การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เด็กชายตุ้ม  อายุ  30  วัน  เป็นบุตรของนางตา  เด็กชายตุ้มร้องไห้เป็นประจำจนนางตารำคาญ  วันหนึ่งนางตาจะออกไปทำธุระ  นางตาได้วานให้นางสาวตองน้องสาวมาเลี้ยงเด็กชายตุ้ม  เด็กชายตุ้มร้องไห้ไม่หยุด  นางสาวตองจึงเอาเหรียญสลึงใส่ปากเวลาเด็กชายตุ้มอ้าปากร้องไห้เพื่อให้หยุดร้อง  นางตากลับมาเห็นเข้าก็ไม่ห้ามปรามจนเด็กชายตุ้มตัวเกร็งหายใจไม่ออก

นายสอนบิดาของเด็กชายตุ้มกลับมาบ้านทราบจากนางตาว่าเหรียญสลึงติดคอเด็กชายตุ้ม  แทนที่จะนำเด็กชายตุ้มส่งโรงพยาบาล  นายสอนจับสองขาเด็กชายตุ้มยกขึ้นให้ศีรษะห้อยลงเพื่อเหรียญจะได้ออกมา  นายสอนยกขึ้นลงอย่างนั้นจนเด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตาย

ดังนี้  นางสาวตอง  นางตา  และนายสอน  จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

วินิจฉัย

การที่นางสาวตองมาเลี้ยงเด็กชายตุ้มและเด็กชายตุ้มร้องไห้  นางสาวตองได้ใช้เหรียญสลึงใส่ปากเด็กชายตุ้มเพื่อให้หยุดร้อง  นางสาวตองได้กระทำโดยเจตนาต่อเด็กชายตุ้ม  เพราะการที่นางสาวตองใส่เหรียญสลึงในปากเด็กชายตุ้มย่อมเล็งเห็นว่าผลจะเกิดกับเด็กชายตุ้มคือเหรียญสลึงไปอุดทางเดินหายใจทำให้เด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตายได้  นางสาวตองจึงต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  และวรรคสอง

นางตามารดาของเด็กชายตุ้มกลับมาบ้านเห็นนางสาวตองเอาเหรียญใส่ปากเด็กชายตุ้มแล้วไม่ห้ามปรามถือว่านางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำ  (หมายถึง  มีหน้าที่ต้องกระทำ  กล่าวคือ  นางตาเป็นมารดาของเด็กชายตุ้มจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายตุ้ม)  เพื่อป้องกันผลนั้น  (คือความตายของเด็กชายตุ้ม)  เมื่อนางตาเห็นอยู่แล้วว่านางสาวตองเอาเหรียญใส่ปากเด็กชายตุ้ม ทำให้เด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกแล้วไม่เข้าช่วยเหลือทั้งที่สามารถช่วยได้นั้น  จึงถือได้ว่านางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น  ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำตามมาตรา  59  วรรคห้า  และเป็นการงดเว้นกระทำการโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (คือความตายของเด็กชายตุ้ม)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  นางตาต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  และวรรคสอง

นายสอนทราบจากนางตาว่าเหรียญสลึงติดคอเด็กชายตุ้มแทนที่จะนำส่งโรงพยาบาลกลับจับขาสองขาของเด็กชายตุ้มยกขึ้นเพื่อให้เหรียญออกจากปากเด็กชายตุ้ม  และทำขึ้นลงอย่างนั้นจนเด็กชายตุ้มตายเพราะหายใจไม่ออก  การกระทำของนายสอนไม่มีเจตนา  ตามมาตรา 59  วรรคสอง  แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่  นายสอนได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  และกรณีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด  นายสอนต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  และวรรคสี่

สรุป

1       นางสาวตองกระทำต่อเด็กชายตุ้มโดยเจตนา  จึงต้องรับผิดทางอาญา

2       นางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลที่เกิดกับเด็กชายตุ้มโดยเจตนา  จึงต้องรับผิดทางอาญา

3       นายสอนกระทำต่อเด็กชายตุ้มโดยประมาท  กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  นายสอนจึงต้องรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  2  นายสมยศทราบว่า  น.ส.จิตฝัน  มีความระแวงว่ามีคนจะมาฆ่าตน  นายสมยศจึงหลอก  น.ส.จิตฝันว่ามีผู้หญิงแต่งชุดนักเรียนจะมาฆ่า  น.ส.จิตฝัน  เพื่อ  น.ส.จิตฝันจะได้ไปฆ่านักเรียนหญิง  วันหนึ่ง  น.ส.จิตฝัน  เห็น  น.ส.ประภาศรีนักเรียนหญิงนั่งอยู่ในห้องเรียน น.ส.จิตฝันเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงแต่งชุดนักเรียนที่จะมาฆ่าตน  น.ส.จิตฝันจึงชักมีดออกแทง  น.ส.ประภาศรี  และจะแทงซ้ำ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  เพื่อนนักเรียนได้เข้ามาขัดขวางและถูกมีดแทงได้รับบาดเจ็บไปด้วย

