การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสุริยันได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนางจันทราตามคำพิพากษาของศาล แต่หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วนายสุริยันก็ไม่ได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินให้เป็นของตนต่อมานายสุริยันตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายอาทิตย์ และนัดวันไปทำการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันที่สำนักงานที่ดินพร้อมกับชำระราคา เมื่อถึงวันนัดนายสุริยันและนายอาทิตย์ไปพบกันที่สำนักงานที่ดินตามนัดหมาย และยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินระหว่านายสุริยันและนายอาทิตย์ แต่เจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนโดยอ้างว่านายสุริยันไม่ใช่เจ้าของที่ดินแปลงที่จะขายเนื่องจากไม่ปรากฏชื่อนายสุริยันในโฉนดดังกล่าว นายสุริยันจึงแสดงสำเนาคำพิพากษาของศาลต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ทราบว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะขายอย่างแท้จริง แต่เจ้าพนักงานที่ดินยังปฏิเสธว่าไม่สามารถจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินได้ เพราะยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

ให้นักศึกษาอธิบายว่า หลักกฎหมายดังกล่าวคือมาตราใด มีหลักเกณฑ์อย่างใด และเจ้าพนักงานที่ดินอธิบายถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตรา 1299 วรรคสอง มีดังนี้

  1. เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
  2. โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เช่น การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการรับมรดก การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยคำพิพากษาของศาลเป็นต้น
  3. สิทธิของผู้ได้มาย่อมบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ
  4. ผู้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนการได้มา ถ้ายังไม่ได้จดทะเบียนจะมีผลตามกฎหมายคือ

(1)     จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้

(2)     จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุริยันได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนางจันทราตามคำพิพากษาของศาลนั้น ถือว่านายสุริยันได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น แม้ว่าสิทธิของนายสุริยันจะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ นายสุริยันก็จะต้องนำสิทธิดังกล่าวไปจดทะเบียนด้วย (ดามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78) ถ้านายสุริยันมิได้นำสิทธิดังกล่าวไปจดทะเบียนย่อมมีผลตามกฎหมายคือจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว นายสุริยันก็ไม่ได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินให้เป็นชื่อของตน ดังนี้นายสุริยันจะเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปทำนิติกรรมโดยการจดทะเบียนโอนขายให้แก่นายอาทิตย์ไม่ได้ เพราะหลักฐานทางทะเบียนยังเป็นชื่อของนางจันทราเนื่องจากนายสุริยันยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ดังนั้น การที่นายสุริยันตกลงขายที่ดินให้นายอาทิตย์ และได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินระหว่างนายสุริยันและนายอาทิตย์ แต่เจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธไม่ยอมรับการจดทะเบียนโดยอ้างว่านายสุริยันไม่ใช่เจ้าของที่ดินแปลงที่จะขายเนื่องจากไม่ปรากฏชื่อนายสุริยันในโฉนดดังกล่าว และนายสุริยันยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์นั้นถือว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้อธิบายถูกต้องตามหลักกฎหมายมาตรา 1299 วรรคสอง แล้ว

สรุป

ตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องหลักกฎหมายมาตรา 1299 วรรคสอง และการอธิบายของเจ้าพนักงานที่ดินถูกต้องตามหลักกฎหมายดังกล่าว

 

ข้อ 2. ขุนช้างสร้างบ้านลงบนที่ดินมีโฉนดของตนหนึ่งหลังใน พ.ศ. 2555 ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ขุนช้างได้ต่อเติมบ้านให้กว้างขึ้นโดยก่อนต่อเติมได้ขอให้ขุนแผนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงติดกันมาทำการชี้ระวังแนวเขต แล้วจึงทำการก่อสร้างต่อเติมบ้าน หลังจากต่อเติมเสร็จขุนช้างพบว่า หลังคาบ้านของส่วนที่ต่อเติมใหม่รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของขุนแผนเป็นระยะ 30 เซนติเมตร ตลอดแนวยาวของหลังคาด้านที่ติดต่อระหว่างที่ดินของขุนช้างและขุนแผน ขุนแผนจึงขอให้ขุนช้างรื้อถอนส่วนที่สร้างรุกล้ำ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าขุนช้างจะต้องรื้อถอนบ้านที่สร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของขุนแผนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1312 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้”

วินิจฉัย

การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตที่จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1312 นั้น จะต้องเป็นกรณีปลูกสร้างโรงเรือนทั้งหลัง แล้วส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นมิใช่กรณีต่อเติมโรงเรือนในภายหลัง แล้วส่วนที่ต่อเติมนั้นรุกล้ำเข้าไป

