การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  MCS 2201 การเขียนข่าว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบมีทั้งหมด  6  ข้อ  ให้นักศึกษาทำทุกข้อ

ข้อ  1  จงตอบคำถามต่อไปนี้

1.1            คำว่า  ข่าวการเมือง  ครอบคลุมเนื้อหาด้านใดบ้าง  มีแหล่งข่าวสำคัญอะไรบ้าง 

แนวคำตอบ

คำว่า  ข่าวการเมือง  จะครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน  เช่น  ข่าวการเลือกตั้ง  ข่าวการจัดตั้งรัฐบาล  ข่าวกิจกรรมและความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานทั้งที่เป็นของพรรครัฐบาล  และพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม  ข่าวการปฏิบัติงานของกระทรวง  ทบวง  กรมต่างๆ  ข่าวการระชุมรัฐสภา  ข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังต่างๆ  ที่มีอิทธิพลทางการเมือง  ข่าวปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล  เป็นต้น

ข่าวการเมืองมีแหล่งข่าวสำคัญ  

1       แหล่งข่าวประจำ  (Beat  or  Run)  หมายถึง  บุคคลหรือสถานที่ที่ผู้สื่อข่าวได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้ไปติดต่อหาข่าวอยู่เป็นประจำ  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ราชการ  รัฐ  และบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานของสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจนั้น  จึงอาจเรียกได้อีกอย่างว่า  แหล่งข่าวส่วนราชการ  เช่น  ทำเนียบรัฐบาล  กระทรวง  ทบวง  กรม  รัฐสภา  สถานีตำรวจ  ศาล ฯลฯ

2       แหล่งข่าวพิเศษ  (Volunteer)  หมายถึง  ผู้เห็นเหตุการณ์  ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน  นอกจากนี้อาจมาในรูปของผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้สื่อข่าวเป็นส่วนตัว  เช่น  นักการเมือง  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรืออาจมาในรูปของผู้หวังดีที่มีจดหมายหรือโทรศัพท์มาชี้แนะเบาะแส  (Tip)  แจ้งปฏิบัติการฉ้อราษฎร์บังหลวง  หรือแจ้งเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดมหันตภัยแก่ประชาชน

3       แหล่งข่าวจากองค์กรข่าว  (New  Syndicate)  หมายถึง  องค์กรหรือสำนักข่าวที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการขายข่าวให้แก่ลูกค้าสมาชิก  ซึ่งมีทั้งสำนักข่าวของรัฐและเอกชน  โดยข่าวที่ได้มักเป็นข่าวที่มีกำหนดการล่วงหน้า  เช่น  ข่าวการประชุม  การแถลงข่าว  ฯลฯ  นอกจากนี้สำนักข่าวบางแห่งยังให้บริการขายภาพถ่ายสารคดี  บทวิเคราะห์วิจารณ์  และการ์ตูนล้อการเมืองอีกด้วย

4       แหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์  (Publications)  หมายถึง  แผ่นประกาศ  แถลงการณ์  ใบปลิว  นิตยสาร  วารสาร  เอกสารตีพิมพ์เผยแพร่การค้นคว้าทางวิชาการ  รวมทั้งข่าวแจกหรือข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐหรือเอกชนที่ส่งมาให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์

อย่างไรก็ตาม  จากแหล่งข่าวทั้ง  4  ข้างต้นหากพิจารณารวมๆอาจแบ่งได้เป็นแหล่งข่าวเปิด  คือแหล่งข่าวที่ระบุชื่อ  ตำแหน่ง  อาชีพ ฯลฯ และแหล่งข่าวปิด  คือ  แหล่งข่าวที่ไม่ต้องการให้ระบุชื่อและคุณลักษณะในข่าว  เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนเอง  ดังนั้นการอ้างถึงแหล่งข่าวประเภทนี้จึงมักระบุเพียงว่าแหล่งข่าวระดับสูง  หรือแหล่งข่าวจากวงการใกล้ชิด

