การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. บริษัทจำเลยได้รับใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุตสาหกรรมจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 6 ที่ออกตามความใน พ.ร.บ. น้ำบาดาลฯ กำหนดให้ผู้ใช้น้ำบาดาลมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้น้ำปีละ 4 งวด โดยแต่ละงวดต้องชำระภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มงวดถัดไปในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 3.50 บาท ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดจะต้องชำระค่าน้ำในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 5 บาท ให้ท่านตอบคำถามต่อไปนี้ โดยยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ขชัดเจน

ก. เป็นสิทธิเรียกร้องมีกำหนดเวลาหรือไม่มีกำหนดเวลา

ข. สิทธิเรียกร้องถึงกำหนดและอายุความเริ่มนับเมื่อใด

ค. ถ้าจำเลยผิดนัด จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดอีกหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193 วรรคสอง “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น”

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไรไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมีพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 224 วรรคแรก “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหนาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทจำเลยได้รับใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุตสาหกรรมจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 6 ที่ออกตามความในพ.ร.บ.น้ำบาดาลฯ กำหนดให้ผู้ใช้น้ำบาดาลมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้น้ำปีละ 4งวด โดยแต่ละงวดต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันเริมงวดถัดไปนั้น วินิจฉัยได้ดังนี้

ก. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ถือว่าเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลาโดยสามารถคำนวณได้ตามวันแห่งปฏิทิน ทั้งนี้เพราะได้มีการกำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นไว้แล้ว กล่าวคือจำเลยจะต้องชำระค่าใช้น้ำภายใน 30 วัน นับแต่วันเริมงวดถัดไป (ตามมาตรา 203 วรรคสอง)

ตัวอย่างเช่น การใช้น้ำงวดแรกของปีจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม และงวดถัดไปจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ดังนั้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องชำระค่าใช้น้ำของงวดแรกคือภายในวันที่ 30 เมษายน (ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเริ่มงวดถัดไป)

ข. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมถึงกำหนดและสามารถบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้คือนับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดของการชำระค่าใช้น้ำแต่ละงวดนั้นเอง (มาตรา 203 วรรคสองประกอบมาตรา 193/3 วรรคสอง) และอายุความก็จะเริ่มนับตั้งแต่ในวันที่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ถึงกำหนดเช่นเดียวกัน เพราะตามมาตรา 193/12 ได้บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป …”

ตัวอย่างเช่น ตามตัวอย่างในข้อ ก. เมื่อจำเลยจะต้องชำระค่าใช้น้ำงวดแรกในช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 เมษายน ดังนี้ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าใช้น้ำภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ย่อมถือว่าจำเลย (ลูกหนี้) ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือน (มาตรา 204 วรรคสอง) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ จึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป และกรณีนี้อายุความก็จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป เช่นเดียวกัน

ค. ถ้าจำเลยผิดนัด จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี (มาตรา 224 วรรคแรก)

สรุป

ก. เป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลา

ข. สิทธิเรียกร้องถึงกำหนดและอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดของการชำระค่าใช้น้ำแต่ละงวด

ค. ถ้าจำเลยผิดนัด จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อบี

 

 

ข้อ 2. ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านโดยใช้วัสดุของผู้รับจ้างในที่ดินของผู้ว่าจ้างซึ่งตกลงค่าจ้างเหมาในราคาสิบล้านบาทนั้น ผู้รับจ้างจะต้องทำหนังสือค้ำประกันงานในวงเงินร้อยละสิบห้าของมูลค่างานทั้งหมด มีกำหนดระยะเวลาสองปีมามอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับจ้างพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาโดยมีข้อตกลงว่า ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดแก่งานจ้างเหมานี้ภายในกำหนดสองปี นับตั้งแต่วันที่ส่งมอบงาน ผู้รับจ้างจะต้องทำการแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ถ้าไม่เริ่มทำการแก้ไขซ่อมแซมภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีสิทธิให้คนอื่นมาทำการงานนั้นแทนผู้รับจ้างก็ได้ ให้ท่านตอบคำถามต่อไปนี้โดยยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน

