การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายมกราขายอูฐของตนให้นายกุมภาตัวหนึ่งในราคา 50,000 บาท นายกุมภาตกลงซื้ออูฐตัวดังกล่าวตามราคาที่นายมกราเสนอขาย แต่ทั้งคู่ได้ตกลงกันว่านายมกราจะยังไม่โอนสิทธิในความเป็นเจ้าของอูฐให้นายกุมภาจนกว่านายกุมภาจะผ่อนชำระราคาให้นายมกราเดือนละ10,000 บาท ครบถ้วน ให้ท่านวินิจฉัยว่า กรรมสิทธิ์ในอูฐที่ขาย โอนไปยังนายกุมภาตั้งแต่ขณะเข้าทำสัญญาซื้อขายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 458 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน”

มาตรา 459 “ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไป จนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์นั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมโอนไปเป็นของผู้ซื้อนับตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อกัน (มาตรา 458) โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือมีการชำระราคากันแล้วหรือยัง เว้นแต่ถ้าในสัญญาซื้อขายนั้นมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ดังนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้นสำเร็จแล้วหรือได้ถึงกำหนดเวลานั้นแล้ว (มาตรา 459)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมกราได้ตกลงขายอูฐของตนให้แก่นายกุมภาในราคา 50,000 บาท โดยทั้งคู่ได้ตกลงกันว่านายมกราจะยังไม่โอนสิทธิในความเป็นเจ้าของอูฐให้นายกุมภาจนกว่านายกุมภาจะผ่อนชำระราคาให้นายมกราเดือนละ 10,000 บาท ครบถ้วนนั้น ถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขบังคับไว้ ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันคืออูฐจึงยังไม่โอนไปยังนายกุมภาผู้ซื้อในขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่จะโอนไปก็ต่อเมื่อนายกุมภาได้ชำระราคาอูฐครบถ้วนแล้วตามมาตรา 458 ประกอบมาตรา 459

สรุป

กรรมสิทธิ์ในอูฐที่ขายยังไม่โอนไปยังนายกุมภาตั้งแต่ขณะเข้าทำสัญญาซื้อขายกัน

 

 

ข้อ 2. นายเอกซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของนายโทคันหนึ่ง ภายหลังจากที่ได้รับมอบรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว นายเอกได้นำรถยนต์ออกวางขายที่เต้นที่ขายรถยนต์ของตน ครั้นเมื่อนายตรีได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากเต้นที่ขายรถยนต์ของนายเอกแล้ว นายตรีได้นำรถยนต์เข้าตรวจสภาพที่อู่รถของนายจัตวาจึงทราบว่ารถมีสภาพเครื่องยนต์ชำรุด ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายตรีจะฟ้องคดีให้นายเอกรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องได้หรือไม่ และนายเอกจะฟ้องให้นายโทรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 473 “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพรองของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา 472 นั้น ผู้ขายต้องรับผิดถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่งและต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 เช่น ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตรีซื้อรถยนต์มาจากเต้นที่ขายรถยนต์ของนายเอกและปรากฏว่ารถมีสภาพเครื่องยนต์ชำรุดนั้น ถือว่ามีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่นายตรีซื้อมา อันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันจะมุ่งใช้เป็นปกติ นายเอกผู้ขายจึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น

ตามมาตรา 472 วรรคแรก แม้ว่านายเอกผู้ขายจะไม่รู้ถึงความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก็ตามตามมาตรา 472 วรรคสอง

ดังนั้น นายตรีสามารถฟ้องเป็นคดีให้นายเอกรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องได้ และถึงแม้นายเอกจะต้องรับผิดต่อนายตรีเพื่อความชำรุดบกพร่องดังกล่าวแต่นายเอกก็ไม่อาจฟ้องให้นายโทรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นนั้นได้ เพราะรถยนต์ที่นายเอกซื้อมาจากนายโทนั้น เป็นการซื้อมาจากการขายทอดตลาด จึงเข้าข้อยกเว้นที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องตามมาตรา 473 (3)

สรุป

นายตรีจะฟ้องคดีให้นายเอกรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องได้ แต่นายเอกจะฟ้องให้นายโทรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

 

ข้อ3. นายสันขายฝากกล้องถ่ายภาพกล้องหนึ่งของนายสันไว้กับนายสีในราคา 200,000 บาท แต่รับเงินจริงเพียง 100,000 บาท ไม่ได้กำหนดค่าสินไถ่ กำหนดเวลาไถ่คืนภายในหกเดือน ขายฝากไปได้สองเดือนนายสีได้ขายกล้องตัวนั้นต่อให้นายแสง โดยนายแสงทราบว่ากล้องตัวนั้นเป็นของนายสันที่ขายฝากไว้กับนายสี เมื่อนายแสงรับซื้อกล้องตัวนั้นมาได้หกเดือน นายสันจึงได้นำเงิน 200,000 บาท มาไถ่กล้องนั้นคืนจากนายแสง ให้ท่านอธิบายว่า นายแสงจะปฏิเสธไม่ยอมให้นายสันไถ่กล้องถ่ายภาพตัวนั้นคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้นคือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย”

มาตรา 497 “สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ

(1)  ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ…”

มาตรา 498 “สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้นจะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ

(2)  ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอนว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

มาตรา 499 “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสันได้ขายฝากกล้องถ่ายภาพกล้องหนึ่งซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ไว้กับนายสีและกำหนดเวลาไถ่คืนภายใน 6 เดือนนั้น ถือว่ากำหนดเวลาไถ่ไม่เกินไปกว่ากำหนดเวลาตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ตามมาตรา 494 (2) ดังนั้น เวลาจะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินจึงต้องไถ่ภายในกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา คือภายในกำหนด 6 เดือน

การที่นายสันได้ขายฝากทรัพย์สินดังกล่าวไว้กับนายสีในราคา 200,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง 100,000 บาท และในสัญญาไม่ได้กำหนดค่าสินไถ่ไว้นั้น กรณีนี้ถือว่าราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น เมื่อมีการไถ่ก็ให้ใช้สินไถ่ตามราคาขายฝากที่แท้จริง คือ 100,000 บาท รวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปิตามมาตรา 499 วรรคสอง

และตามข้อเท็จจริง เมื่อมีการขายฝากได้ 2 เดือน นายสีได้ขายกล้องตัวนั้นต่อให้นายแสงโดยที่นายแสงได้ทราบว่ากล้องตัวนั้นเป็นของนายสันที่ขายฝากไว้กับนายสี ดังนั้น เมื่อนายสันซึ่งเป็นผู้ขายเดิมจะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้น ย่อมสามารถใช้สิทธินั้นได้กับนายแสงซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินนั้นเพราะนายแสงได้รู้ในเวลาโอนว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืนตามมาตรา 497 (1) และมาตรา 498 (2)

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายสันได้ใช้สิทธิมาขอไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนจากนายแสง นายสันได้มาขอไถ่คืนหลังจากนายแสงได้ซื้อกล้องตัวนั้นมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งเลยกำหนดเวลาไถ่ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาแล้ว

ดังนั้นนายแสงย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้นายสันไถ่กล้องถ่ายภาพตัวนั้นคืนได้

สรุป

นายแสงสามารถปฏิเสธไม่ยอมให้นายสันไถ่กล้องถ่ายภาพตัวนั้นคืนได้ เพราะเลยกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาแล้ว

Advertisement