การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวบวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารเป็นลูกหนี้ ในหนี้เงินกู้ห้าแสนบาท เมื่อถึงกำหนดชำระคืนในวันที่20 มกราคม 2557 อังคารได้ชำระหนี้ให้แก่จันทร์จำนวนห้าแสนบาท โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจันทร์ ซึ่งจันทร์เองก็ยอมรับว่าอังคารได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของจันทร์จริง ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าการชำระหนี้ของอังคารเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 208 วรรคแรก “การชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง ”
วินิจฉัย
กรณีที่จะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการขำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 208 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้เกิดผลตรงตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้จะต้องอยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ และจะต้องเป็นการชำระหนี้โดยตรง กล่าวคือ จะต้องเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้ในลักษณะที่จะให้เกิดสำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ของหนี้โดยตรง เช่น ลูกหนี้ตกลงจะชำระหนี้เป็นเงินสด ดังนี้ลูกหนี้จะนำทรัพย์สินอื่นมาชำระแทน หรือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้าหนี้ในธนาคารไม่ได้
เพราะจะถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น อันเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบตามมาตรา 208 วรรคแรก
ตามอุทาหรณ์ การที่อังคารเป็นลูกหนี้จันทร์ในหนี้เงินกู้ห้าแสนบาทนั้น อังคารจึงต้องชำระหนี้ให้แก่จันทร์ด้วยเงินโดยตรงจึงจะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ ดังนั้น การที่อังคารชำระหนี้ให้แก่จันทร์โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจันทร์ และแม้จันทร์เองจะยอมรับว่าอังคารได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของจันทร์จริงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก
สรุป การชำระหนี้ของอังคารเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยมิชอบ
ข้อ 2. ก. ว่าจ้าง ข. รับเหมาก่อสร้างบ้านในที่ดินของตนโดยใช้วัสดุก่อสร้างตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดในราคาสิบล้านบาท โดยมีข้อสัญญาตกลงกันว่า ผู้รับจ้างจะต้องนำหนังสือค้ำประกันผลงานในวงเงินร้อยละสิบของมูลค่างานทั้งหมด มีกำหนดเวลาสองปีนับตั้งแต่ผู้รับจ้างส่งมอบงานและรับเงินงวดสุดท้ายแล้วมามอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างจะคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้ต่อเมื่อผู้รับจ้างพ้นข้อผูกพันตามสัญญาที่ว่า ถ้ามีความชำรุดบกพร่องเสียหายแก่งานที่จ้างนี้ภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับมอบงาน
ผู้รับจ้างต้องทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้ว่าจ้างผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้มาทำการแก้ไขซ่อมแซมแทนผู้รับจ้างได้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ท่านตอบคำถามต่อไปนี้
ก. มูลหนี้เกิดจากสิ่งใด
ข. อะไรเป็นวัตถุแห่งหนี้
ค. ถ้ามีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นจะบังคับได้อย่างไร ใครมีสิทธิเลือกชำระหนี้
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 194 “ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่ง การชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้”
มาตรา 198 “ถ้าการอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง แต่จะต้องกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกทำการอย่างใดนั้นตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา 213 “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการ อันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ก. การที่ ก. ว่าจ้าง ข. รับเหมาก่อสร้างบ้านในที่ดินของตนโดยใช้วัสดุก่อสร้างตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดในราคา 10 ล้านบาทนั้น ถือว่าหนี้ระหว่าง ก. ผู้ว่าจ้างและ ข. ผู้รับจ้างเป็นหนี้ที่มีมูลหนี้เกิดขึ้นจากสัญญา โดย ก. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ ข. ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามมาตรา 194
