การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเมฆและนายหมอกร่วมกันหลอกให้นางฝนรับซื้อฝากที่ดิน โดยที่นายเมฆและนายหมอกนั้นพานางฝนไปชี้ดูที่ดินของบุคคลอื่นว่าเป็นที่ดินของนายเมฆ ดังนั้นนางฝนจึงหลงเชื่อและรับซื้อฝากที่ดินไว้จากนายเมฆโดยเข้าใจว่าที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นเป็นของนายเมฆ

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าการรับซื้อฝากที่ดินของนางฝนมีผลเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

มาตรา 158 “ความสำคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสำคัญผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)

 

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางฝนรับซื้อฝากที่ดินจากนายเมฆโดยหลงเชื่อและเข้าใจว่าที่ดินที่นายเมฆและนายหมอกพาไปชี้ให้ดูนั้นเป็นของนายเมฆจึงรับซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ กรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่านางฝนประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เป็นกรณีที่นางฝนได้แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากนายเมฆโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนละเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ดังนั้น การรับซื้อฝากที่ดินของนางฝน จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156

สรุป

การรับซื้อฝากที่ดินของนางฝนมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 2. นายสมควรเคยมีพระสมเด็จนางพญาอยู่องค์หนึ่ง ซึ่งมารดาของนายสมควรได้ให้ไว้ก่อนเสียชีวิต และนายสมควรใช้ห้อยคออยู่เป็นประจำตั้งแต่เด็ก ต่อมาเมื่อนายสมควรเป็นวัยรุ่น นายสมควรได้ไปวางลืมไว้ในห้องน้ำของโรงแรมแห่งหนึ่งในต่างประเทศ หลายปีต่อมานายสมควรได้ไปเจอพระสมเด็จฯ องค์หนึ่งซึ่งเป็นของนายสมรัก นายสมควรมั่นใจว่าเป็นพระองค์เดียวกับที่ตนทำหายไป เพราะตนสามารถจดจำรอยตำหนิต่าง ๆ ได้ นายสมควรจึงขอซื้อจากนายสมรักในราคา 100,000 บาท นายสมควรได้ถามนายสมรักว่า พระสมเด็จฯ องค์นี้เป็นของแท้หรือไม่ นายสมรักบอกว่าเป็นของแท้ทั้ง ๆ ที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอมซึ่งมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดปกติองค์ละไม่เกิน 1,000 บาท นายสมควรจึงตกลงซื้อ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นายสมควรจะทราบว่า พระสมเด็จฯ องค์นั้นเป็นของปลอมนายสมควรก็จะซื้อ ต่อให้มีราคาแพงแค่ไหนก็ตาม เพราะพระสมเด็จฯ องค์นั้นมีคุณค่าทางจิตใจกับเขาอย่างมาก

ดังนี้ ถ้าต่อมานายสมควรประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจึงเปลี่ยนใจไม่อยากได้พระสมเด็จฯองค์นั้นแล้ว นายสมควรจะบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายหรือจะเรียกร้องอะไรจากนายสมรักได้อย่างไรหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”

มาตรา 161 “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดจากการที่ผู้ทำนิติกรรมถูกกลฉ้อฉลนั้น กฎหมายได้บัญญัติให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ คู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิบอกล้างได้ (ป.พ.พ. มาตรา 159)

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 161 ได้บัญญัติว่า ถ้ากลฉ้อฉลนั้นเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องการแสดงเจตนาทำนิติกรรมอยู่แล้วแม้จะไม่มีการทำกลฉ้อฉล ต้องยอมรับข้อกำหนดตามนิติกรรมอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการทำกลฉ้อฉลเช่นนั้น คู่กรณีฝ่ายนั้นจะไม่ยอมรับข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าว ผลของการทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลในกรณีเช่นนี้ ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ

