การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ระบอบการปกครอง (Regime of Government) มีความหมายอย่างไร และหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับหลักการปกครองระบอบเผด็จการ มีหลักการสำคัญแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร อธิบายมาให้เข้าใจอย่างละเอียด

ธงคำตอบ

“ระบอบการปกครอง” หมายถึง สถาบันทางการเมืองซึ่งรัฐบาลของรัฐได้จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้อำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งระบอบการปกครองในโลกจะแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. ระบอบเผด็จการ
  2. ระบอบประชาธิปไตย และ
  3. ระบอบสังคมนิยม

สำหรับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับหลักการปกครองระบอบเผด็จการ จะมีหลักการที่สำคัญแตกต่างกันดังนี้ คือ

หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายความถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถึงกระนั้น นิยามของคำนี้ก็มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาตลอด จากที่โดยเนื้อแท้มีความหมายเพียงแต่การปกครองตนเอง (Self Government) ได้คลี่คลายและมีความหมายในอาณาบริเวณที่กว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ จนถือเสมือนเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จักต้องครอบคลุมหลักการสำคัญดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วน

  1. หลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน (Popular Sovereignty) หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่ประชาชน ดังนั้น ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงมีสิทธิตั้งรัฐบาลได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นสำคัญ
  2. หลักสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ของประชาชน (Bill of Rights) จะต้องได้รับการคุ้มครองรัฐจะต้องไม่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนถึงสิทธิเสรีภาพอันพึงมีของประชาชน
  3. หลักความสูงสุดของกฎหมาย ผู้มีอำนาจต้องถูกกฎหมายจำกัดอำนาจเอาไว้ เป้าหมาย วิธีการ และรากฐานในการดำเนินการใด ๆ ก็ตามของรัฐจะต้องชอบด้วยกฎหมาย (Government of Law, Not of Men) คือ “หลักนิติธรรม” (Rule of Law)
  4. หลักความเสมอภาค ซึ่งเน้นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน โดยให้ความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างทัดเทียมกัน (Equal Protection under Law) โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ (Discrimination)
  5. หลักการเสียงข้างมาก (Majority Rule) ในการปกครอง ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ยึดมั่นในเสียงข้างมาก แต่ก็จะต้องพร้อมรับฟังและให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายเสียงข้างน้อยด้วยเช่นกัน
  6. หลักการแบ่งแยกอำนาจทางปกครอง คือ จะต้องมีการแบ่งอำนาจอธิปไตย (อำนาจทางปกครอง) ออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจทั้ง 3 อำนาจไม่ให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดใช้ได้อย่างอิสระเพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การรักษาสิทธิเสรีภาพ และประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐ
  7. หลักการมีส่วนร่วมในการปกครอง หมายความว่า ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกบุคคลผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง เช่น มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้บริหารทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางปกครอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชน
  8. หลักการใช้อำนาจทางปกครอง จะต้องเป็นการใช้อำนาจเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในการปฏิบัติหน้าที่ (ในการใช้อำนาจปกครอง) ขององค์กรของรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐ
  9. หลักการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง หมายความว่า การใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าวจะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้

ส่วนหลักการปกครองระบอบเผด็จการ เป็นระบอบการปกครองที่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบเผด็จการนั้นเป็นระบอบการปกครองที่ผู้ปกครองจะมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง โดยไม่สนใจสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการได้มาของการเป็นผู้นำในระบอบเผด็จการมักจะเกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร

หลักการสำคัญของระบอบเผด็จการ จะมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  1. อำนาจรัฐอยู่เหนือประชาชน ไม่ยินยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ แต่ต้องปฏิบัติตามที่รัฐหรือผู้นำกำหนด ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น
  2. เป็นการแก้ปัญหาโดยการใช้อำนาจ แก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงเด็ดขาด ใช้อำนาจทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งต่อรัฐหรือต่อผู้นำ
  3. ปกครองประเทศโดยมุ่งเน้นประโยชน์ของภาครัฐมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  4. เน้นการเชื่อผู้นำพาชาติก้าวหน้า เพื่อสร้างศรัทธาและบารมีของผู้นำ
  5. มีการรวมอำนาจปกครองไว้ในที่แห่งเดียว ศูนย์กลางในการสั่งการคือตัวผู้นำซึ่งจะรวมทั้ง 3 สถาบัน คือ สถาบันบริหาร สถาบันนิติบัญญัติ และสถาบันตุลาการ อยู่ในการปกครองของตนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

 

ข้อ 2. ให้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างอำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญกับอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ และหากพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยในยามเหตุการณ์บ้านเมืองปกติ และภายหลังการปฏิวัติหรือรัฐประหาร อำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มักตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

“อำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ” หมายถึง อำนาจทางการเมืองของคณะบุคคลหรือบุคคลที่อยู่ในฐานะบันดาลให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นได้สำเร็จ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ซึ่งโดยนัยนี้ ผู้ที่จัดให้มีรัฐธรรมนูญจึงหมายถึง “รัฏฐาธิปัตย์” หรือผู้อยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ (ผู้มีอำนาจสูงสุด)ซึ่งผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญอาจจำแนกได้ ดังนี้

