การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายหนึ่งตกลงขายบ้านและที่ดินให้นายสองในราคา 1 ล้านบาท โดยนายหนึ่งยอมให้นายสอง
ชําระราคาเดือนละ 1 แสนบาท เป็นเวลา 10 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ตกลงทําสัญญากัน เมื่อชําระ ราคาครบ 1 ล้านบาท นายหนึ่งก็จะโอนบ้านและที่ดินให้นายสองที่สํานักงานที่ดิน เมื่อนายสอง ผ่อนไปได้ 5 เดือน นายหนึ่งนําบ้านและที่ดินดังกล่าวไปทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายให้แก่ นายสามในราคา 2 ล้านบาท โดยนายสามไม่ทราบว่านายหนึ่งได้ตกลงขายให้นายสองไปแล้ว
(1) สัญญาซื้อขายบ้านเละที่ดินระหว่างนายหนึ่งและนายสอง นายหนึ่งและนายสาม เป็นสัญญา
ซื้อขายประเภทใด
(2) นายสองจะฟ้องนายหนึ่งว่าผิดสัญญาที่ทําไว้ด้วยกันได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ สัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
วินิจฉัย
“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขาย ที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชําระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคํานึงว่าในขณะที่ ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชําระราคากันแล้วหรือไม่
“สัญญาจะซื้อขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่ คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมี การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทําตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไปทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง
และสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น จะต้องทําเป็น หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 455 ส่วนสัญญาจะซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้นกฎหมายมิได้กําหนดแบบไว้แต่อย่างใดเพียงแต่ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณี ที่จะมีการฟ้องร้องบังคับคดีกัน จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
1. จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ
2. มีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือ
3. มีการชําระหนี้บางส่วน
(1) สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายหนึ่งและนายสอง นายหนึ่งและนายสาม เป็นสัญญา ซื้อขายประเภทใด แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 สัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและนายสอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งตกลงขายบ้านและที่ดินให้นายสองในราคา 1 ล้านบาท โดยนายหนึ่งยอมให้นายสองชําระราคาเดือนละ 1 แสนบาท เป็นเวลา 10 เดือน และเมื่อชําระครบ 1 ล้านบาท นายหนึ่งก็จะไปทําการโอนให้แก่นายสองนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างนายหนึ่งและ นายสองเป็นสัญญาจะซื้อขาย (จะซื้อจะขาย) อสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นสัญญาที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ให้แก่กันเมื่อได้ไปกระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไปทําเป็นหนังสือสัญญาซื้อขาย และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั่นเอง และสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ แม้จะตกลงกัน ด้วยวาจา เพราะในทางกฎหมายนั้น สัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบแต่อย่างใด
1. สัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและนายสาม
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งและนายสามได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์กันนั้น ทั้งสองได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเพียงครั้งเดียวและเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีข้อตกลงกันว่าจะไปกระทําตามแบบพิธีใด ๆ ในภายหน้า ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและนายสาม จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และเมื่อคู่กรณีได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายที่สมบูรณ์ เพราะปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง
