ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต (มาตรา 157)
ธงคำตอบ
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ
อธิบาย
มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดอยู่ 2 ความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
(ก) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4 โดยเจตนา
เป็นเจ้าพนักงาน หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมายถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ เป็นต้น
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมายถึง การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่ ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 นี้
ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทำ “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว
โดยเจตนา หมายความว่า ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ
(ข) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่
3 โดยทุจริต
4 โดยเจตนา
โดยทุจริต หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็น
ความผิดตามมาตรานี้
ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด
ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง เป็นต้น
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว มิได้นำเงินลงบัญชี ทั้งมิได้ดำเนินการให้ ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ข้อ 2 นายแดงผู้เดียวลักทรัพย์นายดำ นายดำจึงฟ้องนายแดง แต่แทนที่จะฟ้องนายแดงว่าลักทรัพย์กลับฟ้องว่านายแดงกับพวกปล้นทรัพย์ ในชั้นพิจารณา นายดำได้อ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความต่อศาลว่า นายแดงกับพวกปล้นทรัพย์ของตน ดังนี้ นายดำมีความผิดประการใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 175 ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นจริง ต้องระวางโทษ
มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษ
ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นายดำมีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานฟ้องเท็จ ตามมาตรา 175 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 เอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาล
2 ว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง
3 โดยเจตนา
นายแดงผู้เดียวลักทรัพย์นายดำ แต่นายดำกลับฟ้องนายแดงกับพวกต่อศาลว่าปล้นทรัพย์ จึงเป็นการเอาข้อความที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาร้ายแรงกว่าที่เป็นจริง กล่าวคือ ความผิดอาญาฐานปล้นทรัพย์เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ และได้กระทำโดยมีเจตนา นายดำจึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา 175 เพราะการกระทำของนายดำครบองค์ประกอบความผิดตามที่กล่าวไว้ข้างต้นทุกประการ
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า การที่นายดำเบิกความต่อศาลในฐานะพยานว่านายแดงกับพวกปล้นทรัพย์ของตนนั้น จะมีความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลตามมาตรา 177 วรรคสอง ประกอบด้วย
1 เบิกความอันเป็นเท็จ
2 ในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล
3 ความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี
4 โดยเจตนา
การที่นายดำได้อ้างตนเป็นพยานและเข้าเบิกความต่อศาลว่านายแดงกับพวกปล้นทรัพย์ของตน จึงเป็นการให้ถ้อยคำแก่ศาลในการพิจารณาคดีอาญาในฐานะพยาน ซึ่งข้อความที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นการเบิกความอันเป็นเท็จ เมื่อความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะเป็นข้อความที่อาจมีน้ำหนักในการวินิจฉัยคดีของศาลหรือข้อความในประเด็นที่อาจทำให้คดีแพ้หรือชนะและนายดำรู้ว่าความที่จะเบิกนั้นเป็นเท็จด้วย ถือได้ว่ามีเจตนากระทำผิด ดังนั้นนายดำจึงมีความผิดอาญาฐานเบิกความเท็จในคดีอาญาตามมาตรา 177 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่งด้วย
สรุป นายดำมีความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา 175 และมีความผิดฐานเบิกความเท็จคดีอาญาตามมาตรา 177 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง
ข้อ 3 นายเล็กประกอบพิธีขวัญนาคให้บุตรชายซึ่งจะอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น โดยทำพิธีที่บ้านของนายเล็กมีญาติมิตรชาวบ้านซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนมาประชุมกันในพิธีนี้เป็นจำนวนมาก ขณะทำพิธีอยู่นั้นนายใหญ่ซึ่งมีสาเหตุโกรธกับนายเล็ก ต้องการให้พิธีแตก จึงจุดประทัดโยนเข้าไปในที่ประชุมนั้น ทำให้ผู้คนแตกตื่นวุ่นวาย ดังนี้ นายใหญ่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนาประการใดหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 207 ผู้ใดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการหรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนตามมาตรา 207ประกอบด้วย
1 ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชน
2 เวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ
3 โดยชอบด้วยกฎหมาย
4 โดยเจตนา
สำหรับการก่อให้เกิดความวุ่นวายที่จะมีความผิดดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องเกิดในเวลาประชุมกันในเวลานมัสการ หรือในเวลากระทำพิธีกรรมและต้องเป็นเรื่องตามศาสนาด้วย เช่น เวลาสวดมนต์ไหว้พระ เวลาทำพิธีบรรพชาอุปสมบท และไม่จำกัดสถานที่ว่าจะต้องทำในสถานที่ใด อาจจะเป็นในบ้านก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
การที่นายใหญ่จุดประทัดโยนเข้าไปในที่ประชุมทำให้ผู้คนแตกตื่นวุ่นวายนั้น เป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกันหรือกระทำพิธีกรรม แต่เนื่องจากการประกอบพิธีทำขวัญนาคซึ่งจะมีการอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น ไม่ใช่การประชุมหรือพิธีกรรมตามศาสนา แม้ว่าการบวชจะเป็นพิธีทางศาสนา แต่การทำขวัญนาคก็เป็นเพียงประเพณีนิยม ยังไม่ถึงขั้นเป็นพิธีทางศาสนา ดังนั้นแม้นายใหญ่จะกระทำด้วยเจตนาต้องการให้พิธีแตก ก็ไม่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนาตามมาตรา 207 แต่อย่างใด (ฎ.1109/2500)
สรุป นายใหญ่ไม่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา
ข้อ 4 นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย ก วันเกิดเหตุนาย ก นำกระดาษมาแผ่นหนึ่ง เขียนข้อความว่า “นายแดงกู้เงินนาย ก 500,000 บาท” จากนั้น ได้เซ็นชื่อนายแดงในช่องผู้กู้ ต่อมานาย ก ทำเอกสารฉบับนั้นหายไป จำเลยเป็นคนเก็บได้ จำเลยใช้ยางลบลบคำว่า “นาย ก” ออกแล้วเขียนใหม่ว่า “จำเลย” ข้อความจึงกลายเป็นว่า “นายแดงกู้เงินจำเลย 500,000 บาท” ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ
มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
การที่นายแดงไม่เคยกู้ยืมเงินนาย ก เมื่อนาย ก ทำสัญญากู้ขึ้นเองเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม
การที่จำเลยทำการแก้ไขจากคำว่า “นาย ก” เป็นคำว่า “จำเลย” ถึงแม้จำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำก็ตาม แต่การแก้ไขของจำเลยเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่มีการปลอมมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เพราะการที่จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น
เมื่อไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร การที่จำเลยนำเอกสารไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารตามมาตรา 268
สรุป จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก