การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวบวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายยิ่งทำสัญญาขายที่ดินของตนให้นายยงแปลงหนึ่ง โดยทราบดีว่านายยงจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไปเพื่อสร้างโรงงานถลุงเหล็ก นอกจากนี้ นายยิ่งยังทราบดีว่าที่ดินของตนอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม แต่ปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว
ภายหลังจากที่นายยงซื้อที่ดินได้ไม่นาน นายยงได้ยื่นขออนุญาตจากทางราชการเพื่อทำการก่อสร้างโรงงานของตน แต่ทางราชการกลับแจ้งเป็นหนังสือให้นายยงทราบว่า นายยงไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเนื่องจากที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นายยงรู้สึกหนักใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากนายยงได้ทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นายยงคงไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเลย
ให้วินิจฉัยว่า นายยงได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ได้ซื้อมาหรือไม่ มีผลทางกฎหมายเช่นไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ
ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนี้นคงจะมิได้กระทำขึ้น ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายยงทำสัญญาซื้อที่ดินจากนายยิ่งไปเพื่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กโดยไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ถือว่านายยงได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะถ้านายยงมิได้สำคัญผิดคือทราบความจริงดังกล่าว นายยงก็คงจะไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเลย ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายยงและนายยิ่งจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 ซึ่งนายยงสามารถบอกล้างได้ และเมื่อนายยงได้บอกล้างแล้วสัญญาซื้อขายย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรก
สรุป
นายยงได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ได้ซื้อมา และสัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆียะ ซึ่งนายยงสามารถบอกล้างได้
ข้อ 2. นายตะวันหลอกนายฟ้าขายที่ดินให้กับตน โดยหลอกลวงนายฟ้าว่า ที่ดินของนายฟ้าจะถูกเวนคืน เพื่อสร้างทางด่วน นายฟ้าหลงเชื่อ จึงทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายตะวันไปในราคาถูกกว่าความเป็นจริง ต่อมานายฟ้าทราบความจริงว่านายตะวันหลอกตนให้ขายที่ดินในราคาถูกที่จริงแล้วไม่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางด่วนแต่อย่างใด นายฟ้าจึงใช้สิทธิบอกล้างการซื้อขายที่ดินกับนายตะวัน แต่ปรากฏว่าก่อนที่นายฟ้าจะบอกล้างนั้นนายตะวันได้นำที่ดินที่ซื้อมาจากนายฟ้าไปยกให้กับนางสาวฝนโดยเสน่หา โดยที่นางสาวฝนเข้าใจว่าที่ดินนั้นเป็นของนายตะวัน
ดังนั้นเมื่อนายฟ้ามาทราบภายหลังว่านายตะวันได้ยกที่ดินนั้นให้กับนางสาวฝนไปแล้ว นายฟ้าจึงมาเรียกคืนที่ดินดังกล่าวจากนางสาวฝน ดังนี้อยากทราบว่านางสาวฝนต้องคืนที่ดินดังกล่าวให้กับนายฟ้าหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 159 วรรคแรกและวรรคสอง “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”
มาตรา 160 “การบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตะวันหลอกนายฟ้าขายที่ดินให้กับตน โดยหลอกลวงนายฟ้าว่า ที่ดินของนายฟ้าจะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วน จนทำให้นายฟ้าหลงเชื่อและยอมทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าว ให้นายตะวันไปในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริงนั้น ถือว่านายฟ้าได้แสดงเจตนาเพราะถูกนายตะวันใช้กลฉ้อฉล และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดคือถ้าไม่มีการใช้กลฉ้อฉลว่าที่ดินนั้นจะถูกเวนคืน นายฟ้าก็คงจะไม่ขายที่ดินในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริงให้แก่นายตะวัน ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างนายตะวันและนายฟ้าย่อมตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159 วรรคแรกและวรรคสอง นายฟ้าย่อมมีสิทธิบอกล้างการซื้อขายที่ดินกับนายตะวันได้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่นายฟ้าจะบอกล้างนั้นนายตะวันได้นำที่ดินที่ซื้อมาจากนายฟ้าไปยกให้กับนางสาวฝนโดยเสน่หา โดยที่นางสาวฝนเข้าใจว่าที่ดินนั้นเป็นของนายตะวัน ย่อมถือได้ว่านางสาวฝนเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต ดังนั้นเมื่อนายฟ้าบอกล้างการซื้อขายที่ดินกับนายตะวัน และมาทราบภายหลังว่านายตะวันได้ยกที่ดินนั้นให้กับนางสาวฝนไปแล้ว นายฟ้าจึงไม่สามารถเรียกที่ดินดังกล่าวจากนางสาวฝนได้ เพราะนางสาวฝนได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 160
สรุป
นางสาวฝนไม่ต้องคืนที่ดินดังกล่าวให้กับนายฟ้า
ข้อ 3. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2543 นายกระต่ายได้ทำสัญญากู้เงินจากนายกระทิงเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 15 มีนาคม 2544 เมือหนี้ถึงกำหนดนายกระต่ายไม่นำเงินมาชำระ นายกระทิงได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 10 มีนาคม 2554 นายกระทิงได้เขียนหนังสือไปทวงเงินจำนวนดังกล่าวจากนายกระต่าย ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2554 นายกระต่ายได้นำเงินไปชำระให้แก่นายกระทิงเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท แต่หลังจากนั้นนายกระต่ายก็ไม่นำเงินมาชำระให้อีกเลย นายกระทิงจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 16 มีนาคม 2555 นายกระต่ายต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554 แต่นายกระทิงอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายกระทิงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์
