การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวบวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. จันทร์ขายม้าให้อังคารหนึ่งตัว กำหนดส่งมอบม้าวันที่ 20 มกราคม 2559 ก่อนถึงกำหนดส่งมอบ 10 วัน อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ว่า ตามกำหนดส่งมอบม้านั้น อังคารไม่สามารถรับมอบม้าได้ เนื่องจากยังสร้างคอกม้าไม่เสร็จ ปรากฏว่าจันทร์ได้บอกกล่าวไปยังอังคารว่า จันทร์ได้เตรียมการที่จะส่งมอบม้าไว้พร้อมแล้ว แต่อังคารก็ยังปฏิเสธไม่ยอมรับมอบม้า ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ”
มาตรา 208 วรรคสอง “แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชำระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะชำระหนี้จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว
ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าคำบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคำขอปฏิบัติการชำระหนี้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ขายม้าให้แก่อังคารหนึ่งตัว กำหนดส่งมอบม้าวันที่ 20 มกราคม 2559 แต่ก่อนถึงกำหนดส่งมอบม้า 10 วัน อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ว่า ตามกำหนดส่งมอบม้านั้น อังคารไม่สามารถรับมอบม้าได้เนื่องจากยังสร้างคอกม้าไม่เสร็จนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ (อังคาร) ได้แสดงแก่ลูกหนี้ (จันทร์)ว่าจะไม่รับชำระหนี้ตามมาตรา 208 วรรคสอง ดังนั้น จันทร์ (ลูกหนี้) จึงมิต้องเสนอขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยตรงอย่างกรณีทั่วไป เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแล้ว เพียงแต่ในกรณีนี้กฎหมายได้กำหนดให้เพียงลูกหนี้บอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการที่จะชำระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้วก็เป็นการเพียงพอแล้ว
และจากข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า จันทร์ (ลูกหนี้) ได้บอกกล่าวไปยังอังคาร (เจ้าหนี้) ว่าจันทร์ได้เตรียมการที่จะส่งมอบม้าไว้พร้อมแล้ว แต่อังคารก็ยังปฏิเสธไม่ยอมรับมอบม้า จึงถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงถือว่าอังคาร (เจ้าหนี้) ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคสอง
สรุป อังคารเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ข้อ 2 ก. ยืมควาย ข. ไถนาสองวัน แต่ไถนาไม่เสร็จ ขณะที่ ก. ให้ควายไถนาในวันที่สามหลังจากยืม ค.ขับรถมาตามถนนเกิดหลับใน รถพุ่งลงท้องนาชนควายคอหักตาย ข. จะเรียกให้ใครรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าวได้บ้าง เพราะเหตุใด และจะแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างไร อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่าย ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้”
มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”
มาตรา 217 “ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายบรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบใบการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้น ถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง”
มาตรา 226 “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
ช่วงทรัพย์ ได้แก่ เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน”
มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย”
มาตรา 228 วรรคหนึ่ง “ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น เป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้ หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้”
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. ได้ยืมควาย ข. ไถนาเป็นเวลา 2 วันนั้น เป็นสัญญายืมใช้และเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 203 วรรคสอง เมื่อครบกำหนด ก. ไถนาไม่เสร็จ จึงใช้ควายไถนาโดยไม่ส่งมอบควายคืนให้แก่ ข. ดังนี้ถือว่า ก. ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยเจ้าหนี้มิต้องเตือนตามมาตรา 204 วรรคสอง
การที่ ค. ได้ขับรถชนควายคอหักตายในระหว่างที่ ก. ผิดนัดนั้น ย่อมถือว่าการชำระหนี้ (การส่งมอบควายคืบให้ ข.) กลายเป็นพ้นวิสัยและเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ ก. ลูกหนี้ผิดนัด ก. ลูกหนี้จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวตามมาตรา 217 ดังนั้น ข. สามารถเรียกให้ ก. รับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าวได้
หรือ ข. อาจจะเรียกให้ ค. รับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าวเพราะถือว่า ค. ได้ทำละเมิดต่อ ข. ตามมาตรา 420 ก็ได้