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ขุนช้างได้ต่อเติมบ้านให้กว้างขึ้น และหลังจากต่อเติมเสร็จขุนช้างพบว่าหลังคาบ้านของส่วนที่ต่อเติมใหม่รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของขุนแผนเป็นระยะ 30 เซนติเมตรตลอดแนวยาวของหลังคาด้านที่ติดต่อระหว่างที่ดินของขุนช้างและขุนแผน ถึงแม้ว่าขุนช้างจะทำการต่อเติมโดยสุจริต กล่าวคือ ก่อนต่อเติมขุนช้างได้ขอให้ขุนแผนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงติดกันมาทำการชี้ระวังแนวเขตที่ดินแล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของการต่อเติมโรงเรือนภายหลัง มิใช่เป็นการปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นทั้งหลัง แล้วส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ขุนช้างจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1312ดังนั้น เมื่อขุนแผนขอให้ขุนช้างรื้อถอนส่วนที่สร้างรุกล้ำ ขุนช้างจะต้องรื้อถอนหลังคาบ้านส่วนที่สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของขุนแผน

สรุป

ขุนช้างจะต้องรื้อถอนบ้านในส่วนที่ต่อเติมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของขุนแผน

 

ข้อ 3. นายหนึ่งได้ทำการปลูกต้นผลไม้บนที่ดินในเขตป่าสงวนซึ่งเป็นที่ดินตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนฯ มาตรา 14 บัญญัติว่าในเขตป่าสงวนห้ามผู้ใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์ นายสองผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินข้างเคียงซึ่งมีชื่อใน ส.ค.1 ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ทำการปลูกสร้างโรงเรือนล้ำเข้าไปในที่ดินของนายหนึ่ง นายหนึ่งจึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองภายใน 3 เดือน นับแต่เวลาที่นายสองได้ทำการปลูกสร้างโรงเรือนแล้วเสร็จ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายหนึ่งมีสิทธิขอปลดเปลื้องการรบกวนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1304 “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน”

มาตรา 1374 “ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกรบกวน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ทำการปลูกต้นผลไม้บนที่ดินในเขตป่าสงวนซึ่งเป็นที่ดินตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนฯ และเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (1) นั้น ย่อมถือว่าเป็นการเข้าไปครอบครอง เดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายหนึ่งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นต่อสู้กับรัฐได้ แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างราษฎรด้วยกันเอง นายหนึ่งซึ่งเข้าครอบครองที่ดินนั้นอยู่ก่อนนายสอง ย่อมสามารถยกเอาการยึดถือครอบครองก่อนขึ้นใช้ยันนายสองที่เข้ามารบกวนการครอบครองของตนได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสองได้ทำการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่นายหนึ่งครอบครองอยู่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย นายหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองนั้นได้ ตามมาตรา 1374 วรรคหนึ่ง แต่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนตามมาตรา1374 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงนั้นนายหนึ่งได้ฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนดังกล่าวภายใน 3 เดือนนับแต่เวลาที่นายสองได้ทำการปลูกสร้างโรงเรือนแล้วเสร็จ ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 1 ปี ดังนั้น นายหนึ่งจึงมีสิทธิฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนได้

สรุป

นายหนึ่งมีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนดังกล่าวได้

 

ข้อ 4. นายเอกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดซึ่งอยู่ติดกับที่ดิน น.ส.3 ของนายโทที่อยู่ติดกับทางสาธารณะนายเอกได้รับอนุญาตจากนายโทในการใช้ทางเดินบนที่ดินของนายโทผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ย่อมถือได้ว่านายเอกได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยนิติกรรมแล้ว นายเอกจึงแจ้งให้นายโทไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ตน แต่นายโทไม่ยอมไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ นายเอกก็ยังคงใช้ทางเดินบนที่ดินของนายโทเรื่อยมาโดยอาการที่ถือว่าตนมีสิทธิใช้และนายโทก็มิได้แจ้งความดำเนินคดีหรือยื่นฟ้องนายเอกต่อศาลแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่านายเอกเข้าใช้สิทธิบนที่ดินของนายโทติดต่อกันเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 – 2556

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายเอกได้มาซึ่งภาระจำยอมบนที่ดินของนายโทโดยอายุความหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1401 ‘‘ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

การได้ภาระจำยอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 นั้น บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยนิติกรรมในการใช้ทางเดินบนที่ดินของนายโทผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะนั้น เมื่อยังมิได้มีการจดทะเบียนย่อมไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้การได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมของนายเอกจะไม่บริบูรณ์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกได้ใช้ทางเดินดังกล่าวของนายโทเรื่อยมาโดยอาการที่ถือว่าตนมีสิทธิใช้และนายโทก็มิได้แจ้งความดำเนินคดีหรือยื่นฟ้องนายเอกต่อศาลแต่อย่างใด ย่อมถือว่า นายเอกได้ใช้ทางเดินนั้นโดยมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมโดยเปิดเผย และโดยความสงบ และเมื่อนายเอกได้ใช้สิทธิบนที่ดินของนายโทติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว นายเอกย่อมได้ภาระจำยอมบนที่ดินของนายโทโดยอายุความตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4991/2551)

สรุป

นายเอกได้มาซึ่งภาระจำยอมบนที่ดินของนายโทโดยอายุความ

Advertisement