การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 สมศรีและสมรักตกลงที่จะแต่งงานกัน แต่สมรักบอกสมศรีว่าค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งนั้นสมรักมีไม่พอที่จะสามารถจัดงานแต่งงานได้ สมศรีจึงเป็นฝ่ายเตรียมการแต่งงานและเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามาสมศรีต้องการให้สมรักนั้นไปจดทะเบียนกับตนเอง เพราะสมศรีต้องการเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายและกลัวว่าในอนาคตถ้าสมรักไปแต่งงานใหม่และไปจดทะเบียนสมรสก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ แต่สมรักก็ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับสมศรี ทำให้สมศรีไม่ต้องการที่จะใช้ชีวิตคู่กับสมรักต่อไป ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า สมศรีจะฟ้องร้องให้สมรักรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดในการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสนบาทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหวางการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมศรีได้เตรียมการแต่งงานและเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสนบาทนั้น เป็นการกระทำที่เกิดจากความสมัครใจของสมศรีเอง มิได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของสมรักที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของสมศรีแต่อย่างใด ดังนั้นจะถือว่าสมรักได้กระทำละเมิดต่อสมศรีไม่ได้ สมรักจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับสมศรี (เทียบฎีกาที่ 45/2532)

ดังนั้นสมศรีจะฟ้องร้องให้สมรักรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดในการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานไปจำนวนสองแสนบาทไม่ได้

สรุป สมศรีจะฟ้องร้องให้สมรักรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดในกรณีดังกล่าวไม่ได้

 

 

ข้อ 2. นางสาวน้อย อายุ 17 ปี บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายต้อย แอบหยิบกุญแจรถยนต์ที่นายต้อยนำไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงิน ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ แล้วขับรถยนต์ของนายต้อยไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ระหว่างเดินทางนั้น นางสาวน้อยขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากขับแข่งกันมากับรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งมีนายจ้อยอายุ 17 ปี บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายอ้อย โดยนายจ้อยได้ไปงัดโต๊ะที่นายอ้อยเก็บกุญแจรถยนต์ไว้อย่างดีหนีบิดาออกมาเที่ยวเช่นกัน ทั้งนางสาวน้อยและนายจ้อยขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงและไม่ได้ระมัดระวัง เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันนั้นขับพุ่งชนรถยนต์ของนางแจ๋วที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ได้รับความเสียหาย จงวินิจฉัยว่า ใครจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋วบ้าง อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถใบการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ บุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋ว แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนางสาวน้อย การที่นางสาวน้อยอายุ 17 ปี บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายต้อยขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากขับแข่งกันมากับรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งมีนายจ้อยเป็นคนขับและไม่ได้ระมัดระวังเป็นเหตุให้นางสาวน้อยขับพุ่งชนรถยนต์ของนางแจ๋วที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ได้รับความเสียหายนั้น

ถือว่าการกระทำของนางสาวน้อยเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวแจ๋วตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายต่อทรัพย์สินและการกระทำของนางสาวน้อยมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นนางสาวน้อยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน และแม้ว่านางสาวน้อยจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนั้นตามมาตรา 429

และเมื่อปรากฏว่าการทำละเมิดของนางสาวน้อยซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ (ผู้เยาว์) ต่อนางแจ๋วนั้น ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของนายต้อยซึ่งนายต้อยก็ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นกล่าวคือได้นำกุญแจรถยนต์เก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินโดยไม่ได้ใส่กุญแจทำให้นางสาวน้อยแอบหยิบกุญแจรถยนต์และขับรถยนต์ของนายต้อยไปเที่ยวได้ ดังนั้นนายต้อยซึ่งเป็นผู้รันดูแลจึงต้องรับผิดร่วมกับนางสาวน้อยในผลแห่งละเมิดนั้นตามมาตรา 430

กรณีของนายจ้อย การที่นายจ้อยอายุ 17 ปี บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายอ้อยได้งัดโต๊ะที่นายอ้อยเก็บกญแจรถยนต์ไว้อย่างดีหนีบิดาออกมาเที่ยวและได้ขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากขับแข่งกันมากับรถยนต์ที่นางสาวน้อยขับและไม่ได้ระมัดระวัง เป็นเหตุให้ขับพุ่งชนรถยนต์ของนางแจ๋วที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ได้รับความเสียหายนั้น ถือว่าการกระทำของนายจ้อยเป็นการกระทำละเมิดต่อนางแจ้วตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายต่อทรัพย์สิน และการกระทำของนายจ้อยมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นนายจ้อยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน และแม้ว่านายจ้อยจะเป็นผู้ไร้ความสามารถ (ผู้เยาว์) ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนั้นตามมาตรา 429

ส่วนนายอ้อยซึ่งเป็นบิดาเมื่อได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้วจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดกับนายจ้อยตามมาตรา 429