ดังนี้  น.ส.จิตฝันจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

น.ส.  จิตฝันใช้มีดแทง  น.ส.ประภาศรี  โดยเจตนา  เพราะ  น.ส.จิตฝันรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผล  (คือ น.ส.ประภาศรี)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเป็นพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 80  น.ส.จิตฝันจะยกความสำคัญผิดว่า  น.ส.ประภาศรีคือผู้หญิงที่  น.ส.จิตฝัน  ต้องการฆ่าเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อ  น.ส.ประภาศรีไม่ได้ตามมาตรา  61  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  เพื่อนนักเรียนได้เข้ามาขัดขวางและถูกมีดแทงได้รับบาดเจ็บไปด้วย  ดังนั้น  เมื่อ  น.ส.จิตฝันเจตนากระทำต่อ  น.ส.ประภาศรี  และผลของการกระทำไปเกิดกับ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  โดยพลาดไป  ถือว่า  น.ส.จิตฝันเจตนากระทำต่อ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  ตามมาตรา  60

นายสมยศทราบว่า  น.ส.จิตฝัน  มีความหวาดระแวงว่าจะมีคนมาฆ่าตน  จึงหลอก  น.ส.จิตฝัน  ว่ามีผู้หญิงแต่งชุดนักเรียนจะมาฆ่า  เพื่อให้ น.ส.จิตฝันไปฆ่านักเรียนหญิง  นายสมยศได้ก่อให้  น.ส.จิตฝันไปกระทำความผิด  นายสมยศจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา  84 วรรคแรก  เมื่อ  น.ส.จิตฝัน  (ผู้ถูกใช้)  ได้กระทำความผิดนั้นนายสมยศ  (ผู้ใช้)  จึงรับโทษเสมือนตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

สรุป  น.ส.จิตฝันเจตนากระทำต่อ  น.ส.ประภาศรีและเจตนากระทำต่อ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  โดยพลาดไปจึงต้องรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  3  นายนำพลหลอกนายบุญชูว่า  นายชาติชายเป็นชู้กับนางสมศรีภริยาของนายบุญชู  ซึ่งไม่เป็นความจริง  นายบุญชูเชื่อตามนั้นจึงไปทำร้ายนายชาติชาย  ขณะที่นายบุญชูใช้ไม้ตีนายชาติชาย  นายชาติชายได้ใช้มีดแทงสวนไปที่นายบุญชู  นายบุญศรีบุตรนายบุญชูอยู่ในเหตุการณ์เห็นนายชาติชายกำลังใช้มีดแทงสวนมาที่นายบุญชู  นายบุญศรีจึงใช้ไม้ตีไปที่ข้อมือของนายชาติชายเพื่อมิให้นายบุญชูบิดาได้รับอันตราย

ดังนี้  นายนำพล  นายบุญชู  นายชาติชาย  และนายบุญศรี  จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  62  วรรคแรก  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

นายนำพลหลอกนายบุญชูว่านายชาติชายเป็นชู้กับนางสมศรีภรรยาของนายบุญชู  ซึ่งไม่เป็นความจริง  นายบุญชูเชื่อตามนั้นจึงไปทำร้ายนายชาติชาย  ดังนั้น  นายบุญชูกระทำต่อนายชาติชาย  โดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง   จึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่นายบุญชูกระทำไปโดยบันดาลโทสะและสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งถ้ามีอยู่จริงจะทำให้ได้รับโทษน้อยลง  ตามมาตรา  72  ประกอบมาตรา  62  วรรคหนึ่ง  นายบุญชูจึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

ขณะที่นายบุญชูใช้ไม้ตีนายชาติชาย  แล้วนายชาติชายได้ใช้มีดแทงสวนไปที่นายบุญชูนั้น  ถือว่านายชาติชายกระทำต่อนายบุญชูโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่นายชาติชายกระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่นายบุญชูได้ก่อขึ้นและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ซึ่งนายชาติชายได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของนายชาติชายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  นายชาติชายจึงไม่มีความผิด