1.2            ในการรายงานข่าวฆ่าชิงทรัพย์ข้าราชการคนหนึ่ง  ควรเสนอประเด็นเนื้อหาอะไรบ้าง  และมีแหล่งข่าวอะไรบ้าง  ให้ยกตัวอย่างแหล่งข่าวและประเด็นที่ควรนำเสนอในข่าวดังกล่าวประกอบ

แนวคำตอบ

จากข่าวข้าวต้นต้องอาศัยแหล่งข่าว  (Source)  ประเภทต่างๆ  ดังนี้

1       แหล่งข่าวประจำ  คือ  บุคคลหรือสถานที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ส่งผู้สื่อข่าวไปประจำตามแหล่งนั้นๆ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวประจำของข่าวข้างต้น  ได้แก่  เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจต่างๆ  โรงพยาบาล  เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิการกุศลที่ปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจ  เป็นต้น

2       แหล่งข่าวพิเศษ  คือ  แหล่งข่าวที่อาจอยู่  ณ  สถานที่เกิดเหตุ  หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง  ผู้เห็นเหตุการณ์  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวพิเศษของข่าวข้างต้น  ได้แก่  พยานผู้รู้เหตุการณ์   ญาติมิตรของผู้เสียชีวิต  ผู้บังคับบัญชาและเพื่อนข้าราชการในหน่วยงานของผู้เสียชีวิต  ผู้ต้องหา  (ในกรณีที่จับตัวมาดำเนินคดีได้แล้ว)  ผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์  เป็นต้น

3       แหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์  คือ  เอกสารตีพิมพ์ซึ่งเป็นแหล่งข่าวสำคัญ  โดยตัวอย่างแหล่งข่าวจากสิ่งตีพิมพ์ของข่าวข้างต้น  ได้แก่  บันทึกประจำวันของตำรวจ  เอกสารบันทึกส่วนบุคคลเพื่อนำมาใช้เป็นภูมิหลังประกอบข่าว  เอกสารจากแฟ้มข่าว  เป็นต้น

จากข่าวข้างต้นมีประเด็นที่ควรนำเสนอ  ดังนี้

1       ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต  ได้แก่  ชื่อและคุณลักษณะ  วิธีการที่ถูกทำร้ายและลักษณะบาดแผลที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิต  การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต  เป็นต้น

2       ความเสียหาย  ได้แก่  มูลค่าของทรัพย์สินที่ถูกขโมย  ลักษณะของทรัพย์สินนั้นๆ  ทรัพย์สินที่พลอยเสียหายไปด้วย  เป็นต้น

3       รายละเอียดของเหตุการณ์  ได้แก่  เหตุการณ์ตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้น  ลักษณะรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์  เป็นต้น

4       การปฏิบัติการทางกฎหมาย  ได้แก่  การสืบสวนสอบสวนคดี  ข้อสันนิษฐาน  หลักฐาน  เป็นต้น

5       ข้อมูลย้อนหลังที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

 

ข้อ  2  สื่อมวลชนแต่ละแขนงให้น้ำหนักความสำคัญแก่ข่าวแต่ละข่าวแตกต่างกัน  เช่น  หนังสือพิมพ์บางฉบับให้ความสำคัญกับเรื่องประเภทเตียงหัก  รักร้าวของคนดัง  บางฉบับมีแต่ข่าวการเมือง  เศรษฐกิจเป็นต้น  ปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง  จงอธิบาย

แนวคำตอบ

หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกัน  ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะขึ้นอยู่กับ ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินคุณค่าข่าว  ดังนี้

1       ปัจจัยด้านบุคคล  (ผู้สื่อข่าว  หัวหน้าข่าว  บรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง)  ได้แก่

–          เชื้อชาติ  ศาสนา  คือ  อคติเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและศาสนา  เพราะบุคคลที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน  ก็ย่อมเกิดความลำเอียงในการเลือกแง่มุมของข่าวที่จะนำมาเสนอ

–          ค่านิยม  สำนึก  และมุมมอง  ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางการศึกษา

–          ความเป็นวิชาชีพ  คือ  หนังสือพิมพ์จะต้องมีอุดมการณ์และวิญญาณแห่งวิชาชีพโดยต้องรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ  ควรหรือไม่ควรลงข่าว