สรุป บุคคลที่จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋วได้แก่ นางสาวน้อย นายจ้อยและนายต้อยซึ่งต้องร่วมรับผิดกับนางสาวน้อย ส่วนนายอ้อยไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายจ้อย ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 3. นายแช่มเป็นเจ้าของลิงซึ่งได้ฝากไว้กับนายแล่มเพื่อนบ้าน วันเกิดเหตุนายแล่มยุให้ลิงวิ่งไปบนหลังคารถยนต์ของนางแจ่มทำให้หลังคารถเป็นรอยเสียหาย ต่อมานายแล่มได้ขว้างลูกบอลเล่นในบ้านของตน ลิงของนายแช่มจึงวิ่งเข้าไปแย่งลูกบอล ทำให้ลูกบอลกระเด็นเข้าไปถูกกระจกบ้านของนางสวยแตกเสียหาย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแช่มและนายแล่มจะต้องรับผิดต่อนางแจ่มและนางสวยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้ คือ

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ นายแช่มและนายแล่มจะต้องรับผิดต่อนางแจ่มและนางสวยหรือไม่แยกพิจารณาได้ดังนี้

  1. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแจ่ม การที่นายแล่มได้ยุให้ลิงวิ่งไปบนหลังคารถยนต์ของนางแจ่มทำให้หลังคารถเป็นรอยเสียหายนั้น การกระทำของนายแล่มถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายแล่ม จึงถือว่านายแล่มได้กระทำละเมิดต่อนางแจ่มตามมาตรา 420 นายแล่มจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ่ม

ส่วนนายแช่มแม้เป็นเจ้าของลิงแต่ไม่ได้กระทำละเมิดต่อนางแจ่ม จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางแจ่ม

  1. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางสวย การที่นายแล่มได้ขว้างลูกบอลเล่นในบ้านของตนและลิงของนายแช่มที่นายแช่มได้ฝากไว้กับนายแล่มได้วิ่งเข้าไปแย่งลูกบอลทำให้ลูกบอลกระเด็นเข้าไปถูกกระจกบ้านของนางสวยแตกเสียหายนั้น นายแล่มมิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่นางสวยแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่านายแล่มได้กระทำละเมิดต่อนางสวยตามมาตรา 420

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ลิงได้วิ่งเข้าไปแย่งลูกบอลทำให้ลูกบอลกระเด็นเข้าไปถูกกระจกบ้านของนางสวยแตกเสียหายนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นางสวยได้รับความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ซึ่งตามมาตรา 433 วรรคแรกกำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือผู้รับเลี้ยงสัตว์ต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่าสัตว์ดังกล่าวได้ก่อความเสียหายในขณะที่อยู่ในความดูแลของนายแล่มซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงสัตว์นั้น นายแล่มจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสวย ส่วนนายแช่มเจ้าของสัตว์ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

สรุป นายแล่มจะต้องรับผิดต่อนางแจ่มและนางสวย ส่วนนายแช่มไม่ต้องรับผิดตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 4. นายเอกชัยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกับนางตั๊กแตน มีบุตรด้วยกันสองคนเป็นฝาแฝดชื่อนางสาวแพงและนางสาวแจงอายุ 21 ปี แต่นางสาวแจงนั้นพิการทางสมองมาตั้งแต่เกิดไม่สามารถดูแลตนเองได้ ตอนที่นางสาวแพงและนางสาวแจงอายุ 15 ปี นายเอกชัยและนางตั๊กแตนหย่าขาดจากกัน นายมนต์สิทธิ์สงสารจึงได้จดทะเบียนรับนางสาวแพงและนางสาวแจงไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายบันเทิงได้ขับรถบรรทุกเครื่องดนตรีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อส่งเครื่องดนตรีเสร็จแล้วระหว่างเดินทางกลับ นายบันเทิงได้ขับรถด้วยความเร่งรีบเกรงว่าจะกลับไปรับลูกสาวที่กรุงเทพฯ ไม่ทัน ทำให้นายบันเทิงขับรถไปชนนายเอกชัยและนายมนต์สิทธิที่เดินทางไปต่างจังหวัดด้วยกันถึงแก่ความตาย จงวินิจฉัยว่า ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายบันเทิงได้

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบันเทิงได้ขับรถบรรทุกด้วยความเร่งรีบทำให้ไปชนนายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของนายบันเทิงเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทำของนายบันเทิงสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือความตายของนายเอกชัยและนายมนต์สิทธิ์ นายบันเทิงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

สำหรับประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายบันเทิงนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคแรก ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากกระทำละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629

กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น

ได้แก่ สามีภริยาที่ซชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น

  1. ในกรณีความตายของนายเอกชัย ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนใบกรณีค่าปลงศพคือนางสาวแพงและนางสาวแจงซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ส่วนผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจง ซึ่งเป็นบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ ส่วนนางสาวแพงซึ่งมิใช่บุตรผู้เยาว์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีขาดไร้อุปการะไม่ได้
  2. ในกรณีความตายของนายมนต์สิทธิ์ ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพคือ นางสาวแพงและนางสาวแจงซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 ส่วนผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจงซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้

ส่วนนางสาวแพงแม้เป็นบุตรบุญธรรมแต่มิใช่บุตรที่ทุพพลภาพจนหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ จึงเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ไม่ได้

สรุป

บุคคลที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพในกรณีความตายของนายเอกชัย คือนางสาวแพงและนางสาวแจง ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น นางสาวแจงเป็นผู้มิสิทธิเรียกได้ บุคคลที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพในกรณีความตายของนายมนต์สิทธิ์ คือนางสาวแพงและนางสาวแจง ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น นางสาวแจงเป็นผู้มีสิทธิเรียกได้

Advertisement