การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 รถจักรยานยนต์ของเจนจบหายไป เจนจบเข้าใจว่าจ้อนเอาไป เจนจบพบจ้อน เจนจบชักอาวุธปืนที่มีกระสุนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมกับขึ้นนกจี้ศีรษะจ้อน บังคับให้จ้อนยอมรับว่าเอารถจักรยานยนต์ของเจนจบไป จ้อนสะบัดมือและปัดป้องอาวุธปืน อาวุธปืนลั่นกระสุนปืนถูกหางคิ้วจ้อน และเลยไปถูกจุ๋มแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งในบริเวณนั้นตายด้วย ดังนี้ เจนจบต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น
วินิจฉัย
การที่เจนจบใช้อาวุธปืนที่มีลูกกระสุนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมกับขึ้นนกจี้ที่ศีรษะจ้อน การกระทำของเจนจบเป็นการขู่จ้อนให้ยอมรับว่าเอารถจักรยานยนต์ของเจนจบไป เจนจบไม่มีเจนากระทำต่อจ้อนไม่ว่าจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเจตนาย่อมเล้งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคสอง หากเจนจบมีเจตนากระทำต่อจ้อนย่อมทำได้อยู่แล้ว เพราะอาวุธปืนพร้อมที่จะยิงและอยู่ในระยะกระชั้นชิดติดกันเช่นนั้น แต่การที่เจนจบใช้อาวุธปืนจี้ศีรษะไว้ในขณะที่อาวุธปืนขึ้นนกโดยมีกระสุนบรรจุในรังเพลิง
เมื่อจ้อนสะบัดมือและปัดป้องอาวุธปืน อาวุธปืนลั่นกระสุนปืนถูกจ้อน ถือได้ว่าเจนจบกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งเจนจบจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่
และกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิดจึงต้องรับผิดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนผลที่ไปเกิดกับจุ๋มมิใช่ผลซึ่งเกิดขึ้นโดยพลาดไปตามมาตรา 60 เพราะเมื่อเจนจบมิได้มีเจตนากระทำต่อจ้อนผลอันเกิดกับจุ๋มจึงมิใช่เจตนาโดยพลาดไป
สรุป
1 เจนจบต้องรับผิดต่อจ้อนเพราะได้กระทำไปโดยประมาทและกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด
2 เจนจบไม่มีเจตนากระทำต่อจุ๋มเพราะไม่เป็นการกระทำโดยพลาด
ข้อ 2 โตตั้งใจจะฆ่าใหญ่ โตเห็นเบิ้มยืนคุยอยู่กับน้อยซึ่งเป็นเพื่อนกับโต โตเข้าใจว่าเบิ้มคือใหญ่คนที่ตนต้องการฆ่า โตยกปืนเล็งไปที่เบิ้ม น้อยเห็นโตกำลังจะยิงเบิ้มซึ่งมิใช่ใหญ่ที่โตต้องการฆ่า น้อยรีบเข้าปัดปืนของโตเฉไป กระสุนปืนจึงเลยไปถูกเล็กตาย ดังนี้ โตต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
มาตรา 59 วรรคสอง กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น
มาตรา 61 ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่
มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
วินิจฉัย
โตได้กระทำต่อเบิ้มโดยเจตนาประสงค์ต่อผลตามมาตรา 59 วรรคสอง จึงต้องรับผิดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง แม้ว่าโตจะต้งใจฆ่าใหญ่ แล้วโตเห็นเบิ้มยืนคุยอยู่กับน้อยซึ่งเป็นเพื่อนกับโต โดยที่โตเข้าใจว่าเบิ้มคือใหญ่คนที่ตนต้องการฆ่า ดังนั้น เมื่อโตเจตนาจะกระทำต่อใหญ่ แต่ได้กระทำต่อเบิ้มโดยสำคัญผิด โตจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำต่อเบิ้มโดยเจตนามิได้ตาม มาตรา 61 แต่การกระทำของโตต่อเบิ้มกระทำไปไม่ตลอดจึงเป็นพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 80