–          การรับรู้และความสนใจของผู้รับสาร  คือ  การประเมินเรื่องที่คิดว่าผู้อ่านน่าจะให้ความสนใจมากที่สุด

2       ปัจจัยด้านองค์กร  แบ่งออกเป็น

นโยบายของสื่อ  ได้แก่

–          ความเป็นเจ้าของสื่อ  คือ  หนังสือพิมพ์มีใครเป็นเจ้าของสื่อ  หรือมีใครเป็นผู้โฆษณารายใหญ่  หนังสือพิมพ์นั้นก็อาจเน้นเสนอข่าวที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสื่อ  หรือผู้โฆษณารายนั้นๆ

–          นโยบายการบริหาร  คือ  หนังสือพิมพ์มีนโยบายเน้นทำกำไร  เอาตัวรอดหรือเน้นชิงส่วนแบ่งตลาด  ซึ่งมีผลให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามนโยบายการบริหาร

–          นโยบายด้านข่าว / เนื้อหา  คือ  หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเน้นประเภทของข่าวที่จะนำเสนอ  ความลึก  ลีลาการเขียน ฯลฯ  ที่แตกต่างกัน

            วัฒนธรรมองค์กร  คือ  แบบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ  ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร  ได้แก่

–          จรรยาบรรณ  คือ  ข้อควรปฏิบัติของแต่ละองค์กร  ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

–          การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส  หรือรากหญ้า

–          การให้ความหมายกับข่าวบางประเภท  เช่น  ข่าวสังคม  ข่าววัฒนธรรม  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวท้องถิ่น ฯลฯ  ว่าจะเน้นนำเสนอหรือไม่

3       ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง  การปกครอง  และสังคม  ซึ่งมีผลทำให้บางเรื่องรายงานได้  แต่บางเรื่องรายงานไม่ได้  ได้แก่

–          ความมั่นคง  ผลประโยชน์ของชาติ

–          ผลประโยชน์ทางการเมืองระดับประเทศ  และนานาชาติ

ข้อ  3  การชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในสื่อมวลชนทุกแขนง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าวด้านใดบ้าง

แนวคำตอบ

เหตุการณ์ข้างต้นได้รับการรายงานเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว (New  Values)  

1       ความมีชื่อเสียง  (Prominenec)  คือ เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่มีชื่อเสียงได้แก่  นายกรัฐมนตรี  นักการเมือง  นักธุรกิจ  ดารา  นักร้อง  นักกีฬา ฯลฯ  รวมทั้งสถานที่ที่มีชื่อเสียงด้วย  เช่น  เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวข้องกับ  พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  รวมทั้งกลุ่มแกนนำในการขับไล่นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง  อาทิ  นายสนธิ  ลิ้มทองกุล  นางสาวสโรชา  พรอุดมศักดิ์  พลตรีจำลอง  ศรีเมือง  นายสุริยะใส  กตะศิลา  เลขาธิการ  ครป.  เป็นต้น

2       ความใกล้ชิด  (Proximity)  คือ  ความใกล้ชิดทั้งทางกายและทางใจระหว่างผู้อ่านและบุคคลหรือสิ่งต่างๆ  ที่ตกเป็นข่าว  โดยมนุษย์ทั่วไปมักให้ความสนใจเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง  ครอบครัว  ญาติพี่น้อง  เพื่อนฝูง  ฯลฯ  หรือสนใจในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นใกล้ตัว  ดังนั้นความใกล้ชิดจึงอาจเป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางจิตใจ  ความคิด  สถานที่  หรือบุคคลซึ่งมีความผูกพันทางใดทางหนึ่งกับผู้อ่าน

3       ความทันต่อเวลา  (Timeliness)  คือ  เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น  สดๆร้อนๆเพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการที่จะได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ  อยู่เสมอ  อย่างไรก็ตามเหตุการณ์แม้จะเกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว  แต่เพิ่งมีการค้นพบความเป็นไปของเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นที่สนใจของผู้อ่านได้เช่นกัน