  1. ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
  2. ผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
  3. ราษฎรเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
  4. ประมุขของรัฐ คณะปฏิวัติหรือรัฐประหาร และราษฎรร่วมกันจัดให้มีขึ้น
  5. ผู้มีอำนาจจากองค์กรภายนอกจัดให้มีขึ้น

และเมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยในยามเหตุการณ์บ้านเมืองปกติ อำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญมักจะเป็นประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์ แต่ถ้ามีการปฏิวัติหรือรัฐประหารแล้ว อำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะเป็นผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหาร (ซึ่งอาจจะเป็นราษฎรก็ได้ในกรณีที่ราษฎรได้ร่วมกันก่อการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงการปกครองใด้สำเร็จ) หรืออาจจะเป็นกรณีที่ประมุขของรัฐ คณะปฏิวัติหรือรัฐประหารและราษฎรร่วมกันจัดให้มีรัฐธรรมนูญก็ได้ ทั้งนี้เพราะคณะปฏิวัติหรือรัฐประหารไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม หรือความรุนแรงขึ้น “อำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญ” ในทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญ อำนาจในการจัดให้มีแตกต่างกับอำนาจในการจัดทำ แต่ทว่าก็ถือว่าเป็นของควบคู่กันด้วย ทั้งนี้เพราะถ้าไม่มีผู้จัดให้มีก็ย่อมไม่มีผู้จัดทำยกเว้นบางกรณีที่ผู้มีอำนาจจัดให้มีกับผู้มีอำนาจจัดทำเป็นบุคคลเดียวกัน เช่น ผู้ที่ก่อการปฏิวัติหรือทำรัฐประหารได้สำเร็จก็อาจนำเอารัฐธรรมนูญที่ตนร่างเตรียมไว้แล้วออกมาประกาศใช้ในกรณีนี้ย่อมถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นเกิดจากการจัดให้มีและการจัดทำโดยผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเช่นเดียวกัน

ดังนั้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ คือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฏฐาธิปัตย์ หรือผู้ที่มีอำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญให้พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งผู้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะเป็นบุคคลคนเดียว โดยคณะบุคคล โดยสภานิติบัญญัติ หรือโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของ“คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้กำหนดจำนวนและที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 32 ดังนี้ คือ

  1. ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 36 คน
  2. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

(1)     ประธานกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ

(2)     ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอจำนวน 20 คน

(3)     ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอฝ่ายละ 5 คน

และตามมาตรา 34 ได้กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา 31 (2)

 

ข้อ 3. เมื่อพิจารณาถึงสถานะของรัฐธรรมนูญที่มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายสูงสุด อันมีผลทำให้รัฐธรรมนูญมีสถานะเหนือกฎหมายทั้งปวงภายในรัฐ กฎหมายอื่นใดจะมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้เพราะเหตุผลใด และวิธีการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการใดบ้าง อธิบายมาให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

กฎหมายรัฐธรรมนูญ หมายความถึง กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งกำหนดรูปแบบและหลักการปกครองตลอดจนวิธีการดำเนินการปกครองไว้อย่างเป็นระเบียบ ตลอดจนกำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจสูงสุดในรัฐ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของประชาชนที่พึงกระทำต่อรัฐกับรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งรัฐจะใช้อำนาจล่วงละเมิดมิได้

เหตุผลที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายทั้งปวงภายในรัฐ กฎหมายอื่นใดจะมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้นั้น สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

  1. ในแง่ที่มา ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสัญญาประชาคม ที่สมาชิกในสังคมทุกคนร่วมกันตกลงกันสร้างขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ในการปกครองสังคม รัฐธรรมนูญจึงอยู่เหนือทุกส่วนของสังคมการเมืองนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครอง ทุกฝ่ายจักต้องให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย
  2. ในแง่เนื้อหา รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการจัดระเบียบโครงสร้างการเมืองการปกครองส่วนบนของรัฐ ผ่านทางการสร้างองค์กรทางการเมืองต่าง ๆ (รัฐสภา/คณะรัฐมนตรี/ศาล) ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญก็ได้มอบอำนาจไปให้ใช้ (อำนาจนิติบัญญัติ/อำนาจบริหาร/อำนาจตุลาการ) รวมทั้งบัญญัติรับรองถึงสิทธิเสรีภาพตลอดจนความเสมอภาคของประชาชนไว้ด้วย เพื่อจำกัดอำนาจแห่งรัฐมิให้มีมากจนเกินไป
  3. ในแง่รูปแบบ วิธีการจัดทำและการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีข้อแตกต่างจากกฎหมายอื่นๆอย่างชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกจัดทำขึ้นและแก้ไขได้ยากกว่ากฎหมายธรรมดาอื่นใด เพราะจำต้องอาศัยกระบวนการพิเศษ และมากหลักเกณฑ์ เช่น ต้องมีการระดมความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เป็นต้น

