การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายพงศ์เป็นเพื่อนกับนายสุขุมซึ่งมีอายุเท่ากันคือ 16 ปี และทั้งสองคนเป็นลูกจ้างของบริษัทปั๊มน้ำมันอิสุสุ โดยที่นางโฉมซึ่งเป็นมารดาของนายพงศ์และอยู่ต่างจังหวัดได้เช่าห้องชั้นสองของนางฉัตรให้นายพงศ์อยู่อาศัย วันเกิดเหตุ นายพงศ์ได้ชวนให้นายสุขุมพร้อมกับนายชาญมาทานอาหารที่ห้องของตน นายพงศ์ได้ขว้างกระป๋องน้ำอัดลมออกมาจากห้อง หล่นใส่ศีรษะของนายเอ ขณะที่นายสุขุมได้ออกมายืนที่ระเบียงบ้านและทำโทรศัพท์หล่นจากมือตกใส่รถยนต์ของนายบี ส่วนนายชาญต้องการหยอกล้อเด็กหญิงซีจึงได้ขว้างถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งไปที่เด็กหญิงซี

หากข้อเท็จจริงเหล่านี้ นายเอ นายบี และเด็กหญิงซีไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ทำให้ตนเสียหาย และไม่มีใครยอมรับผิดชอบในความเสียหายนั้น ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครเป็นผู้ต้องรับผิดในเหตุละเมิดนี้

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

มาตรา 436 “บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพงศ์ได้ขว้างกระป๋องน้ำอัดลมออกมาจากห้องหล่นใส่ศีรษะของนายเอ นายสุขุมได้ทำโทรศัพท์หล่นจากมือตกใส่รถยนต์ของนายบี และนายชาญได้ขว้างถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งไปที่เด็กหญิงซีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเอ นายบี และเด็กหญิงซีไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ทำให้ตนเสียหาย และไม่มีใครยอมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น กรณีดังกล่าวจะถือว่าการกระทำของนายพงศ์ นายสุขุม และนายชาญ เป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 ไม่ได้

เมื่อการกระทำของนายพงศ์และนายสุขุมไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้น นางโฉมมารดาของนายพงศ์จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 429 เพราะตามมาตรา 429 ได้กำหนดให้มารดาของผู้เยาว์ต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์ก็เฉพาะในกรณีที่ผู้เยาว์ได้ไปทำละเมิดต่อบุคคลอื่นและผู้เยาว์ต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนั้น

ส่วนบริษัทปั๊มน้ำมันอิสุสุซึ่งเป็นนายจ้างของนายพงศ์และนายสุขุมนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านายพงศ์และนายสุขุมซึ่งเป็นลูกจ้างได้ไปทำละเมิดและต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของนายจ้าง ดังนั้นนายจ้างคือบริษัทปั๊มน้ำมันอีสุสุจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 425 และมาตรา 430

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นายเอ นายบี และเด็กหญิงซีนั้น ไม่ได้เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้นจึงต้องถือว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะของตกจากโรงเรือนตามมาตรา 436 ซึ่งตามมาตรา 436นั้น ได้กำหนดให้ “บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือน” ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากของตกจากโรงเรือนหรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร และตามข้อเท็จจริง เมื่อนางโฉมเป็นผู้เช่าห้องหลังดังกล่าวของนางฉัตร ย่อมถือว่านางโฉมเป็นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือน

ดังนั้น นางโฉมจึงต้องรับผิดในเหตุละเมิดดังกล่าว ส่วนนางฉัตรไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

สรุป นางโฉมเป็นบุคคลที่จะต้องรับผิดในเหตุละเมิดดังกล่าว

 

 