4       ปุถุชนสนใจ  (Human  Interest)  คือ  เป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์โศกเศร้าเห็นอกเห็นใจ  ดีใจ  รัก  เกลียด  โกรธ  กลัว อิจฉาริษยา  สงสัยใคร่รู้  ฯลฯ  มักจะทำให้เหตุการณ์นั้น  มีคุณค่าเชิงข่าวสูงและเร้าให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ  เช่น  เหตุการณ์ข้างต้นอาจทำให้ผู้อ่านที่ชอบนายกฯ  รู้สึกโกรธและเกลียดกลุ่มชุมนุมในขณะที่ผู้อ่านที่ไม่ชอบนายกฯ  ก็อาจรู้สึกสะใจและเอาใจช่วยกลุ่มผู้ชุมนุมให้ทำการขับไล่ได้สำเร็จ  เป็นต้น

5       ความขัดแย้ง  (Conflict)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ในลักษณะของความขัดแย้งทั้งทางกายและทางความคิด  ซึ่งเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ  ได้แก่  การทะเลาะวิวาท  การสู้รบ  ฆ่าฟัน  การแข่งขันกีฬา  การประกวดความงาม  การเลือกตั้ง  การอภิปรายถกเถียงในรัฐสภา  การประท้วง  การข่มขู่  เป็นต้น

6       ผลกระทบ  (Consequence)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม  ซึ่งมีผลให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง  ดังนั้น  ประชาชนจึงควรที่จะได้รับรู้เรื่องเหล่านั้นเพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์  หรืออย่างน้อยก็จะได้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นจะมีผลต่อตนเองอย่างไร

7       ความมีเงื่อนงำ  (Suspense)  คือ  เหตุการณ์ข้างต้นไม่สามารถคลี่คลายหรือตีแผ่หาสาเหตุได้  และยังไม่ทราบผลแน่ชัด  เช่น  เหตุการณ์ข้างต้นไม่สามารถคาดเดาได้ว่าความวุ่นวายทางการเมืองนี้จะจบลงอย่างไร  เป็นต้น

 

ข้อ  4  โครงสร้างของข่าวมีอะไรบ้าง  จงอธิบายลักษณะและความสำคัญของส่วนประกอบแต่ละส่วน

แนวคำตอบ

โครงสร้างของข่าวทั่วไป  ประกอบด้วย

1       หัวข่าว  หรือพาดหัวข่าว  (Headline)  คือ  ส่วนบนสุดของข่าว  ซึ่งเป็นการนำประเด็นสำคัญของข่าวมาพาดหัวเพื่อบอกให้ผู้อ่านทราบว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในวันนั้น  โดยมีความสำคัญ  คือ  ทำหน้าที่เรียกร้องความสนใจของผู้อ่าน  บอกลำดับความสำคัญของข่าว  และเสนอสาระสำคัญของข่าวแต่ละข่าวอย่างสั้นๆ  เพื่อช่วยให้ผู้อ่านประหยัดเวลาในการอ่าน  และสะท้อนถึงบุคลิกของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

ลักษณะของหัวข่าวที่ดี  คือ  ต้องเป็นข้อสรุปของประเด็นสำคัญทั้งหมดของข่าว  ครอบคลุมสาระสำคัญที่ผู้อ่านอยากรู้ไม่ใส่ความเห็นลงไป  เขียนข่าวในลักษณะปัจจุบันกาลหรืออนาคตกาล  เน้นกริยาและกรรมที่แสดงถึงการกระทำมากกว่าถูกกระทำ  ใช้ประโยคกระชับ  สั้น  ได้ใจความ  สื่อความหมายชัดเจนและครบถ้วน

2       ความนำ  (Lead)  คือ  ย่อหน้าแรกของข่าว  ซึ่งจัดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของข่าว  รวมทั้งเป็นส่วนที่เขียนยากที่สุดด้วย  โดยมีความสำคัญ คือ  ช่วยสรุปสาระสำคัญของข่าวเพื่อให้ผู้อ่านที่อาจจะเพียงมองผ่านๆ  ก็สามารถตัดสินได้ตั้งแต่แรกว่าจะอ่านข่าวนั้นต่อไปหรือไม่  และช่วยให้ผู้อ่านไม่ต้องเสียเวลามาก  เพราะแม้ว่าจะอ่านเฉพาะแต่ความนำ  ผู้อ่านก็จะทราบเรื่องทั้งหมดได้โดยย่อ

