไม่เกินหรือสูงกว่าที่กฎหมายได้กําหนดไว้ (มาตรา 499)
และจากข้อเท็จจริง การที่บ้านซึ่งนายหกรับซื้อฝากไว้ได้พังทลายลงแม่น้ำไปบางส่วนนั้น เป็นเพราะเกิดแผ่นดินไหวมิได้เกิดจากความผิดของนายหกแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่พ้นวิสัยที่จะป้องกันได้ ดังนั้น เมื่อนายห้ามาใช้สิทธิขอไถ่บ้านและที่ดินคืนก็ต้องไถ่คืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ และต้องใช้สินไถ่ 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นบาทถ้วน จะชําระสินไถ่เพียง 8 แสนบาทไม่ได้ และจะเรียกค่าเสียหายจาก นายหกอีก 3 แสนบาทก็ไม่ได้เช่นกัน (มาตรา 501) ดังนั้น การปฏิเสธของนายหกจึงรับฟังได้ทั้ง 2 กรณี
สรุป การปฏิเสธของนายหกรับฟังได้ทั้ง 2 กรณี