ข้อ 2. นายเอกเจ้าของกิจการโรงงานผลิตลูกชิ้น มีนายโทเป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถส่งลูกชิ้นให้ลูกค้า วันหนึ่งนายโทต้องนำลูกชิ้นไปส่งที่สระบุรี ระหว่างทางขับไปส่ง ขณะนายโทจอดรถบรรทุกพักข้างทางริมเขา มีช้างป่าตกมันวิ่งเข้ามาจะทำร้ายนายโทด้วยอาการดุร้าย นายโทเห็นดังนั้นจึงวิ่งคว้าเอารังผึ้งที่นายเม้งเลี้ยงไว้โยนใส่ช้างป่าตัวดังกล่าวทำให้ช้างป่าวิ่งหนีเตลิดไป เนื่องจากโดนผึ้งรุมต่อย นายโทและนายตรีเด็กยกของจึงปลอดภัยจากช้างตัวนั้น

ต่อมาเมื่อนายโทส่งลูกชิ้นปลาแก่ลูกค้าสำเร็จ ในขณะขับรถขากลับ นายโทได้ขับออกนอกเส้นทางปกติเพื่อแวะไปซื้อสินค้าส่วนตัวที่ตลาด ปรากฏว่านายโทขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายโชคได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า นายเอกและนายโทจะต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายเม้งและนายโชคหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 450 วรรคสอง “ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่เอกชนโดยฉุกเฉน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่มีช้างป่าตกมันวิ่งเข้ามาจะทำร้ายนายโทด้วยอาการดุร้าย และนายโทได้คว้าเอารังผึ้งที่นายเม้งเลี้ยงไว้โยนใส่ช้างป่าตัวดังกล่าว ทำให้ช้างป่าวิงหนีเตลิดไปเนื่องจากโดนผึ้งรุมต่อยนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายโทได้ทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์คือรังผึ้งของนายเม้งเพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมีแก่บุคคลโดยฉุกเฉินตามมาตรา 450 วรรคสอง ดังนั้น นายโทจึงได้รับการนิรโทษกรรม คือได้รับการยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น แต่นายโทจะต้องใช้คืนรังผึ้งให้แก่นายเม้ง

ส่วนกรณีที่นายโทได้ขับรถชนนายโชคได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหายแก่ร่างกาย ดังนั้น นายโทจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโชคตามมาตรา 420 และเมื่อการกระทำของนายโทถือว่าได้ทำละเมิดในขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ซึ่งแม้นายโทจะได้ทำละเมิดในขณะขับรถขากลับและได้ขับออกนอกเส้นทางปกติเพื่อแวะไปซื้อสินค้าส่วนตัวที่ตลาดก็ตาม นายเอกผู้เป็นนายจ้างก็ต้องร่วมรับผิดกับนายโทลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งนายโทได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วยตามมาตรา 425

สรุป นายโทไม่ต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายเม้ง แต่จะต้องใช้คืนรังผึ้งแก่นายเม้งนายเอกและนายโทต้องรับผิดทางละเมิด โดยการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายโชค

 

 

ข้อ 3. นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง หลังจาก นาง ข. คลอดเด็กชายแดงแล้ว นาง ข. ถึงแก่ความตาย เมื่อนาง ข. ตาย นาย ก. ได้นำเด็กชายแดงไปอุปการะเลี้ยงดูจนกระทั่งเด็กชายแดงอายุ 13 ปี เด็กชายแดงชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านในเวลากลางคืนทุกคืน โดยที่นาย ก. ไม่เคยห้ามปราม ไม่เคยตักเตือน ไม่เคยว่ากล่าวสั่งสอน คืนเกิดเหตุเด็กชายแดงไปเที่ยวนอกบ้านเกิดไม่พอใจนายขาว เด็กชายแดงใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ นายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อบุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายขาวจะฟ้องใครให้รับผิดในทางละเมิดได้บ้างหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของเด็กชายแดง การที่เด็กชายแดงใช้มีดแทงนายขาวได้รับบาดเจ็บสาหัส ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายต่อร่างกายโดยจงใจตามมาตรา 420 และแม้เด็กชายแดงจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนั้นตามมาตรา 429