ลักษณะของความนำที่ดี  คือ  ต้องกระชับ  ชัดเจน  เฉพาะเจาะจง  ใช้คำที่มีความหมายหนักแน่น  เน้นถึงระดับความสำคัญของข่าว  เน้นเรื่องไม่ปกติ  มีเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวข้องกับผู้อ่าน  กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของเรื่องก่อน  ไม่มีความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  เข้าใจง่ายและตรงประเด็น  นอกจากนี้การอ้างคำพูดหรือความเห็นของแหล่งข่าวจะต้องระบุว่าเป็นของแหล่งข่าวไม่ใช่ของผู้เขียน

3       ส่วนเชื่อม  (Neck  or  Bridge)  คือ  การเขียนข้อความเชื่อมระหว่างความนำกับเนื้อข่าว  โดยมีความสำคัญ  คือ  ช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความเดิมและเหตุการณ์ที่เป็นข่าวได้ง่ายขึ้น  และช่วยสร้างความต่อเนื่องให้ผู้อ่านสามารถดำเนินความคิดไปในแนวทางเดียว  ไม่ให้เกิดความสับสนในลำดับเนื้อหาเหตุการณ์

ลักษณะของส่วนเชื่อมที่ดี  คือ  ต้องเป็นส่วนขยายเพื่อให้ความนำสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  โดยอาจให้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลในข่าว  ซึ่งไม่อาจระบุไว้ในความนำเพราะจะทำให้ความนำยาวเกินไป  หรืออาจให้ภูมิหลังและความเป็นมาของเหตุการณ์นั้นๆในกรณีที่เป็นข่าวต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในอดีต

4       เนื้อข่าว  (Body  or  Details)  คือ  ส่วนที่เป็นข้อมูลข่าวทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เป็นข่าว  โดยมีความสำคัญ  คือ  จะเป็นส่วนขยายหรือให้รายละเอียดเพิ่มเติมแก่ข้อมูลข่าวที่กล่าวไปแล้วในความนำ  รวมทั้งเพิ่มข้อมูลข่าวที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยในความนำ  ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากมีความสำคัญไม่มากนักเมื่อเทียบกับข้อมูลข่าวอื่นๆที่เสนอไว้ในความนำ

ลักษณะของเนื้อข่าวที่ดี  คือ  มีความกระจ่างชัด  กะทัดรัด  และอ่านเข้าใจง่าย  มีความเป็นภววิสัยมีภูมิหลังของข่าวประกอบเพื่อเสริมเนื้อข่าว  มีความถูกถ้วน  มีการใช้คุณลักษณะของแหล่งข่าว  และต้องเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์

ข้อ  5  ในการเขียน  คำว่า  คุณลักษณะ  มีความสำคัญอย่างไร  และคุณลักษณะใดบ้างที่จำเป็นหรือขาดไม่ได้ในการเขียนข่าว  อธิบาย  พร้อมยกตัวอย่าง

แนวคำตอบ

ในการเขียนข่าวต้องมีการระบุ  คุณลักษณะ  (Identification)  ของแหล่งข่าว  คือ  ลักษณะรูปพรรณสัณฐาน  และคุณสมบัติต่างๆ  ของแหล่งข่าวทั้งที่เป็นบุคคล  สถานที่  หรือเหตุการณ์  ทั้งนี้เพราะมีความสำคัญ  คือ  ทำให้ผู้อ่านได้ทราบว่าบุคคล  สถานที่  และเหตุการณ์ในข่าวเหล่านั้นเป็นอะไร  มีความสำคัญความพิเศษ  หรือผิดปกติอย่างไร  นอกจากนั้นยังช่วยให้ข่าวนั้นมีสีสัน  เพิ่มความน่าอ่าน  ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวและความใกล้ชิดกับผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น