ก. วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญานี้คืออะไร

ข. สิทธิที่เลือกชำระหนี้เป็นของใคร

ค. ผู้ว่าจ้างจะบังคับได้อย่างไรบ้างถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดแก่งานที่จ้าง

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 198 “ถ้าการอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง แต่จะต้องกระทำเพียงการใดการหนึ่งแต่อย่างเดียวไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกทำการอย่างใดนั้นตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 199 วรรคแรก “การเลือกนั้น ท่านให้ทำด้วยแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 200 วรรคแรก “ถ้าจะต้องเลือกภายในระยะเวลาอันมีกำหนด และฝ่ายที่มีสิทธิจะเลือกมิได้เลือกภายในระยะเวลานั้นไซร้ ท่านว่าสิทธิที่จะเลือกนั้นย่อมตกไปอยู่แก่อีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 213 “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้

ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้

อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก. เมื่อมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตามสัญญา เป็นเรื่องที่ผู้รับจ้างตกลงรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้ว่าจ้าง ดังนั้น วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาคือการกระทำ คือเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในสัญญานั่นเอง

ข. กรณีที่ในสัญญามีข้อตกลงว่า ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดแก่งานจ้างเหมานี้ ผู้รับจ้างจะต้องทำการแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้วาจ้างกำหนด ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการซ่อมแซมภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีสิทธิให้คนอื่นมาทำการงานนั้นแทนผู้รับจ้างก็ได้นั้น จะเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่การกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่าง (ผู้รับจ้างจะทำการซ่อมแซมเองหรือจะให้ผู้ว่าจ้างให้คนอื่นมาทำการซ่อมแซมแทน) ดังนั้นสิทธิที่จะเลือกว่าจะกระทำอย่างใดย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายลูกหนี้คือผู้รับจ้าง (มาตรา 193)

โดยลูกหนี้จะต้องทำโดยการแสดงเจตนาไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ว่าจ้าง (มาตรา 199 วรรคแรก) แต่ถ้าลูกหนี้ไม่เลือกภายในระยะเวลาที่กำหนด สิทธิที่จะเลือกย่อมตกไปอยู่แก่อีกฝ่ายหนึ่ง (มาตรา 200 วรรคแรก)

ค. ในกรณีที่มีเหตุชำรุดเสียหายเกิดแก่งานที่จ้าง ผู้ว่าจ้างสามารถบังคับได้โดยตรงคือเรียกให้ผู้รับจ้างกระทำการแก้ไขซ่อมแซม (มาตรา 213 วรรคแรก) แต่ถ้าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำได้ เช่น ผู้รับจ้างไม่ยอมทำการแก้ไขซ่อมแซม ดังนี้เมื่อวัตถุแห่งหนี้เป็นการกระทำผู้ว่าจ้างจะให้บุคคลอื่นมาทำการแก้ไขซ่อมแซมแทนผู้รับจ้าง และให้ผู้รับจ้างออกค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ (มาตรา 213 วรรคสอง) และไม่ตัดสิทธิของผู้ว่าจ้างที่จะเรียกค่าเสียหายในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น (มาตรา 213 วรรคท้าย)

สรุป

ก. วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาคือกกรกระทำ

ข. สิทธิที่จะเลือกชำระหนี้เป็นของผู้รับจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้

ค. ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดแก่งานที่จ้าง ผู้ว่าจ้างสามารถบังคับให้ผู้รับจ้างทำการแก้ไขซ่อมแซมได้ หรือถ้าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ผู้ว่าจ้างจะไห้บุคคลอื่นทำการแทนโดยให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

 

 

ข้อ 3. ก. เช่าที่ดินริมถนนของ ข. เนื้อที่ 2 ไร่ วางกล้าปาล์มน้ำมันเพื่อจำหน่าย ค. จำหน่ายกล้าปาล์มน้ำมันเช่นกันในที่ดินของตน ซึ่งติดกับที่ดินแปลงของ ข. ที่ ก. เข่า แต่ ค ได้วางถุงกล้าปาล์มรุกเข้ามาในที่ดินที่ ก. เช่า ประมาณ 200 ตารางวา ทำให้ ก. ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่านั้นไม่ได้ ก. เรียกให้ ข. จัดการในเรื่องนี้ ข. ก็เพิกเฉย ให้แนะนำ ก. ว่า จะต้องดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าานี้ได้อย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 213 วรรคแรกและวรรคสี่ “ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่”