กรณีของนาย ก. การที่นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทำให้นาย ก. มีฐานะเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายแดง ดังนั้น นาย ก. จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับเด็กขายแดงในผลที่เด็กชายแดงได้ทำละเมิดต่อนายขาวตามมาตรา 429 เพราะตามมาตรา 429 นั้น บิดาที่จะต้องร่วมรับผิดกับการทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถที่เป็นผู้เยาว์ จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นาย ก. ได้นำเด็กชายแดงไปอุปการะเลี้ยงดูนั้น ถือว่านาย ก. ได้ดูแลเด็กชายแดงตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อเด็กชายแดงได้ไปทำละเมิดต่อนายขาวในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของ นาย ก. นาย ก. ในฐานะบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลเด็กชายแดงผู้เยาว์จึงต้องร่วมรับผิดกับเด็กชายแดงในผลของการทำละเมิดนั้นตามมาตรา 430

สรุป นายขาวสามารถฟ้องเด็กชายแดงให้รับผิดฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420 และมาตรา 429นายขาวฟ้องนาย ก. ให้ร่วมรับผิดกับเด็กชายแดงได้ตามมาตรา 430

 

 

ข้อ 4. หลักเกณฑ์ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่ได้รับนิรโทษกรรม มีอะไรบ้าง จงอธิบาย โดยใช้หลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ 1 ตัวอย่าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่…”

อธิบาย

หลักเกณฑ์ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคแรกนั้น เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายบัญญัติแต่เพียงว่า “กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย” แต่ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า กรณีอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องอาศัยเทียบเคียงกับการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย…”

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจาก ป.พ.พ. มาตรา 449 วรรคแรก ประกอบกับ ป.อาญา มาตรา 68หลักเกณฑ์ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับนิรโทษกรรม จึงต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

  1. มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย

“ภยันตราย” หมายความถึง ภัยที่เป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคล

“ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย” ในทีนี้หมายถึง ผู้ก่อภยันตรายนั้นไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ จะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายอาญา เช่น บุกรุก ลักทรัพย์ ฆ่า ฯลฯ หรือละเมิดต่อกฎหมายแพ่ง เช่น ทำให้เขาเสียหายต่อทรัพย์สิน ชีวิตหรือสิทธิใดก็ได้ และจะเป็นจงใจกระทำละเมิดต่อกฎหมายหรือประมาทเลินเล่อก็ได้

การประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น จะต้องเป็นการกระทำของบุคคล ส่วนสัตว์หรือสิ่งของไม่อาจกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม บุคคลอาจใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการละเมิดกฎหมายก็ได้

  1. เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หมายความว่า ภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าผู้กระทำไม่ทำการป้องกันก่อน ก็ย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับตนเองหรือผู้อื่น
  2. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้นการที่จำต้องกระทำนั้น ก็เพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตนหรือผู้อื่นซึ่งหากไม่ทำเช่นนั้นตนหรือผู้อื่นจะถูกละเมิดสิทธิ และอาจได้รับความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นได้
  3. ผู้กระทำได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ คือ ได้กระทำไปพอสมควรแก่กรณีที่จำต้องกระทำเพื่อมิให้ภัยหรือภยันตรายนั้นเกิดขึ้น

ตัวอย่าง นายเอกกับนายโทเป็นศัตรูกัน วันเกิดเหตุขณะที่นายเอกขับรถยนต์ไปตามถนน

เห็นนายโทเดินมา นายเอกขับรถเพื่อที่จะชนนายโท นายโทเห็นจวนตัวจะหลบก็หลบไม่ทัน นายโทจึงใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ของนายเอกแตก 2 เส้น คิดเป็นเงิน 5,000 บาท ดังนี้ ถือว่าการกระทำของนายโทเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายโทจำต้องกระทำการเพื่อฟ้องกับสิทธิของตนเองให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและนายโทได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ

นายโทจึงสามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมเพื่อไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ยางรถยนต์แตก 2 เส้นคิดเป็นเงิน 5,000 บาทได้ตามมาตรา 449 วรรคแรก

Advertisement