(1) นายสองจะฟ้องนายหนึ่งว่าผิดสัญญาได้หรือไม่ เห็นว่า ตามอุทาหรณ์ สัญญาจะซื้อขายบ้านและ ที่ดินระหว่างนายหนึ่งและนายสองนั้น แม้จะมิได้ทําเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายหนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดก็ตาม สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และเมื่อตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่าสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันตามมาตรา 456 วรรคสอง คือ ได้มีการชําระหนี้บางส่วนโดยนายสองได้ชําระราคามาได้ 5 เดือน เป็นเงิน 5 แสนบาทแล้ว ดังนั้น เมื่อนายหนึ่งผิดสัญญา ได้นําบ้านและที่ดินไปขายให้แก่นายสาม นายสองจึงสามารถฟ้องนายหนึ่งว่าผิดสัญญาได้
สรุป
(1) สัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและนายสองเป็นสัญญาจะซื้อขายและมีผลสมบูรณ์
ตามกฎหมาย ส่วนสัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและนายสามเป็นสัญญาซื้อขาย
เสร็จเด็ดขาดและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายเช่นกัน
(2) นายสองสามารถฟ้องนายหนึ่งว่าผิดสัญญาที่ทําไว้ต่อกันได้
ข้อ 2. นายห้าเป็นนักสะสมรถยนต์โบราณได้คัดเลือกรถยนต์ที่สะสมไว้ 5 คัน ออกขายทอดตลาดโดยนายห้าทราบดีว่า 1 ใน 5 ชํารุดบกพร่องคือเบรกไม่ค่อยดี และอีกคันหนึ่งเป็นรถยนต์ที่มีการขโมยมาขายให้แก่ตน หลังการขายทอดตลาดนายดําได้รถยนต์คันที่เบรกไม่ดีไป และนายแดงได้รถยนต์คัน ที่มีคนขโมยมาขายให้นายห้า นายดําและนายแดงมาทราบภายหลังการส่งมอบและชําระราคาแล้ว เพราะเบรกชํารุดบกพร่องชัดเจนขึ้น และนายไก่มาติดตามเอารถยนต์ของตนที่ถูกขโมยคืน ดังนี้
(1) นายดําจะฟ้องให้นายห้ารับผิดว่ารถยนต์ที่ตนซื้อมาชํารุดบกพร่องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายแดงจะฟ้องให้นายห้ารับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่” มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”
มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สิน โดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”
วินิจฉัย
ความรับผิดในความชํารุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิด ถ้าทรัพย์สินที่ขายชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ
อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ไม่จําต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น
ส่วนการรอนสิทธินั้นเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ใน เวลาซื้อขายได้เข้ามาขัดสิทธิทําให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สินโดยปกติสุขได้ ซึ่งตามมาตรา 475 กําหนดให้ ผู้ขายต้องรับผิดเพราะเหตุการณ์รอนสิทธินั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) การที่นายดําได้ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของนายห้ามา 1 คัน และมาทราบ ในภายหลังว่าเบรกไม่ดีนั้น กรณีนี้ถือว่ามีความชํารุดบกพร่องเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่นายดําซื้อมาอันเป็นเหตุให้ ทรัพย์สินนั้นเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ โดยหลักแล้วนายห้าผู้ขายจะต้องรับผิดใน ความชํารุดบกพร่องนั้นตามมาตรา 472
แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้นายห้าจะต้องรับผิดต่อนายดําเพื่อความชํารุดบกพร่องนั้น แต่เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่นายดําซื้อมานั้นเป็นการซื้อมาจากการขายทอดตลาด จึงเข้าข้อยกเว้นที่นายห้าผู้ขายไม่ต้อง รับผิดในความชํารุดบกพร่องตามมาตรา 473 (3) ดังนั้น นายดําจะฟ้องนายห้าให้รับผิดในความชํารุดบกพร่อง ที่เกิดขึ้นไม่ได้