เมื่อโตยกปืนเล็งไปที่เบิ้มน้อยเห็นโตกำลังจะยิงเบิ้มซึ่งไม่ใช่ใหญ่ที่โตต้องการฆ่า น้อยจึงรีบเข้าปัดปืนของโตให้เฉไป กระสุนจึงเลยไปถูกเล็กตาย ผลของการกระทำจึงเกิดขึ้นกับเล็กโดยพลาดไป ดังนั้น เมื่อโตเจตนากระทำต่อเบิ้มแต่ผลของการกระทำเกิดขึ้นแก่เล็กโดยพลาดไป ให้ถือว่าโตเจตนากระทำต่อเล็กตามมาตรา 60
สรุป โตเจตนากระทำต่อเบิ้มและเจตนากระทำต่อเล็กโดยพลาดไป จึงต้องรับผิดทางอาญา
ข้อ 3 ก้องและหนุ่มไปเที่ยวงานเทศบาล ระหว่างทางได้พบเต๋าเมาสุราเดินสวนมา ก้องเดินเข้าไปหาเต๋าเพื่อทักทาย กลับถูกเต๋าผลักล้มลง หนุ่มเข้าไปจะช่วยประคองก้อง เต๋าถีบหนุ่มและชักมีดปลายแหลมแทงไปที่หนุ่ม หนุ่มเข้าแย่งมีดจากเต๋า เต๋าเตะและต่อยก้องและหนุ่มแล้ววิ่งหนี้ไป ก้องและหนุ่มวิ่งไล่ตาม ก้องวิ่งไม่ทันจึงหยุดส่วนหนุ่มวิ่งตามไปทันเต๋า ใช้ไม้ตีเต๋าถึงแก่ความตาย
ดังนี้ ก้องและหนุ่มต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคสอง กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
วินิจฉัย
การที่ก้องเดินเข้าไปกาเต๋านั้นเพื่อทักทายมิได้มีเจตนาจะทำอันตรายหรือสมัครใจวิวาทตามมาตรา 59 วรรคสอง กับเต๋า การที่เต๋าผลักก้องล้มลงไป ถีบหนุ่ม และชักมีดแทงหนุ่ม เต๋าได้ก่อภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายแก่กายก้องและหนุ่มและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึงแต่เมื่อเต๋าได้วิ่งหนีไปแล้ว ก็ไม่มีภยันตรายใดที่ก้องและหนุ่มจะต้องป้องกันอีก การที่หนุ่มวิ่งตามไปทันเต๋าและใช้ไม้ตีเต๋าตายจึงอ้างว่าเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ไม่ได้ แต่การที่เต๋าเตะต่อยและชักมีดออกแทงหนุ่มนั้น เป็นการข่มเหงหนุ่มอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม หนุ่มอ้างได้ว่ากระทำไปโดยบันดาลโทสะตามมาตรา 72 ส่วนก้องวิ่งไม่ทันจึงหยุด ก้องมิได้ลงมือกระทำความผิด ก้องไม่มีความผิด
สรุป หนุ่มเจตนากระทำต่อเต๋า หนุ่มอ้างป้องกันไม่ได้ คงอ้างได้แต่บันดาลโทสะ ส่วนก้องไม่มีความผิด
ข้อ 4 เอก หนึ่ง และเก่ง ร่วมกันพานางสาวติ๋มไปที่บ้านของเอก หลังจากดื่มและกินกันจนอิ่มแล้ว เอกได้ร่วมประเวณีกับนางสาวติ๋ม โดยนางสาวติ๋มยินยอม เมื่อเอกออกจากห้องไปแล้ว ได้ปล่อยให้หนึ่งและเก่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรานางสาวติ๋มในห้องทีละคน โดยเอกมิได้ขัดขวางหรือห้ามปรามแต่อย่างใด ดังนี้ เอกจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน หรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
วินิจฉัย
เอกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิด เอกไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83 (การที่เอกได้ร่วมประเวณีกับนางสาวติ๋ม โดยนางสาวติ๋มยินยอมนั้น เอกจึงไม่มีความผิดตามหลักที่ว่าเมื่อยอมแล้วไม่เป็นความผิด) แต่การที่เอกมิได้ขวางหรือห้ามปรามปล่อยให้หนึ่งและเก่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรานางสาวติ๋มในห้องทีละคน ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่หนึ่งและเก่งก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เอกจึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
สรุป เอกรับผิดเป็นผู้สนับสนุนมิใช่ตัวการ