คุณลักษณะของแหล่งข่าวที่จำเป็นในการเขียนข่าว  

1       คุณลักษณะด้านบุคคล 

1)    ชื่อ  นามสกุล  และอายุ  เช่น  น้องตุ้ม  ปริญญา  เกียรติบุษบา  นักมวยไทยวัย  18  ปี  เป็นต้น

2)    อาชีพ  เช่น  ราเชนทร์  เรืองเนตร  นักแต่งเพลงได้เสียชีวิตลงแล้ว  เป็นต้น

3)    ยศหรือตำแหน่ง  เช่น  พล.อ. เปรม  ติณสูลานนท์  องคมนตรี  เป็นต้น

4)    เกียรติภูมิหรือชื่อเสียง  เช่น  ภรณ์ทิพย์  นาคหิรัญกนก  นางงามจักรวาล  เป็นต้น

5)    บุคคลที่เคยปรากฏเป็นข่าวแล้ว  เช่น  กรณีมีผู้ถูกยิงเสียชีวิต  และผู้ตามนี้เคยตกเป็นข่าวว่าจ้างวานฆ่าบุคคลอื่นก็ต้องอธิบายถึงภูมิหลัง  หรือความเดิมของเรื่องในอดีตนั้นด้วย

6)    ที่อยู่  เช่น  บ้านเลขที่  ถนน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  ซึ่งเป็นที่อยู่ของบุคคลในข่าว

7)    ชื่อเล่น  เบิร์ด” ธงไชย  แมคอินไตย  เป็นต้น

8)    ฉายาหรือการตั้งชื่อใหม่  เช่น  พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ  ชินวัตร  มีฉายาว่า  แม้ว  เป็นต้น

9)    ญาติมิตร  เช่น  ข่าวบุตรชายหรือภรรยาของนายกรัฐมนตรีป่วย  เป็นต้น

10)งานอดิเรก  เช่น  ข่าวบุคคลที่ไม่มีชื่อเสียง  แต่อาจมีงานอดิเรกที่ทำให้ผู้อ่านทึ่งได้  เป็นต้น

2       คุณลักษณะด้านสถานที่

สถานที่มักจะได้รับการระบุคุณลักษณะโดยการดึงให้ไปสัมพันธ์  หรืออ้างอิงกับสถานที่อื่นๆที่มีชื่อเสียง  เพื่อให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพกว้างๆ  ว่าสถานที่ที่เป็นข่าวนั้นอยู่ที่ใด  และอยู่ห่างจากผู้อ่านเพียงไร  เช่น  เมื่อวันที่  1  มิถุนายน  ผู้สื่อข่าวมติชนเดินทางไปตรวจสอบและสำรวจบริเวณสถานสงเคราะห์หญิงธัญบุรี  สังกัดกรมประชาสงเคราะห์  กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  ซึ่งตั้งอยู่ที่คลอง  5  อ.ธัญบุรี  จ.ปทุมธานี  ซึ่งมี  น.ส.บุญส่ง  แสวงผล  เป็นผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ดังกล่าวติดกับวิทยาลัยการปกครอง  สังกัดกระทรวงมหาดไทย

3       คุณลักษณะด้านเหตุการณ์

เหตุการณ์นอกจากจะได้รับการระบุว่าเป็นเหตุการณ์อะไร  มีความเคลื่อนไหวอย่างไรแล้วหากเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมักจะมีการระบุถึงวัตถุประสงค์  ความเป็นมา  และเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้นๆ  รวมทั้งอาจจะอ้างว่าเหตุการณ์นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิหลัง  หรือความเดิมของข่าว  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  (สวช.)  จัดสัมมนาสื่อมวลชนทุกแขนงแต่ละภูมิภาค  เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานวัฒนธรรมปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย  โดยเริ่มสัมมนาสื่อมวลชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อ  6  จงเขียนข่าวจากข้อเท็จจริงต่อไปนี้

ชื่อโครงการ                              หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ

เจ้าของโครงการ                       มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ชื่อหลักสูตร                             หลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ

                                                 Master  of  Arts  Program  in  Development  Communication

หน่วยงานที่รับผิดชอบ            สำนักงานโครงการพิเศษ  มหาวิทยาลัยรามคำแหง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

 

–                    เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านการสื่อสาร  และสามารถบูรณาการความรู้เพื่อการพัฒนาองค์กรและสังคม

–                    เพื่อพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพด้านการสื่อสารให้มีความรู้  ความสามารถระดับที่สูงขึ้น

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการหรือ  ก.พ.รับรอง  บุคคลกรที่ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการสื่อสารทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้  และศักยภาพทางการสื่อสารสำหรับสังคมยุคสารสนเทศ

ระบบการศึกษา

จัดการศึกษาแบบ  Block  Course  (เรียนและสอบครั้งละ  1  วิชา)  จำนวนทั้งสิ้น  36  หน่วยกิต (ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์)  เรียนทุกวันเสาร์  17.00  21.00  น.  และวันอาทิตย์  08.00  17.00 น.

ระยะเวลาในการศึกษา

กำหนดให้ไม่เกิน  5  ปีการศึกษาโดยสอบผ่านได้คะแนนเฉลี่ยสะสม  (G.P.A.)  ไม่น้อยกว่า  3.00  ทั้งนี้  นักศึกษาจะต้องมีเวลาเข้าเรียนแต่ละวิชาตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร  เป็นเงิน  140,000  บาท  (หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถ้วน)  โดยแบ่งชำระเป็น  4  งวดๆละ  35,000  บาท  (สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

วิธีคัดเลือกผู้เข้าศึกษา

คณะกรรมการบริหารโครงการฯ  คัดเลือกผู้เข้าศึกษาด้วยวิธีการสัมภาษณ์  เปิดรับสมัครนักศึกษา  รุ่นที่  2  ระหว่าง  3  มกราคม  2549  –  วันที่  31  มีนาคม  2549  สอบสัมภาษณ์  วันที่  8  9  เมษายน  2549  ประกาศผล วันที่  20  เมษายน  2549  เปิดเรียน  วันที่  6  พฤษภาคม  2549

ติดต่อขอใบสมัครและสมัครได้ที่

สำนักงานโครงการพิเศษ  อาคารวิทยบริการและบริหารชั้น  4  มหาวิทยาลัยรามคำแหง   โทร  02-310844902-3108450  หรือ   Download  ใบสมัครได้ที่  www.ru.ac.th,  www.mpa.ru.ac.th,  www.hum.ru.ac.th

แนวคำตอบ

ม.ร.  รับนักศึกษา  ป.โท  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ

มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและผู้สนใจทั่วไปเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท  หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ  ตั้งแต่บัดนี้  31  มีนาคม  2549  โดยจะคัดเลือกเข้าศึกษาด้วยวิธีการสอบสัมภาษณ์

หลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านการสื่อสาร  ให้สามารถบูรณาการความรู้เพื่อการพัฒนาองค์กรและสังคม  รวมทั้งพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพด้านการสื่อสารให้มีความรู้และความสามารถในระดับที่สุงขึ้น  โดยจะจัดการศึกษาแบบเรียนและสอบครั้งละ  1  วิชา  (Block  Course)  จำนวนทั้งสิ้น  36  หน่วยกิต  (ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์)  เรียนทุกวันเสาร์  17.00  21.00  น.  และวันอาทิตย์  08.00  17.00 น.  มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร  140,000  บาท  (แบ่งชำระ  4  งวดๆละ  35,000  บาท)  โดยกำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน  5  ปี  การศึกษา  ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องมีเวลาเข้าเรียนแต่ละวิชาตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด  และต้องสอบผ่านได้  G.P.A.  ไม่น้อยกว่า  3.00

ผู้สนใจขอรับใบสมัครและสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้  31  มีนาคม  2549  ที่สำนักงานโครงการพิเศษอาคารวิทยบริการและบริหาร  ชั้น  4  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  โทร  02  3108449,  02- 3108450  หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ 

www.ru.ac.th,  www.mpa.ru.ac.th  และ   www.hum.ru.ac.th

Advertisement