แต่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมควรขอซื้อพระสมเด็จฯ องค์หนึ่งจากนายสมรักในราคา 100,000 บาท ซึ่งก่อนที่จะซื้อนายสมควรได้ถามนายสมรักว่า พระสมเด็จฯ องค์นี้เป็นของแท้หรือไม่ และนายสมรักบอกว่าเป็นของแท้ ทั้ง ๆ ที่นายสมรักรู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอมซึ่งมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดปกติองค์ละไม่เกิน 1,000 บาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แม้นายสมควรจะได้รู้ว่าพระสมเด็จฯ องค์นี้เป็นของปลอมนายสมควรก็จะซื้อไม่ว่าจะมีราคาแพงแค่ไหนก็ตาม ย่อมแสดงให้เห็นว่านายสมควรได้แสดงเจตนาทำสัญญาโดยความสมัครใจ และแม้นายสมรักจะได้ใช้กลฉ้อฉลคือได้หลอกลวงนายสมควรก็ตาม แค่กลฉ้อฉลดังกล่าวก็มิได้ถึงขนาดว่าถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวแล้ว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้ทำขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาซื้อขายพระสมเด็จฯ ระหว่างนายสมควรและนายสมรักจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 นายสมควรจึงบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวไม่ได้

และการที่นายสมควรแม้จะรู้ว่าพระสมเด็จฯ องค์นี้เป็นของปลอม นายสมควรก็จะซื้อไม่ว่าจะมีราคาแพงแค่ไหนก็ตาม แสดงว่ากลฉ้อฉลดังกล่าวหาได้เป็นเหตุจูงใจให้นายสมควรยอมซื้อพระสมเด็จฯ องค์นี้ในราคาที่แพงขึ้น อันจะทำให้จะต้องรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายสมควรจะยอมรับโดยปกติแต่อย่างใดไม่

ดังนั้น นายสมควรจึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากนายสมรักตามมาตรา 161

สรุป

นายสมควรจะบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายพระสมเด็จฯ องค์ดังกล่าว หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากนายสมรักไม่ได้เลย

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2545 นายบุญมีได้ทำสัญญากู้เงินจากนายบุญมากเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2546 ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2546 นายบุญมีได้นำเงินมาชำระให้บางส่วนจำนวน 20,000 บาท หลังจากนั้นก็ไม่ได้นำเงินมาชำระให้อีกเลย จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคม 2546 นายบุญมากได้เขียนจดหมายไปทวงถามเพื่อให้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่จากนายบุญมี แต่นายบุญมีก็ไม่นำมาชำระให้ ต่อมานายบุญมากจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 นายบุญมีต่อสู้ว่าขาดอายุความแล้ว แต่นายบุญมากอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลง เนื่องจากนายบุญมีได้นำเงินมาชำระให้บางส่วน

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายบุญมีฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรีอกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบุญมีได้ทำสัญญากู้เงินจากนายบุญมากเป็นเงินจำนวน 100,000บาท ในวันที่ 25สิงหาคม 2545 โดยมีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2546นั้น การที่นายบุญมีได้นำเงินมาชำระให้นายบุญมากบางส่วนจำนวน 20,000 บาท ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นการชำระหนี้ในขณะที่หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ย่อมไม่ถือว่าเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) แต่อย่างใด เพราะอายุความในหนี้ตามสัญญากู้เงินรายนี้จะเริ่มนับก็ต่อเมื่อหนี้ถึงกำหนดแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ คือจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป (ตามมาตรา 193/12) และหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความ จึงต้องนำอายุความทั่วไป คือ 10 ปี มาใช้บังคับ (ตามมาตรา 193/30) ดังนั้น หนี้รายนี้จึงครบกำหนดอายุความในวันที่ 25 สิงหาคม 2556 โดยมีหนี้ที่นายบุญมียังค้างชำระอยู่อีก 80,000 บาท

และเมื่อปรากฏว่า ภายหลังครบกำหนดชำระหนี้ คือวันที่ 25 สิงหาคม 2546 แล้ว นายบุญมีลูกหนี้ไม่ได้นำเงินที่ค้างชำระอีก 80,000 บาท มาชำระให้แก่นายบุญมากอีกเลย และนายบุญมากได้ฟ้องนายบุญมีต่อศาลในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 นั้น นายบุญมีย่อมสามารถต่อสู้ได้ว่าหนี้รายนี้ได้ขาดอายุความแล้ว