มาตรา 214 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา 233     “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. เช่าที่ดินของ ข. เนื้อที่ 2 ไร่ เพื่อวางกล้าปาล์มน้ำมันเพื่อจำหน่ายแต่ถูก ค วางถุงกล้าปาล์มน้ำมันรุกเข้ามาในที่ดินที่ ก. เช่าประมาณ 200 ตารางวาทำให้ ก. ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าไม่ได้นั้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่าที่ดินที่ ก. เช่าจาก ข. นั้นได้ถูกรอนสิทธิโดยมีผู้บุกรุก ดังนั้น ข. ผู้ให้เช่าจะต้องรับผิดชอบ โดยการขับไล่ผู้บุกรุกโดยละเมิด คือ ค. ออกไป เพื่อให้ ก ผู้เช่าสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่านั้นได้ทั้ง  2 ไร่

แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อ ก. ในฐานะเจ้าหนี้ได้เรียกให้ ข. ลูกหนี้ จัดการขับไล่ ค ผู้บุกรุกแต่ ข. เพิกเฉย เท่ากับเป็นกรณีที่ลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนตามนาตรา 213 วรรคแรก และเมื่อการเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของ ข ป(ไม่เรียกร้องให้ ค. ออกไปจากที่ดินที่บุกรุก) ทำให้ ก. เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ ดังนั้น ก. เจ้าหนี้จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทน ข. ลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของตนเพื่อฟ้องขับไล่ ค. ผู้บุกรุกโดยละเมิดออกไปได้ตามมาตรา 233 ประกอบมาตรา 214 รวมทั้งอาจเรียกค่าเสียหายได้ตามมาตรา 213 วรรคสี่

สรุป

ก. ผู้เช่าย่อมสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ ข. ผู้ให้เช่าฟ้องขับไล่ ค. ผู้บุกรุกได้

 

 

ข้อ 4. แดงกู้เงินขาวสองแสนบาท โดยจำนองที่ดินของตนประกันหนี้เงินกู้รายนี้กับขาวไว้ ต่อมาแดงกลับนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้เหลือง โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีทรัพย์อื่นที่จะพอชำระหนี้ ขาวจะมาขอเพิกถอนสัญญาจะขายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 214 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตน จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย”

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย

แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหน้ได้กระทำลง ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงนั้น ไม่ได้ทำไห้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใดกล่าวคือ แม้ลูกหนี้จะได้ทำนิติกรรมนั้นลูกหนี้ก็ยังมีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ยังสามารถที่จะบังคับชำระหนี้ได้ ดังนี้ เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ใด้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงกู้เงินขาวโดยจดทะเบียนจำนองที่ดินของตนประกันหนี้เงินกู้ไว้แต่แดงกลับนำที่ดินที่ติดจำนองดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้เหลืองนั้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอยู่ที่ว่า การกระทำของแดงลูกหนี้ดังกล่าวนั้นทำให้ขาวเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ กรณีนี้เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา 214 ที่ว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงนั้น

หมายถึง การที่เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดบนั้น กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าเป็นเรื่องของสัญญาจำนองแล้วก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 733 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 214 กล่าวคือ ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่จำนองไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะโอนไปกี่ทอด จำนองก็ย่อมจะติดไปด้วยเสมอ ซึ่งจะมีผลหาให้ผู้รับจำนองย่อมสามารถที่จะบังคับจำนองเอากับทรัพย์สินที่จำนองได้เสมอเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ การที่แดงได้เอาที่ดินที่ติดจำนองไปทำสัญญาจะขายให้เหลืองจึงไม่ถือว่าเป็นทางทำให้ขาวเจ้าหนี้เสียเปรียบ เพราะแม้ที่ดินนั้นจะโอนไปเป็นของเหลือง ขาวเจ้าหนี้ก็ยังสามารถบังคับจำนองเอากับที่ดินที่ติดจำนองนั้นได้ ดังนั้นขาวจึงไม่สามารถขอเพิกถอนสัญญาจะขายได้

สรุป ขาวจะมาขอเพิกถอนสัญญาจะขายไม่ได้

Advertisement