ข. เมื่อหนี้ที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้รับจ้างตกลงรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้ว่าจ้าง ดังนั้น วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาคือการกระทำ คือ เป็นหนี้ที่ลูกหนี้ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนี่งตามที่ระบุไว้ในสัญญานั่นเอง และในกรณีที่ในสัญญามีข้อตกลงกับว่า ถ้ามีความชำรุดบกพร่องเสียหายแก่งานที่จ้างนี้ภายใน 2 ปี นับแต่วับที่ได้รับมอบงาบ ผู้รับจ้างต้องทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้มาทำการแก้ไขซ่อมแซมแทนผู้รับจ้างได้นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่การกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะทำการซ่อมแซมเองหรือจะให้ผู้ว่าจ้างให้คนอื่นมาทำการซ่อมแซมแทนนั่นเอง (มาตรา 198)
ค. ในกรณีที่มีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น และเป็นกรณีที่การกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง ดังนั้นสิทธิที่จะเลือกทำการอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้ (ผู้รับจ้าง) คือ ลูกหนี้มีสิทธิเลือกที่จะกระทำการแก้ไขความชำรุดบกพร่องภายในกำหนด หรือจะเลือกให้ผู้ว่าจ้างจ้างให้ผู้อื่นมาทำการแก้ไขซ่อมแซมก็ได้ (มาตรา 918)
และในส่วนของผู้ว่าจ้างนั้น เมื่อมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น ผู้ว่าจ้างสามารถบังคับได้โดยตรงคือเรียกให้ผู้รับจ้างกระทำการแก้ไขซ่อมแซม (มาตรา 213 วรรคแรก) แต่ถ้าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำได้ เช่น ผู้รับจ้างไม่ยอมทำการแก้ไขซ่อมแซม ดังนี้เมื่อวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำ ผู้ว่าจ้างจะให้บุคคลอื่นมาทำการแก้ไขซ่อมแซมแทนผู้รับจ้างและให้ผู้รับจ้างออกค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ (มาตรา 213 วรรคสอง) และไม่ตัดสิทธิของผู้ว่าจ้างที่จะเรียกค่าเสียหายในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น (มาตรา 213 วรรคท้าย)
สรุป
ก. มูลหนี้เกิดจากสัญญา
ข. วัตถุแห่งหนี้คือการกระทำและการกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง
ค. เมื่อมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น สิทธิเลือกชำระหนี้ตกอยู่แก่ฝ่ายผู้รับจ้าง ส่วนผู้ว่าจ้างมีสิทธิบังคับผู้รับจ้างได้ตามมาตรา 213 ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ข้อ 3. นายเอกเป็นเจ้าของร้านขายส่งบัตรอวยพรชนิดต่าง ๆ นายเอกสั่งซื้อ ส.ค.ส. แบบระบุปี พ.ศ. 2558จากโรงพิมพ์ของนายกิจ 2,000 ชุด ตกลงกันว่า นายกิจจะต้องนำ ส.ค.ส. มาส่งที่ร้านของนายเอก ในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 เพื่อขายต่อให้ร้านค้าปลีกที่นายเอกได้นัดส่งมอบไว้ในวันเดียวกัน แต่ว่านายกิจกลับนำ ส.ค.ส. มาส่งในวันที่ 15 มกราคม 2558 นายเอกจึงไม่รับ ส.ค.ส. ทั้งหมดไว้ เพราะพ้นช่วงเทศกาลมาแล้วไม่สามารถขายต่อได้ การกระทำของนายเอกเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนายเอกจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายจากนายกิจได้อย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”
มาตรา 216 ‘‘ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้”
มาตรา 222 วรรคแรก “การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น”
มาตรา 224 วรรคแรก “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกสั่งซื้อ ส.ค.ส. แบบระบุปี พ.ศ. 2558 จากโรงพิมพ์ของนายกิจและตกลงกันว่า นายกิจจะต้องนำ ส.ค.ส มาส่งให้แก่นายเอกในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 นั้น ถือว่าหนี้ที่เกิดจากมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างนายเอกกับนายกิจเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งนายกิจจะต้องส่งมอบหรือชำระหนี้ให้แก่นายเอกในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 แต่เมื่อถึงกำหนดนายกิจลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ จึงถือว่านายกิจลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลยตามมาตรา 204 วรรคสอง
การที่นายกิจได้นำ ส.ค.ส มาส่งมอบให้แก่นายเอกในวันที่ 15 มกราคม 2558 ซึ่งพ้นระยะเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ที่เป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้คือนายเอก นายเอกย่อมมีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ และสามารถเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากนายกิจได้ตามมาตรา 216 และมาตรา 222 วรรคแรก
โดยค่าเสียหายที่เรียกเป็นเงินนั้น นายเอกสามารถเรียกดอกเบี้ยได้อีกในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 224 วรรคแรก