ส่วนการแบ่งความรับผิดชอบของ ก. และ ค. นั้น ให้ใช้หลักการรับช่วงสิทธิและช่วงทรัพย์มาพิจารณา กล่าวคือ ถ้า ก. ชำระค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบควายคืนให้แก่ ข. เพราะเหตุการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยให้แก่ ข. เจ้าหนี้ ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวถือเป็นเรื่องของ “ช่วงทรัพย์” ตามมาตรา226 วรรคสอง และมาตรา 228 วรรคหนึ่ง และเมื่อ ก. ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ข. แล้ว ก. ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเข้า “รับช่วงสิทธิ” ของ ข. ในการไปเรียกเอาจาก ค. ได้ ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 227
สรุป ข. สามารถเรียกให้ ก. และ ค. รับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าวได้ ส่วนการแบ่งความรับผิดชอบของ ก. และ ค. นั้น ให้ใช้หลักการรับช่วงสิทธิและช่วงทรัพย์ ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3. นายพงซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 1 ไร่ จากนายสินเมื่อปี 2555 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2558 นายพงทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายเรนในราคา 1,000,000 บาท เพื่อสร้างโรงงานและคลังสินค้า กำหนดจดทะเบียนโอนกรมสิทธิ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 แต่วันที่ 20 มกราคม 2558 กรุงเทพมหานครส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ดินแปลงนี้เพื่อสร้างถนนสาธารณประโยชน์รวมเนื้อที่ 300 ตารางวา โดยแจ้งว่านายสินได้ยกให้เป็นถนนสาธารณะแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 แต่ในทะเบียนที่ดินไม่ได้บันทึกการยกให้ไว้นายพงจึงไม่เคยทราบมาก่อน กระทั่งได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงนี้แก่นายเรน นายเรนไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้ตามความประสงค์ จึงบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากนายพง ให้วินิจฉัยว่านายพงต้องรับผิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพงทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงที่นายพงได้ซื้อมาจากนายสินให้แก่นายเรนโดยกำหนดจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 แต่พอวันที่ 20มกราคม 2558 กรุงเทพมหานครได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อสร้างถนนสาธารณประโยชน์รวมเนื้อที่ 300 ตารางวา โดยแจ้งว่านายสินได้ยกให้เป็นถนนสาธารณะแล้วตั้งแต่ปี 2553 ทำให้นายเรนไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้ตามความประสงค์ จึงบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากนายพงนั้น
กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้นายพงจะไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่นายเรนได้อันเป็นการผิดสัญญาจะซื้อขายก็ตาม แต่สาเหตุนั้นเกิดจากการที่นายสินเจ้าของที่ดินคนเดิมได้ยกที่ดินบางส่วนให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยนายพงไม่เคยรู้เรื่องนี้ ทั้งไม่มีการบันทึกไว้ในทะเบียนที่ดินด้วย
ดังนั้น การที่นายพงไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่นายเรนได้ตามสัญญา จึงเป็นกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง
ซึ่งได้เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และเป็นเหตุให้นายพงลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง นายพงจึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเรน
สรุป นายพงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเรน
ข้อ 4. ในวันที่ 14 มีนาคม 2557 นายเอ นายบี และนายซีใด้ทำหนังสือสัญญาเป็นลูกหนี้ร่วมกู้เงินจากนายรวยไปจำนวน 3,000,000 บาท โดยมิได้มีการกำหนดเวลาชำระหนี้ลงไว้ นอกจากนี้ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวนั้น นายเอ นายบี และนายซีได้ทำข้อตกลงระหว่างกันเองไว้ว่า นายเอจะไม่รับผิดอย่างใดเลยในหนี้จำนวนนี้ สองเดือนต่อมานายรวยได้ไปทำสัญญาซื้อรถยนต์ 1 คัน ราคา 1,000,000 บาท โชว์รูมขายรถยนต์ของนายซี โดยมีข้อตกลงกันว่านายรวยจะชำระค่ารถยนต์เป็นเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่นายซี ภายในวันที่ 14 มีนาคม 2559 ภายหลังจากนั้นนายซีประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต โดยมีนางสาวซูซีเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวของนายซี ต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2559 นายรวยได้ทวงถาม ให้นางสาวซูซี่ในฐานะทายาทของนายซีลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดจำนวน 3,000,000 บาทให้แก่ตน