มาตรา 193/3 “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น
ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ”
มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”
มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายกระต่ายได้ทำสัญญากู้เงินจากนายกระทิงเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท โดยมีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 15 มีนาคม 2544 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายกระต่ายไม่นำเงินมาชำระ อายุความจึงเริ่มต้นนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 16 มีนาคม 2544 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้ โดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คืออายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปีจะครบกำหนดในวันที่ 15มีนาคม 2554 และแม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 16 มีนาคม 2554 นายกระต่ายได้นำเงินไปชำระให้แก่นายกระทิงเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนก็ตาม แต่เมื่อเป็นการชำระหนี้เมื่อเลย
กำหนดอายุความเดิมมาแล้ว กรณีจึงไม่ถือว่าเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) แต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อนายกระทิงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 16 มีนาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องเมื่อเลยกำหนดอายุความแล้ว นายกระต่ายย่อมมีสิทธิยกเอาอายุความขึ้นต่อสู้นายกระทิงได้
สรุป
ข้อต่อสู้ของนายกระทิงที่ว่ายังไม่ขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 4. นายรื่นทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ TOYOTA ทะเบียน 1234 กรุงเทพมหานคร จากนายเริงในราคา 1,000,000 บาท โดยชำระเงินค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาจำนวน 200,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 800,000 บาท ตกลงชำระเป็นงวดรวม 80 งวด ๆ ละ 10,000 บาท ทุกวันที่ 1 ขอนดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป และมีข้อสัญญาว่า ถ้านายรื่นผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวดติดต่อกัน หรือค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันยกเลิกเพิกถอนทันที
ปรากฏว่า นายรื่นค้างชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 11 – 13 แต่เมื่อนายรื่นนำเงินค่าเช่าซื้อมาชำระต่อนายเริง นายเริงก็ยอมรับไว้ พร้อมออกใบเสร็จรับเงินให้ ภายหลังต่อมานายรื่นค้างชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 15 – 16 อีก นายเริงก็ไม่ได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด ทั้งยังออกใบเสร็จรับเงินให้อีกเช่นเคย อย่างไรก็ตาม เมื่อนายรื่น ค้างชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 19 – 20 อีกครั้ง นายเริงไม่สามารถทนต่อการผิดนัดชำระหนี้ของนายรื่นได้
นายเริงจึงทำหนังสือทวงถามให้นายรื่นนำค่าเช่าซื้องวดที่ 19 – 20 มาชำระภายในระยะเวลา 15 วัน
แต่เมื่อครบกำหนด 15 วัน แล้ว นายเริงก็ยังไม่ได้รับค่าเช่าซื้องวดที่ 19 – 20 แต่อย่างใด นายเริงจึงได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังนายรื่น พร้อมเรียกให้นายรื่นส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ตน
ให้วินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของนายเริงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนายรื่นต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นายเริงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 386 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อิกฝ่ายหนึ่ง…”
มาตรา 387 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้”
มาตรา 391 วรรคแรก “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้อง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรื่นได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากนายเริง และต่อมานายรื่นได้ผิดนัดค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไปนั้น ย่อมทำให้นายเริงสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตามมาตรา 386
โดยการแสดงเจตนาแกนายรื่น แต่อย่างไรก็ดี เมือนายรื่นนำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างมาชำระ นายเริงก็รับไว้ทุกครั้ง ย่อมมีผลทำให้นายเริงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามข้อตกลงในสัญญาได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ ถ้านายเริงจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ การบอกเลิกสัญญาของนายเริงจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
และต่อมานายรื่นได้ค้างชำระค่าเช่าซื้ออีกในงวดที่ 19 – 20 นายเริงจึงได้ทำหนังสือทวงถามให้นายรื่นนำค่าเช่าซื้องวดที่ 19 – 20 มาชำระภายในระยะเวลา 15 วัน แต่เมื่อครบกำหนด 15 วันแล้วนายรื่นก็มิได้นำค่าเช่าซื้องวดที่ 19 – 20ไปชำระให้แก่นายเริงแต่อย่างใด ดังนี้นายเริงย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตามมาตรา 387
และเมื่อปรากฎว่านายเริงได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว นายรื่นและนายเริงจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมก่อนเกิดสัญญาเช่าซื้อตามมาตรา 391 วรรคแรก ดังนั้นนายรื่นจึงต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นายเริง
สรุป
การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของนายเริงชอบด้วยกฎหมาย และนายรื่นจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นายเริง