(2) การที่นายแดงได้ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดจากนายห้ามา 1 คัน แต่เมื่อภายหลังการส่งมอบและชําระราคาแล้ว นายแดงมาทราบว่ารถยนต์ที่ตนซื้อมานั้นเป็นรถยนต์ที่มีการขโมยมาขาย ให้แก่นายห้า เพราะได้มีนายไก่มาติดตามเอารถยนต์ของตนที่ถูกขโมยคืน ดังนี้ถือว่านายแดงผู้ซื้อได้ถูกบุคคลภายนอก ซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขายได้เข้าขัดสิทธิทําให้นายแดงผู้ซื้อไม่สามารถครอบครอง ทรัพย์สินโดยปกติสุข จึงเป็นกรณีที่นายแดงผู้ซื้อถูกรอนสิทธิตามมาตรา 475 ซึ่งนายห้าผู้ขายต้องรับผิด ดังนั้น นายแดงย่อมสามารถฟ้องให้นายห้ารับผิดต่อตนในกรณีถูกรอนสิทธิได้
สรุป
(1) นายดําจะฟ้องให้นายห้ารับผิดในความชํารุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้
(2) นายแดงสามารถฟ้องให้นายห้ารับผิดในกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้
ข้อ 3. นายหกนํานาฬิกาข้อมือยี่ห้อดังของตนมูลค่า 1 ล้านบาท ไปขายฝากนายเจ็ดไว้ในราคา 1 แสนบาท มีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีกสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ต่อมาหลังจากขายฝาก ได้ 1 เดือน นายแปดขอซื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าวจากนายเจ็ดในราคา 3 แสนบาท ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็น นาฬิกาที่นายหกนํามาขายฝากนายเจ็ดไว้ ก่อนครบ 1 ปี นายหกมาขอไถ่คืนจากนายแปด พร้อมเงิน 1 แสน 1 หมื่น 5 พันบาทถ้วน นายแปดปฏิเสธไม่ให้ไถ่โดยอ้างว่าตนไม่ใช่คู่สัญญาไม่มีหน้าที่ต้องรับไถ่ ถ้าหากไถ่ก็ต้องนําสินไถ่มาไถ่ 3 แสนบาท เท่ากับราคาที่ตนซื้อมา ดังนี้ คําปฏิเสธคําเสนอของนายแปด รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”
มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย”
มาตรา 498 “สิทธิ์ในการไถ่ทรัพย์สินนั้นจะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ
(2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอนว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน”
มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กําหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริง เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหกได้นํานาฬิกาข้อมือไปขายฝากไว้กับนายเจ็ดในราคา 1 แสนบาท มีกําหนดไถ่คืนภายใน 1 ปีนั้น ถือว่ากําหนดเวลาไถ่ไม่เกินกว่าเวลาตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้ตามมาตรา 494 (2) และการที่นายหกได้ตกลงกับนายเจ็ดว่า เวลาไถ่ให้ใช้สินไถ่ในราคาเดิมบวกประโยชน์ตอบแทนอีก 15 เปอร์เซ็นต์นั้น ข้อตกลงดังกล่าวถือว่าชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 499 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อนายหกจะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สิน จึงต้องไถ่ภายในกําหนด 1 ปี และต้องใช้สินไถ่ 1 แสนบาท รวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี รวมเป็นเงิน 1 แสน 1 หมื่น 5 พันบาท
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากขายฝากได้ 1 เดือน นายเจ็ดได้ขายนาฬิกาเรือนดังกล่าว ให้แก่นายแปดในราคา 3 แสนบาท ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นนาฬิกาที่นายหกนํามาขายฝากไว้กับนายเจ็ด ดังนั้น เมื่อนายหก ได้มาขอไถ่นาฬิกาคืนจากนายแปดก่อนครบกําหนด 1 ปี พร้อมเงิน 1 แสน 1 หมื่น 5 พันบาทถ้วนนั้น นายแปด ในฐานะเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินและได้รู้ในเวลาโอนว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน จึงต้องยอมให้ นายหกใช้สิทธิไถ่คืนตามมาตรา 498
(2) จะปฏิเสธไม่ให้นายหกไถ่โดยอ้างว่าตนไม่ใช่คู่สัญญาไม่มีหน้าที่ต้องรับไถ่ ไม่ได้ และจะเสนอว่าถ้านายหกอยากไถ่ก็ต้องนําสินไถ่มาไถ่ 3 แสนบาท เท่ากับราคาที่ตนซื้อมาก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะนายหกมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้ในราคา 1 แสนบาท พร้อมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี รวมเป็นเงิน 1 แสน 1 หมื่น 5 พันบาทถ้วน ตามมาตรา 499 วรรคสอง
สรุป คําปฏิเสธและคําเสนอของนายแปดดังกล่าวรับฟังไม่ได้