นางสาวซูซี่จึงแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับนายรวย ระหว่างหนี้ที่นายรวยค้างชำระค่ารถยนต์ต่อนายซี จำนวน 1,000,030 บาท กับหนี้เงินกู้รายดังกล่าว แต่นายรวยต้องการได้เงินสดเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการของตน อีกทั้งเห็นว่านางสาวซูซี่ไม่มีสิทธิแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้แทน นายซีจึงปฏิเสธไม่ยอมรับการหักกลบลบหนี้จากนางสาวซูซี่ ในวันเดียวกันนั้นเอง นายรวยได้มาเรียกให้นายเอชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดจำนวน 3,000,000 บาทให้แก่ตน แต่นายเอปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้แก่นายรวย โดยอ้างว่าหนี้ทั้งหมดระงับไปแล้วด้วยการหักกลบลบหนี้ระหว่างนางสาวซูซี่และนายรวยและตนก็ไม่ต้องรับผิดใด ๆ ในหนี้จำนวนนี้ตามที่ได้ตกลงไว้กับนายบีและนายซีด้วย
ด้งนี้ให้วินิจฉัยว่า นายเอต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นายรวยหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์
มาตรา 203 วรรคหนึ่ง “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน”
มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ”
มาตรา 292 “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย
ลูกหนี้ร่วมกับคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้หาได้ไม่”
มาตรา 341 “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอ นายบี และนายซีได้ทำหนังสือสัญญาเป็นลูกหนี้ร่วมกู้เงินจากนายรวยไปจำนวน 3,000,000 บาทนั้น ตามมาตรา 291 ลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงและเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งรับผิดโดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก
และแม้ว่านายเอ นายบี และนายซีลูกหนี้ร่วมจะได้ทำข้อตกลงระหว่างกันเองไว้ว่านายเอจะไม่รับผิดอย่างใดเลยในหนี้จำนวนนี้ก็ตามแต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงภายในระหว่างลูกหนี้ร่วมเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหนี้ได้ ดังนั้นนายเอจึงยังคงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นายรวยเจ้าหนี้
ส่วนประเด็นที่ว่านายเอจะต้องรับผิดชำระหนี้ไห้แก่นายรวยเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในเบื้องต้นนายรวยได้เรียกร้องให้นางสาวซูซี่ทายาทของนายซีแต่เพียงผู้เดียวชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดจำนวน 3,000,000 บาทให้แก่ตน นางสาวซูซี่จึงได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้กับนายรวย ระหว่างหนี้ที่นายรวยค้างชำระค่ารถยนต์ต่อนายซีจำนวน 1,000,000 บาท กับหนี้เงินกู้รายดังกล่าว นางสาวซูซี่ในฐานะทายาทของนายซีย่อมสามารถทำได้ เพราะการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 341 นั้น
เป็นกรณีที่บุคคลสองคนต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน (หนี้เงิน) และหนี้ทั้งสองรายนั้นได้ถึงกำหนดชำระแล้ว และจากข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อหนี้เงินกู้มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ลงไว้ ย่อมถือว่าหนี้เงินกู้ได้ถึงกำหนดชำระโดยพลัน (ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง) อีกทั้ง การที่นางสาวซูซี่ได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้กับนายรวยนั้น ก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 292 วรรคสอง เพราะมิได้เอาสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ร่วมกับคนอื่น ๆ มาใช้ในการหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด
ดังนั้นแม้นายรวยจะปฏิเสธไม่ยอมรับการหักกลบลบหนี้ของนางสาวซูซี่ ก็หามีผลทำให้การแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ของนางสาวซูซี่เสียไปไม่
เมื่อนางสาวซูซี่ได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับนายรวย ย่อมลส่งผลให้หนี้ระงับไปเพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายคือจำนวน 1,000,000 บาท และการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ของนางสาวซูซี่ต่อนายรวยยังส่งผลเป็นคุณแก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ ด้วยตามมาตรา 292 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ จะส่งผลให้นายเอและนายบียังคงมีหน้าที่ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นายรวยเป็นจำนวน 2,000,000 บาท ดังนั้น นายเอจึงยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่นายรวยเป็นจำนวน 2,000,000 บาท
สรุป นายเอยังคงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นายรวยเป็นจำนวน 2,000,000 บาท