สรุป การที่นายเอกบอกปัดไม่รับ ส.ค.ส. ทั้งหมดไว้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและนายเอกสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ และถ้าค่าเสียหายที่เรียกเป็นเงินนายเอกก็สามารถเรียกดอกเบี้ยได้อีกในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ข้อ 4. นายเอก นายโท และนายตรี ได้ทำหนังสือสัญญาเป็นลูกหนี้ร่วมกู้เงินจากนายแดงไปจำนวน 3,000,000 บาท โดยมีกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ในวันที่ 12 มีนาคม 2557 นอกจากนี้ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวนั้น นายเอก นายโท และนายตรี ได้ทำข้อตกลงระหว่างกันเองไว้ว่านายเอกจะไม่รับผิดอย่างใดเลยในหนี้จำนวนนี้ ต่อมานายแดงได้ไปซื้อแหวนเพชร 1 วง ราคา 1,000,000 บาทจากร้านของนายตรี โดยนายแดงและนายตรีตกลงกันว่าให้นายแดงชำระค่าแหวนเพชรเป็นเงิน 1,000,000 บาทให้แก่นายตรีภายในวันที่ 12 มีนาคม 2557 เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระในวันที่ 12 มีนาคม 2557 นายแดงได้เรียกร้องให้นายตรีแต่เพียงคนเดียวชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดจำนวน 3,000,000 บาทให้แก่ตน นายตรีจึงแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับนายแดงระหว่างหนี้ที่นายแดงค้างชำระค่าแหวนเพชรต่อนายตรีจำนวน 1,000,000 บาทกับหนี้เงินกู้รายดังกล่าว
แต่นายแดงต้องการได้เงินสดเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในการดำเนินกิจการของตน จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการหักกลบลบหนี้จากนายตรี ในวันเดียวกันนั้นเอง นายแดงได้มาเรียกให้นายเอกชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดจำนวน 3,000,000 บาท แต่นายเอกปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้แก่นายแดง โดยอ้างว่าหนี้ทั้งหมดระงับไปแล้วด้วยการหักกลบลบหนี้ระหว่างนายตรีและนายแดง และตนก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ ในหนี้จำนวนนี้ตามที่ได้ตกลงไว้กับนายโทและนายตรีด้วย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นายแดงมีสิทธิเรียกให้นายเอกเพียงคนเดียวขำระหนี้เงินกู้ให้แก่ตนได้หรีอไม่ เป็นจำนวนเท่าใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้
สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวดือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ”
มาตรา 292 วรรคแรก ‘‘การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย”
มาตรา 341 “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอก นายโท และนายตรี ได้ทำหนังสือสัญญาเป็นลูกหนี้ร่วมกู้เงินจากนายแดงจำนวน 3,000,000 บาทนั้น ถือได้ว่านายเอก นายโท และนายตรีเป็นลูกหนี้ร่วม ดังนั้น นายแดงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้จนสิ้นเชิงได้ตามมาตรา 291
และเมื่อนายแดงใช้สิทธิเรียกให้นายเอกชำระหนี้ นายเอกจะยกเอาข้อตกลงระหว่างนายเอก นายโท และนายตรีที่ได้ทำข้อตกลงไว้ว่านายเอกไม่ต้องรับผิดอย่างใด ๆ เลยในหนี้จำนวนนี้มาต่อสู้นายแดงเจ้าหนี้ไม่ได้ เพราะข้อตกลงดังกล่าวนั้น เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างลูกหนี้ร่วมเท่านั้น จะยกขึ้นมาเพื่อต่อสู้เจ้าหนี้ไม่ได้
ดังนั้น นายเอกจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่นายแดง
ส่วนประเด็นที่ว่า นายแดงมีสิทธิเรียกให้นายเอกชำระหนี้ได้เป็นจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเบื้องต้นนายแดงได้เรียกร้องให้นายตรีแต่เพียงคนเดียวชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดจำนวน 3,000,000 บาทให้แก่ตน และนายตรีได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับนายแดงระหว่างหนี้ที่นายแดงค้างชำระค่าแหวนเพชรต่อนายตรีจำนวน 1,000,000 บาทกับหนี้เงินกู้รายดังกล่าว ซึ่งการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 341 นั้นเพียงแต่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ก็เกิดผลตามกฎหมายแล้วโดยมิจำต้องได้รับความยินยอมจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะการหักกลบลบหนี้เป็นกรณีที่บุคคลสองคนต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกัน
โดยมูลหนี้มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน (หนี้เงิน) และหนี้ทั้งสองรายนั้นได้ถึงกำหนดชำระแล้ว ดังนั้นเมื่อครบองค์ประกอบดังกล่าวแล้ว และลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมส่งผลให้หนี้ระงับไปเพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายคือ 1,000,000 บาท และกรณีดังกล่าวนี้ แม้นายแดงจะปฏิเสธไม่ยอมรับการหักกลบลบหนี้จากนายตรีก็ไม่ทำให้การแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ของนายตรีต้องเสียไปและนอกจากนั้น การแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ของนายตรีต่อนายแดง ย่อมส่งผลเป็นคุณแก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ ด้วยตามมาตรา 292 วรรคแรก กล่าวคือ ทำให้นายเอก นายโท และนายตรียังคงมีหน้าที่ ที่จะต้องร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นายแดงเป็นจำนวนเพียง 2,000,000 บาทนั้นเอง
สรุป นายแดงมีสิทธิเรียกให้นายเอกเพียงคนเดียวชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ตนได้เป็นจำนวนเงิน2,000,000 บาท