การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเอกได้โทรศัพท์ไปสั่งซื้อวัวมีตั๋วรูปพรรณจากนายโทตัวหนึ่งตกลงราคาซื้อขายกัน 20,000 บาท
โดยนายเอกและนายโทต่างรู้ความมุ่งหมายของกันและกันว่า นายเอกจะซื้อวัวไปเพื่อทําลูกชิ้นเนื้อ ขายที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของตน ในวันรุ่งขึ้น นายโทได้นําวัวมาส่งให้นายเอก นายเอกจึงได้รับปากนายโท ว่าจะชําระเงินจํานวน 20,000 บาท ให้ภายใน 7 วัน ครั้นเวลาได้ล่วงเลยไปกว่า 30 วัน นายโทก็ยัง ไม่ได้รับเงินจํานวนดังกล่าวจากนายเอกแต่อย่างใด

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกให้นายเอกชําระราคาวัวให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 453 “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”

มาตรา 456 “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกัน เป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้โทรศัพท์ไปสั่งซื้อวัวมีตั๋วรูปพรรณจากนายโทตัวหนึ่งตกลงราคา ซื้อขายกัน 20,000 บาทนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเอกและนายโทต่างรู้ความมุ่งหมายของกันและกันว่านายเอก จะซื้อวัวไปเพื่อทําลูกชิ้นเนื้อขายที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของตน ดังนี้ย่อมถือว่าสัญญาซื้อขายระหว่างนายเอกและนายโทนั้น เป็นการตกลงซื้อขายทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไปมิใช่การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เพราะ มิใช่การซื้อขายวัวในลักษณะที่จะนําไปใช้แรงงานแต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาซื้อขายวัวดังกล่าวระหว่างนายเอกและ นายโทจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดานั้น ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด (มาตรา 453 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก)

การที่นายโทได้นําวัวมาส่งให้นายเอกและนายเอกตกลงว่าจะชําระเงินให้แก่นายโทภายใน 7 วัน แต่เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปกว่า 30 วัน นายเอกก็ยังไม่ชําระนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ระหว่างนายเอกและ นายโทนั้น เป็นการตกลงซื้อขายกันเป็นราคา 20,000 บาท และการที่นายโทได้นําวัวมาส่งมอบให้แก่นายเอกนั้น ถือว่าเป็นการชําระหนี้บางส่วน เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ดังนั้น นายโท ย่อมสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกให้นายเอกชําระราคาวัวให้แก่ตนได้ (ตามมาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม)

สรุป นายโทสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกให้นายเอกชําระราคาวัวให้แก่ตนได้

 

ข้อ 2. นายหนึ่งเป็นคนชอบสะสม ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง โบราณอย่างมากจึงสะสมไว้มากมายจนไม่มีสถานที่
จะเก็บรักษา จึงนําตู้จํานวน 10 ชุด ออกขายทอดตลาด โดยในการขายทอดตลาด นายหนึ่งประกาศ ให้ผู้เข้าสู้ราคาหรือผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด ทราบว่าในการขายครั้งนี้หากทรัพย์สินซื้อไปนั้น เกิดความชํารุดบกพร่องอย่างใด ๆ ขึ้น นายหนึ่งผู้ขายจะไม่รับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่นายหนึ่งทราบดีว่า ตู้บางตู้ไม้ผุ หรือบางส่วนชํารุดบกพร่อง ต่อมานายสองประมูลซื้อตู้ไป 3 ชุด เมื่อรับมอบไปแล้วจึง ทราบว่าไม้บางชิ้นถูกปลวกกิน บางชิ้นส่วนหลุดร่วง จึงเรียกให้นายหนึ่งรับผิดชอบ แต่นายหนึ่ง ปฏิเสธไม่รับผิด คําปฏิเสธและคําบอกกล่าวก่อนขายของนายหนึ่งรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

มาตรา 483 “คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่อง หรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้”

มาตรา 485 “ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการ อันผู้ขายได้กระทําไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย”