ส่วนวิธีการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดสามารถกระทำได้โดยการเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดในการใช้ปกครองประเทศ โดยเขียนขึ้นมาตามรูปแบบ หลักการ และวิธีการภายใต้กฎกติกาของระบอบการปกครองนั้น ๆ เช่น ประเทศไทย จะต้องเขียนระบุลงไปว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อระบอบการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เป็นต้น

 

ข้อ 4. โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีบทบัญญัติกำหนดให้มีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รัฐธรรมนูญฉบับถาวร)โดยตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดทำหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฯให้อธิบายถึงโครงร่างของรัฐธรรมนูญฯภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่าอย่างน้อยต้องประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญใดบ้าง และสมควรนำร่างรัฐธรรมนูญฯดังกล่าวมาจัดทำประชามติรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด อธิบายมาให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

โครงร่างของรัฐธรรมนูญฯ ภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น มักมีโครงร่างของรัฐธรรมนูญฯ ที่ใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศใดก็ตามประกอบไปด้วย ส่วนนำที่เป็นคำปรารภหรือคำนำของรัฐธรรมนูญฯ และส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระหรือเนื้อความของตัวรัฐธรรมนูญฯ ดังต่อไปนี้

  1. คำปรารภ (Preamble) จากการพิจารณาคำปรารภในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับต่าง ๆ กล่าวได้ว่าคำปรารภนั้น หมายความถึง คำนำ อารัมภบท และบทนำ (Preface, Introduction, Foreword) ในเรื่องราวของรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนั้น ดังเช่น คำปรารภที่มุ่งแสดงเหตุผลที่มาและจำเป็นแห่งการมีรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนั้น หรือวางหลักเจตนารมณ์พื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญฯ หรือพรรณนาถึงเกียรติคุณของผู้จัดทำ ทั้งนี้ คำปรารภเป็นคนละส่วน

กับส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระหรือเนื้อความของตัวรัฐธรรมนูญฯ แต่อาจอาศัยคำปรารภในรัฐธรรมนูญฯ เป็นเครื่องมือช่วยในการตีความมาตราต่าง ๆในรัฐธรรมนูญฯหรืออาจนำมาใช้ในการค้นหาเจตนารมณ์ชองผู้ร่างคำปรารภจึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

  1. เนื้อความของรัฐธรรมนูญ (Content) จากการพิจารณาเนื้อความของรัฐธรรมนูญฯซึ่งเป็นสาระสำคัญที่อยู่ถัดจากคำปรารภจะโดยกำหนดเนื้อหาสาระเรียงลำดับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯดังต่อไปนี้

1)      การกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ (Organizational Section) ในทางทฤษฎีถือว่ากฎเกณฑ์การปกครองประเทศ เป็นสารัตถสำคัญในรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดโครงสร้างการบริหารประเทศ รวมทั้งกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้ กฎเกณฑ์การปกครองประเทศนั้นมิได้มีเฉพาะในรัฐธรรมนูญฯ ของรัฐที่ปกครองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ ในรัฐที่การปกครองภายใต้การปกครองระบอบอื่นใด ดังเช่น การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์หรือการปกครองระบอบเผด็จการ ต่างล้วนมีกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศทั้งสิ้น

2)      การกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (Bill of Rights) ในทางทฤษฎีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถือว่าเป็นสารัตถสำคัญของรัฐที่ปกครองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยกำหนดขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวย่อมผันแปรไปตามระบอบการปกครองในแต่ละรัฐ แต่บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนใหญ่จะปรากฏแต่เฉพาะในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนรัฐธรรมนูญฯ ของรัฐที่ปกครองภายใต้การปกครองระบอบอื่นใด ดังเช่น การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ หรือการปกครองระบอบเผด็จการ ส่วนใหญ่ต่างมิได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญฯ แต่อย่างใด

3)      การกำหนดกฎเกณฑ์อื่นในรัฐธรรมนูญ (Technical Provisions) เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระหรือเนื้อความของตัวรัฐธรรมนูญฯ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังเช่น การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม (Procedures for amendment/Amendatory Provisions)

การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความเป็นกฎหมายสูงสุด (Supremacy) การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่ของพลเมือง (Civic Duties) การกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับแนวนโยบายแห่งรัฐ (State Policy) รวมทั้งการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล (Interim Provisions) เป็นต้น

แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้มีการกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) ดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะต้องผ่านการทำประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศก่อนก็ตาม แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะต้องทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเหมือนอย่างที่เคยมีการทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ดังนั้นจึงได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) กำหนดให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รัฐธรรมนูญฉบับถาวร)

เหตุผลที่สมควรนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมาจัดทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ก็เพื่อจะช่วยสร้างความชอบธรรมและให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของประชาชน จะช่วยลดความขัดแย้งและจะทำให้มีความรู้สึกว่าประชาชนก็มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยนั่นเอง

Advertisement