ส่วนนายบุญมากจะอ้างว่าหนี้รายนี้ยังไม่ขาตอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลง เนื่องจากนายบุญมีได้นำเงินมาชำระให้บางส่วนไม่ได้

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายบุญมีฟังขึ้น ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. อำแดงอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์ของตนมูลค่าจำนวน 250,000 บาท ให้แก่อำดำซึ่งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยแจ้งว่าหากอำดำตกลงซื้อก็ให้ตอบกลับมาให้ทราบภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 อำดำได้รับจดหมายในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 และส่งจดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นถึงอำแดงทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) แต่หลังจากส่งจดหมายได้ 4 วัน อำดำได้เสียชีวิตลงจากโรคหัวใจ จึงเป็นเหตุให้อำขาวคู่สมรสของอำดำต้องโทรศัพท์ไปแจ้งข่าวการตายดังกล่าวให้อำแดงทราบในวันเดียวกันนั้น

ปรากฏต่อมาอีกว่า เจ้าหน้าที่ของทางการไปรษณีย์ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดส่งจดหมายของอำดำไปยังจังหวัดนราธิวาสแทนที่จะส่งมายังจังหวัดเชียงใหม่บ้านของอำแดงตามปกติ เนื่องจากความประมาทเลินเล่อในหน้าที่ จึงเป็นเหตุให้จดหมายของอำดำซึ่งตามปกติควรมาถึงบ้านอำแดงภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 กลับมาถึงในวันที่ 25 ตุลาคม 2560 อำแดงเห็นว่าจดหมายของอำดำมาถึงล่วงเวลาที่กำหนดในจดหมายของตน ทั้งอำดำก็ยังเสียชีวิตไปแล้ว อำดำจึงไม่น่าจะต้องการรถยนต์คันนั้นอีกต่อไปจึงเปลี่ยนใจไม่อยากขายรถยนต์คันนั้นอีก อำแดงจึงไม่สนใจที่จะติดต่ออำขาวทายาทของอำดำในเรื่องการซื้อขายนั้นอีก

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าอำขาวซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของอำดำจะเรียกร้องให้อำแดงส่งมอมรถยนต์คันนั้นให้แก่ตนซึ่งตนพร้อมจะชำระราคาให้ตอบแทน โดยอำขาวอ้างว่าสัญญาซื้อขายรถยนต์ได้เกิดขึ้นแล้วได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง “การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ”

มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงลวงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติ ควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคด้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา”

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ”

มาตรา 361 วรรคหนึ่ง “อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ”

วินิจนัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อำดำส่งจดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์ไปยังอำแดง เป็นการแสดงเจตนาทำคำสนองต่ออำแดงผู้เสนอซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แม้หลังจากได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว อำดำผู้แสดงเจตนาทำคำสนองได้ถึงแก่ความตายก่อนการแสดงเจตนานั้นไปถึงอำแดง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 360 การแสดงเจตนาทำคำสนองที่ได้ส่งออกไปแล้วนั้นจึงไม่เสื่อมเสียไปตามมาตรา 169 วรรคสอง

และแม้การแสดงเจตนานั้นไปถึงอำแดงผู้รับการแสดงเจตนาในวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาที่อำแดงกำหนดให้อำดำทำคำสนองก็ตาม แต่โดยที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งปกติควรจะมาถึงอำแดงภายในเวลากำหนด คือวันที่ 18 ตุลาคม 2560 เมื่ออำแดงผู้รับคำสนองมิได้บอกกล่าวแก่อำขาวโดยพลันว่าคำสนองมาถึงเนิ่นช้า ก็ต้องถือว่าคำสนองนั้นมิได้ล่วงเวลาตามมาตรา 358 วรรคสอง สัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกลาวระหว่างอำแดงและอำขาวทายาทของอำดำจึงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตาม มาตรา 361 วรรคหนึ่ง อำขาวจึงเรียกร้องให้อำแดงส่งมอบรถยนต์คันนั้นให้อำขาว โดยรับเงินจำนวน 250,000บาท ไปจากอำขาวได้

สรุป

อำขาวเรียกร้องให้อำแดงส่งมอบรถยนต์คันนั้นให้อำขาว โดยรับเงินจำนวน 250,000 บาทไปจากอำขาวได้

Advertisement