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา

อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้นําตู้จํานวน 10 ชุด ออกขายทอดตลาด และในการขาย ทอดตลาดนั้น นายหนึ่งประกาศให้ผู้เข้าสู้ราคาหรือผู้ซื้อทราบว่าในการขายครั้งนี้หากทรัพย์สินที่ซื้อไปนั้นเกิด ความชํารุดบกพร่องอย่างใด ๆ ขึ้น นายหนึ่งผู้ขายจะไม่รับผิดชอบ กรณีเช่นนี้โดยหลักแล้วนายหนึ่งย่อมมีสิทธิตกลง กับผู้เข้าสู้ราคาหรือผู้ซื้อได้ตามมาตรา 483 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนึ่งได้ทราบดีอยู่แล้วว่า ตู้บางตู้ไม้ผุ หรือบางส่วนชํารุดบกพร่อง จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 485 ที่ว่า ข้อสัญญาว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดนั้น ไม่อาจคุ้มครองความรับผิดของผู้ขายในผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย ดังนั้นคําบอกกล่าว ก่อนขายของนายหนึ่งจึงรับฟังไม่ได้

ส่วนกรณีที่นายสองได้ประมูลซื้อตู้ไป 3 ชุด และเมื่อรับมอบไปแล้วจึงทราบว่าไม้บางชิ้นถูก ปลวกกิน บางชิ้นส่วนหลุดร่วง ซึ่งถือว่าทรัพย์สินคือตู้ที่นายสองได้ซื้อไปนั้นมีความชํารุดบกพร่องเกิดขึ้นเป็นเหตุให้ ทรัพย์สินนั้นเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ซึ่งโดยหลักแล้วนายหนึ่งผู้ขายจะต้องรับผิด แต่เมื่อปรากฏว่าการซื้อขายทรัพย์สินระหว่างนายสองกับนายหนึ่งนั้นเป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาดจึง เข้าข้อยกเว้นที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิด (มาตรา 472 ประกอบมาตา 473 (3) ดังนั้น การที่นายหนึ่งปฏิเสธไม่รับผิดชอบ ต่อนายสอง คําปฏิเสธของนายหนึ่งจึงรับฟังได้

สรุป คําปฏิเสธของนายหนึ่งรับฟังได้ แต่คําบอกกล่าวก่อนขายของนายหนึ่งรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 3. นายไก่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกด้วยไม้มะค่าทั้งหลัง นายไก่ได้นําบ้านและที่ดินดังกล่าวไปทําเป็น
หนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขายฝากไว้กับนายไข่ ในราคา 1 ล้านบาท มีกําหนดไถ่คืน ภายใน 1 ปี ในราคา 1 ล้านบวกประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนครบกําหนด 1 ปี เกิดพายุฤดูร้อน พัดกระหน่ำทําให้บ้านซึ่งนายไข่รับซื้อฝากไว้พังทลายทั้งหลัง เมื่อนายไก่มาใช้สิทธิขอไถ่บ้านและ ที่ดินคืน เจอสภาพบ้านพังบางส่วน ลมพัดสูญหาย จึงขอไถ่ครึ่งราคา และจะเรียกค่าเสียหายจากนายไข่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรก “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมี ข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กําหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกิน อัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”

มาตรา 501 “ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่า ทรัพย์สินนั้นถูกทําลายหรือทําให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ได้นําบ้านและที่ดินของตนไปขายฝากไว้กับนายไข่ในราคา 1 ล้านบาท มีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ในราคา 1 ล้านบาทบวกประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์นั้น เมื่อสัญญาขายฝาก ดังกล่าวได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากระหว่างนายไก่และนายไข่จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก ดังนั้น ถ้านายไก่มาใช้สิทธิขอไถ่บ้านและ ที่ดินคืน นายไก่จึงต้องใช้เงิน 1 ล้านบาท บวกประโยชน์อีก 15 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา เพราะสินไถ่ตามที่กําหนดไว้ในสัญญานั้นไม่เกินหรือสูงกว่าที่กฎหมายได้กําหนดไว้ (มาตรา 499)

และจากข้อเท็จจริง การที่บ้านซึ่งนายไข่รับซื้อฝากไว้พังทลายทั้งหลังนั้น เป็นเพราะเกิดพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำ มิได้เกิดจากความผิดของนายไข่ผู้รับซื้อฝากแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น โดยจะโทษนายไข่ผู้รับซื้อฝากมิได้ และมิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทําของนายไข่ผู้รับซื้อฝาก แต่เกิดจาก ภัยธรรมชาติและเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น เมื่อนายไก่มาใช้สิทธิขอไถ่บ้านและที่ดินคืน ก็ต้องไถ่คืนตามสภาพที่เป็นอยู่ ในเวลาไถ่ นายไก่จะขอไถ่ครึ่งราคาและจะเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายจากนายไข่ไม่ได้ (มาตรา 501)

สรุป นายไก่จะขอไถ่ครึ่งราคาและจะเรียกค่าเสียหายจากนายไข่ไม่ได้

Advertisement