การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายชัปปุยส์ต้องการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายชนาธิปเพราะคิดว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่านที่ดินแปลงนั้นในอนาคต ปรากฏวันที่ไปจดทะเบียนโอนมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติไทย และทีมชาติอิรัก นายชัปปุยส์ขอตัวกลับบ้านไปดูฟุตบอลนัดดังกล่าว และได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าพร้อมทั้งบอกนายชนาธิปว่าจัดการกรอกข้อความได้เลยตามสะดวก นายชนาธิปจึงได้เขียนเนื้อความในสัญญาว่าตนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แทน วันรุ่งขึ้นนายชัปปุยส์ทราบเนื้อความในสัญญาจึงกล่าวหานายชนาธิปว่าเป็นพวกหลอกลวงหลอกขายที่ดินให้แก่ตน นายชนาธิปอ้างว่าตนไม่ได้หลอกนายชัปปุยส์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเอง

ให้นักศึกษาให้คำแนะนำว่าข้ออ้างของนายชนาธิปฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมเป็นต้น”

มาตรา 158 “ความสำคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสำคัญผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชัปปุยส์ได้แสดงเจตนาทำสัญญาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายชนาธิปโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินแปลงที่ตนคิดว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่านนั้น ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สิน

ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันถือว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โดยหลักแล้วการแสดงเจตนาของนายชัปปุยส์ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชัปปุยส์ได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าและบอกให้นายชนาธิปจัดการกรอกข้อความได้เลยตามสะดวก ทำให้นายชนาธิปได้เขียนเนื้อความในสัญญาว่าตนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แทนซึ่งมิใช่ที่ดินแปลงที่นายชัปปุยส์ต้องการซื้อนั้น การกระทำดังกล่าวของนายชัปปุยส์ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายชัปปุยส์เอง ดังนั้น แม้นายชัปปุยส์จะได้แสดงเจตนาเพราะความสำคัญผิดดังกล่าวข้างต้นก็ตาม นายชัปปุยส์ก็จะยกเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ไต้ตามมาดรา 158

สรุป

ข้ออ้างของนายชนาธิปที่ว่าตนไม่ได้หลอกนายชัปปุยส์ แต่นายชัปปุยส์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเอง จึงฟังขึ้น

 

ข้อ 2. อาม่ามีลูกชาย 3 คน คือ นายต้า นายกอล์ฟฟู และนายยัดห่า วันหนึ่งอาม่าต้องการทำการค้ำประกันให้กันนายต้า แต่กลับไปเซ็นในพินัยกรรมยกที่ดินของตนแทน ซึ่งต่อมาอาม่าทราบว่าตนสำคัญผิดไปแต่ก็ไม่ได้ทำการทักท้วงหรือขอแก้ไขประการใด ในพินัยกรรมดังกล่าวมีข้อความว่า “เมื่อดิฉันถึงแก่ความตาย ดิฉันขอมอบที่ดินให้แก่นายต้า และนายกอล์ฟฟูเพียง 2 คน” แต่พินัยกรรมดังกล่าวไม่ได้ทำตามแบบ ต่อมาอาม่าถึงแก่ความตาย ทั้งนายต้า นายกอล์ฟฟู และนายยัดห่า เมื่อทราบข้อความในพินัยกรรมก็ลงลายมือชื่อยอมรับผูกพันในข้อความดังกล่าว วันรุ่งขึ้นนายยัดห่าไม่พอใจที่ตนไม่ได้รับอะไรเลย จึงอ้างว่าอาม่าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ และพินัยกรรมก็ไม่ได้ทำตามแบบทำให้เรื่องทั้งหมดกลายเป็นโมฆะและตนยังคงมีสิทธิในที่ดินมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

ให้นักศึกษาให้คำแนะนำว่าข้ออ้างของนายยัดห่าฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 152 “การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้ออ้างของนายยัดห่าฟังขึ้นหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

  1. ข้ออ้างที่ว่าอาม่าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมการที่อาม่าต้องการทำสัญญาค้ำประกันให้กับนายต้า แต่กลับไปเซ็นในพินัยกรรมยกที่ดินของตนให้แก่นายต้าและนายกอล์ฟฟู 2 คนนั้น แม้จะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่ออาม่าทราบว่าตนสำคัญผิดไปก็ไม่ได้ทำการทักท้วงหรือขอแก้ไขแต่ประการใด

ดังนั้น จากพฤติการณ์ของอาม่าดังกล่าวจึงไม่ถือว่าอาม่าได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามมาตรา 156 แต่อย่างใด (เทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกาที่ 7196/2540) ข้ออ้างของนายยัดห่าในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น

  1. ข้ออ้างที่ว่าพินัยกรรมไม่ได้ทำตามแบบทำให้มีผลเป็นโมฆะ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพินัยกรรมดังกล่าวไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ พินัยกรรมย่อมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 152 ดังนั้นข้ออ้างของนายยัดห่าในส่วนนี้จึงฟังขึ้นหรือ แม้พินัยกรรมจะไม่ได้ทำตามแบบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทายาททุกคนรวมทั้งนายยัดห่าเองด้วย ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมและยอมรับผูกพันในข้อความดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการก่อให้เกิดสัญญาระหว่างทายาทขึ้นมาใหม่ ดังนั้น นายยัดห่าจึงต้องผูกพันตามข้อความในสัญญานั้น พินัยกรรมจึงไม่ตกเป็นโมฆะ ข้ออ้างของนายยัดห่าในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างของนายยัดห่าที่ว่าอาม่าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างที่ว่าพินัยกรรมไม่ได้ทำตามแบบทำให้เรื่องทั้งหมดกลายเป็นโมฆะนั้นฟังขึ้น (หรือฟังไม่ขึ้น)

