การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. การลงคะแนนแสดงประชามติ (Referendum) หมายถึงอะไร และประชามตินั้นอาจมีได้ในกรณีใดบ้างขอให้อธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบโดยละเอียด

ธงคำตอบ

การลงคะแนนแสดงประชามติ หรือ การออกเสียงประชามติ (Referendum) หมายถึง การนำร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญออกให้ประชาชนทั้งประเทศในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ (รับรองหรือไม่รับรอง)โดยวิธีลงคะแนนเสียงซึ่งเป็นวิธีการส่วนหนึ่งของการจัดทำกฎหมาย

ในการลงคะแนนแสดงประชามตินั้น ประชามติอาจมีได้หลายกรณีด้วยกัน คือ

  1. ประชามติก่อนที่สภานิติบัญญัติจะลงมติในร่างกฎหมาย และประชามติภายหลังที่สภานิติบัญญัติได้ลงมติในร่างกฎหมายแล้ว
  2. ประชามติสำหรับร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือสำหรับร่างกฎหมายธรรมดาก็ได้
  3. ประชามติอาจมีลักษณะเป็นการบังคับคือต้องขอให้ราษฎรลงคะแนนเสียงเสมอไปหรืออาจมีลักษณะไม่บังคับ คืออยู่ในดุลพินิจของผู้ประกาศใช้ว่าจะสมควรนำร่างกฎหมายให้ราษฎรลงคะแนนเสียงหรือไม่

สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการออกเสียงประชามติเป็นครั้งแรก คือการลงมติออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ที่ได้บัญญัติให้มีการนำระบบการออกเสียงประชามติมาใช้กับร่างรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550

 

ข้อ 2. จงอธิบายอย่างละเอียดว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับตัวนักศึกษาอย่างไรบ้าง พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญมีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับข้าพเจ้าดังนี้ คือ

“รัฐธรรมนูญ” ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตย และการดำเนินงานของสภาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งอำนาจดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่

  1. อำนาจนิติบัญญัติ หมายถึง อำนาจในการออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน (รวมทั้งข้าพเจ้า) ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

ในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชน (รวมทั้งข้าพเจ้า) นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือกฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

  1. อำนาจบริหารหมายถึง อำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

ในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อำนาจในทางปกครองเพื่อการออกกฎ ออกคำสั่ง รวมทั้งการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอำนาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้

  1. อำนาจตุลาการ หมายถึง อำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจนี้คือ ศาล ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนรวมทั้งข้าพเจ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย

และนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังมีความสำคัญต่อข้าพเจ้าและประชาชนคนอื่น ๆ อีกตรงที่ว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น จะกำหนดเกี่ยวกับขอบเขตตลอดถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของชนชาวไทย เช่น สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพในการศึกษาหรือในการประกอบอาชีพ เป็นต้น รวมทั้งยังกำหนดให้ทราบว่าข้าพเจ้าและประชาชนคนไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยอย่างไรบ้าง

 

ข้อ3. ตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษใครมีอำนาจที่แท้จริงระหว่างสภาสามัญและคณะรัฐมนตรี และเหตุใดระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษไม่นำไปสู่ระบบเผด็จการรัฐสภา จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษนั้น คณะรัฐมนตรีซึ่งมาจากเสียงข้างมากในสภาสามัญจะมีอำนาจที่แท้จริง แม้ว่าแต่เดิมเมื่อศตวรรษที่แล้วจะมินักวิชาการกล่าวว่า

อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงจะอยู่ที่สภาสามัญ คณะรัฐมนตรีเป็นเพียงคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากสภาสามัญ โดยสภาสามัญมิโอกาสที่จะบังคับให้รัฐบาลออกทันทีที่สภาสามัญไม่ไว้วางใจอำนาจของสภาสามัญจึงมีอยู่มาก

แต่ในปัจจุบัน ความเห็นดังกล่าวนั้นจะไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง เพราะปัจจุบันสภาสามัญเป็นเพียงเวทีทางการเมืองของฝ่ายค้านเท่านั้น แต่คณะรัฐมนตรีจะมีเสถียรภาพเป็นอย่างมาก และมีอำนาจทางการเมืองค่อนข้างมาก เพราะเป็นสถาบันที่มีวิธีการที่แท้จริงในการบริหารประเทศ คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่คล้ายกับเป็นผู้นำของสภาสามัญ และในความเป็นจริงคณะรัฐมนตรีเป็นผู้จัดเตรียมร่างกฎหมาย และมีอำนาจเป็นอย่างมากในสภาสามัญ เช่น เรียกประชุมสภา เลื่อนการประชุมสภา การยุบสภา เป็นต้น

และเหตุที่ระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษไม่นำไปสู่ระบบเผด็จการรัฐสภานั้น ก็เนื่องมาจากการเกิดความสมดุลกับระหว่างอำนาจ โดยมีการจำกัดอำนาจทางการเมืองที่มีลักษณะเด่นหรือลักษณะเฉพาะ ได้แก่