การกระทำของนายบุญศรี  นายบุญศรีบุตรนายบุญชูอยู่ในเหตุการณ์เห็นนายชาติชายกำลังใช้มีดแทงสวนมาที่นายบุญชู  นายบุญศรีจึงใช้ไม้ตีไปที่ข้อมือของนายชาติชายเพื่อมิให้นายบุญชูบิดาได้รับอันตราย  ดังนั้น  นายบุญศรีจะอ้างว่าตนกระทำไปโดยป้องกันสิทธิของผู้อื่นตามมาตรา  68  ไม่ได้  เพราะนายบุญชูเป็นผู้ก่อให้เกิดภัยขึ้นก่อนจึงไม่อาจจะอ้างป้องกันได้อยู่แล้ว  นายบุญศรีจึงอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของนายบุญชูไม่ได้  แต่นายบุญศรีอ้างว่ากระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  ได้  เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้  ผู้อื่น  คือ  นายบุญชูพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้น  ตน  คือ  นายบุญศรี  มิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน  และการกระทำของนายบุญศรีไม่เกินสมควรแก่เหตุ  ดังนั้น  นายบุญศรีมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

การกระทำของนายนำพล  ตามปัญหา  นายนำพลเป็นผู้ก่อให้นายบุญชูกระทำความผิด  นายนำพลจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา  84  วรรคแรก  เมื่อนายบุญชูได้กระทำความผิดแล้ว  นายนำพลจึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

สรุป

1       นายนำพลรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการ

2       นายบุญชูเจตนาทำร้ายนายชาติชายแต่ทำไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและบันดาลโทสะจึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

3       นายชาติชายไม่ต้องรับผิดเพราะกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

4       นายบุญศรีมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายแต่ไม่ต้องรับโทษเพราะกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

 

ข้อ  4  อาจองไปพบบรรจงที่บ้านสังเกตเห็นบรรจงท่าทางไม่สบายใจ  อาจองถามบรรจงว่ามีเรื่องอะไรไม่สบายใจ  บรรจงบอกว่าถูกวัฒนาบังคับซื้อที่ดินที่อยู่อาศัย  อาจองบอกบรรจงว่าอย่างนี้ต้องฆ่าวัฒนาบรรจงบอกว่าตนทำไม่ได้  อาจองพูดว่า  งั้นตนจะทำเอง  บรรจงกล่าวว่าดีแล้วนึกว่าช่วยตน  อาจองไปดักซุ่มยิงวัฒนา  สามารถผ่านมาพบเข้าถามอาจองว่ามาทำอะไรแถวนี้  อาจองบอกสามารถว่าอย่าเสียงดังตนมาดักยิงวัฒนา  สามารถจึงรับอาสาคอยดูต้นทางให้  เมื่ออาจองยิงวัฒนาแล้วได้ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของสามารถขับพาหนีไป  รถจักรยานยนต์ที่สามารถขับขี่ไปเกิดเสียระหว่างทาง  สมัครซึ่งเป็นเพื่อนกับอาจองขับรถยนต์เข้าเมื่อทราบเรื่องจึงให้อาจองและสามารถขึ้นรถและขับพาหลบหนีไป  ดังนี้  บรรจง  สามารถ  และสมัครจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

บรรจงไม่ได้ก่อให้อาจองกระทำความผิด  เพราะอาจองตกลงใจที่จะกระทำความผิดเองและบรรจงเพียงแต่ระบายความไม่พอใจให้อาจองฟังเท่านั้น  ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้อาจองกระทำความผิด  จึงไม่ถือว่าบรรจงเป็นผู้ใช้และไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  แต่การที่บรรจงไม่ได้ห้ามหรือขัดขวางอาจองแต่กลับบอกว่าดีแล้วที่ช่วยตน  จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิด  ดังนั้น  บรรจงจึงเป็นผู้สนับสนุนและต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

การกระทำของสามารถ  ตามปัญหา  เมื่อสามารถรู้ว่าอาจองมาดักยิงวัฒนา  สามารถจึงรับอาสาดูต้นทางให้  เมื่ออาจองยิงวัฒนาแล้วได้ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของสามารถ  แล้วสามารถขับพาหนีไปด้วยกัน  ดังนั้น  ถือว่าสามารถได้ร่วมกระทำความผิดกับอาจอง  โดยมีเจตนาที่จะร่วมกระทำความผิดด้วยกัน  (กล่าวคือรู้ถึงการกระทำของกันและกัน  และต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย)  สามารถจึงเป็นตัวการและต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

การกระทำของสมัคร  ตามปัญหา  สมัครมาพบอาจองและสามารถ  หลังจากทั้งสองกระทำความผิดมาแล้ว  เมื่อทราบเรื่องสมัครจึงให้ความช่วยเหลือโดยขับรถยนต์พาหลบหนี  การกระทำของสมัครไม่ถือเป็นผู้สนับสนุน  เพราะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  แต่สมัครให้ความช่วยเหลือหลังจากที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว  ดังนั้น  สมัครจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86  แต่สมัครผิดฐานอื่น

สรุป 

1       บรรจงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของสามารถจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

2       สามารถเป็นตัวการจึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ

3       สมัครไม่ใช่ผู้สนับสนุนจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  แต่ผิดฐานอื่น 

Advertisement