หมายเหตุ ข้ออ้างของนายยัดห่าที่ว่าพินัยกรรมไม่ได้ทำตามแบบทำให้เรื่องทั้งหมดกลายเป็นโมฆะนั้น นักศึกษาจะตอบว่าฟังขึ้นหรือฟังไม่ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะถือว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้ง 2 กรณี

(แต่ต้องตอบเพียงอย่างเดียวและต้องมีเหตุผลประกอบด้วย)

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2552 นายแดงได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากนายดำจำนวน 100,000 บาท โดยมีนายเขียวเป็นผู้ค้ำประกันมีกำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 31 มีนาคม 2552

เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินมาชำระ นายดำได้ทวงถามตลอดมา แต่นายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระจนกระทั่งอายุความฟ้องร้อง 2 ปี ได้สิ้นสุดลง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 นายแดงถูกสลากกินแบ่งจำนวน 30,000 บาท จึงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน 20,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ ในวันที่นำเงินมาชำระนั้นเอง นายดำได้ให้นายแดงทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ตนหนึ่งฉบับ มีใจความว่านายแดงจะนำเงินจำนวน 80,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 30 รันวาคม 2555

ดังนี้ อยากทราบว่า

(ก) นายแดงมาทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วจำนวน 20,000 บาท คืนจากนายดำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 นายแดงไม่นำเงินมาชำระ นายดำจะนำคดีไปฟ้องนายแดงและนายเขียวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสองให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากนายดำจำนวน 100,000 บาท และมิได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำเลย และเมื่อนายดำไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของนายดำที่มีต่อนายแดงลูกหนี้และนายเขียวผู้ค้ำประกันย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายดำย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายแดงและนายเขียวชำระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายดำฟ้องนายแดงและนายเขียวให้ชำระหนี้นายแดงและนายเขียวย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

และตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้นำเงินบางส่วนไปชำระหนี้แก่นายดำ รวมทั้งการที่นายแดงได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้แก่นายดำโดยมีใจความว่านายแดงจะนำเงินจำนวนที่เหลืออีก 80,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 นั้นไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายแดงลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อนายดำเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 นั้น ต้องเป็นการกระทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้นการกระทำของนายแดงจึงเป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว และเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จึงวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายแดงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายดำจำนวน 20,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากนายดำไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง ที่ว่าการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมิได้ทำให้หนี้นั้นระงับไปแต่อย่างใด

(ข) เมื่อนายแดงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือกับนายดำว่าจะนำเงินจำนวน 80,000 บาท มาชำระให้แก่นายดำ ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ ดังนั้นเมื่อนายแดงไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด นายดำย่อมสามารถฟ้องให้นายแดงชำระหนี้ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1770/2517) โดยนายดำจะต้องฟ้องนายแดงภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสองประกอบมาตรา 193/35 แต่นายดำจะฟ้องนายเขียวไม่ได้ เพราะนายเขียวเป็นผู้ค้ำประกันเดิมที่ไม่ได้รับสภาพความรับผิดเช่นเดียวกับนายแดง และตามมาตรา 193/28 วรรคสองตอนท้าย ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า “…แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้” กล่าวคือ ถ้านายดำฟ้องนายเขียวผู้ค้ำประกัน นายเขียวย่อมมีสิทธิยกเอาการที่หนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้นายดำได้

สรุป

(ก) นายแดงจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วจำนวน 20,000 บาท คืนจากนายดำไม่ได้

(ข) เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินมาชำระ นายดำสามารถนำคดีไปฟ้องนายแดงได้ แต่จะฟ้องนายเขียวไม่ได้

 

ข้อ 4. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2558 นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนไปยังนางจันทราซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา 3 ล้านบาท โดยนายอาทิตย์ได้กำหนดไปในจดหมาย

ด้วยว่าถ้านางจันทราต้องการซื้อบ้านหลังนี้ให้ตอบไปยังนายอาทิตย์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558

นางจันทราส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่ 5 เมษายน 2558 อย่างไรก็ตามเมื่อดูตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนางจันทราแล้วเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า นางจันทราได้ส่งจดหมายตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2558 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ตามที่นายอาทิตย์กำหนด

เช่นนี้ จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านที่นางจันทราส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้นท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางจันทราได้ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่ 5 เมษายน 2558 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายอาทิตย์ได้กำหนดไว้ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านางจันทราส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558 อันเป็นเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้ในกรณีเช่นนี้ คำสนองของนางจันทราจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่านายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่าผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่ จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น

(1)  ถ้านายอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองล่วงเวลา

(2)  แต่ถ้านายอาทิตย์ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราเกิดขึ้น

สรุป

จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านของนางจันทราที่ส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า นายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ตามมาตรา 358

Advertisement