(1)     การจำกัดขอบเขตโดยสถาบันทางการเมือง ซึ่งมาจากลักษณะทางจิตใจหรืออุปนิสัยใจคอของคบอังกฤษที่ยึดถือประเพณีของชาวอังกฤษที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ สภาขุนนาง และสถาบันตุลาการ และ

(2)     ความสมดุลระหว่างรัฐบาลเสียงข้างมากกับฝ่ายค้าน โดยเป็นความไว้วางใจกันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากความสมดุลแต่เดิมระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา โดยหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอาจได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาหารือกันในกรณีที่เกิดปัญหาบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาติต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

ข้อ 4. บางแดงมีไข้สูงจึงเข้ารักษาทีโรงพยาบาลจังหวัดน่าน จากนั้น 7 วัน นางแดงถึงแก่ความตาย โดยแพทย์ระบุว่าเนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ (HIV) ต่อมานายดำซึ่งเป็นสามีมีความสงสัยเกี่ยวกับการตาย จึงยื่นคำร้องต่อโรงพยาบาลฯ เพื่อขอสำเนาเวชระเบียนประวัติคนป่วย ซึ่งเป็นเอกสารอาการป่วยของผู้ป่วยและบันทึกการให้การรักษาของแพทย์ ทางโรงพยาบาลฯ มีหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องปกปิดและระเบียบของโรงพยาบาลฯเอกสารเกี่ยวด้วยผู้ป่วยโรคเอดส์ (HIV) จะต้องถูกเก็บไว้เป็นเอกสารลับของทางราชการและนายดำเองก็ไม่ใช่ “บุคคล” ผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะเป็นผู้ร้องขอได้ และการใช้สิทธิของนายดำยังเป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพต่อผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการรักษาตามรัฐธรรมนูญฯ ด้วย รวมทั้งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก็ไม่ได้บัญญัติรับรองให้สิทธิแก่บุคคลที่จะร้องขอในกรณีนี้ได้แต่อย่างใด

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อกล่าวอ้างของโรงพยาบาลฯ สามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 28 วรรคแรก “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอบ ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

มาตรา 56 “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราฃการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่นหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

มาตรา 4 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อพิจารณาประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 28 วรรคแรก และมาตรา 56 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 แล้ว สามารถแยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 สิทธิการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลในการครอบครองของหน่วยราชการถือเป็นสิทธิที่นายดำเคยได้รับการคุ้มครองมาก่อนหน้านี้ตามมาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ดังนั้น จึงย่อมได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นี้ด้วย

ประเด็นที่ 2 เมื่อนางแดงได้ถึงแก่กรรมแล้ว การที่นางแดงจะยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อโรงพยาบาลฯ เพื่อขอสำเนาเวชระเบียนประวัติการรักษาย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ ดังนั้น นายดำผู้ยื่นคำร้องในฐานะสามีตามกฎหมายของนางแดงจึงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ และตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอทราบข้อมูลของนางแดงที่ถึงแก่กรรมได้ ดังนั้นนายดำจึงเป็น “บุคคล” ผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะเป็นผู้ร้องขอข้อมูลในกรณีนี้ได้ตามรัฐธรรมนูญฯพ.ศ. 2550 มาตรา 56 ประกอบรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4

ประเด็นที่ 3 เวชระเบียนประวัติการรักษาของนางแดง เป็นเอกสารที่แสดงถึงอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและการให้การรักษาของแพทย์ จึงเป็นเอกสารของทางราชการที่เป็นข้อมูลของผู้ป่วยอันเกี่ยวเนื่องจากการรักษาพยาบาล ดังนั้น การใช้สิทธิของนายดำทียื่นคำร้องขอทราบข้อมูลของนางแดงภริยาที่ถึงแก่กรรมต่อโรงพยาบาล จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ ของบุคคลอื่นและไม่ได้เป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วยและแพทย์ที่ทำการรักษาแต่อย่างใด (ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550มาตรา 28 วรรคแรก และมาตรา 56 ประกอบรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4)

ดังนั้น การที่นายดำซึ่งเป็นสามีและมีความสงสัยเกี่ยวกับการตายของนางแดงภริยาได้ยื่นคำร้องต่อโรงพยาบาลฯ เพื่อขอสำเนาเวชระเบียนประวัติคนป่วย ซึ่งเป็นเอกสารอาการป่วยของผู้ป่วยและบันทึกการให้การรักษาของแพทย์ แต่ทางโรงพยาบาลฯ มีหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ โดยมีข้ออ้างต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นข้อกล่าวอ้างของโรงพยาบาลฯ จึงไม่สามารถรับฟังได้

สรุป

ข้อกล่าวอ้างของโรงพยาบาลฯ ไม่สามารถรับฟังได้

Advertisement