การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2006 กฎหมายอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 สมภพขับรถจักรยานยนต์ไปส่งของ สมเดชขับรถยนต์ตามมาเห็นสมภพขับช้า สมเดชขับรถยนต์แซงรถจักรยานยนต์ของสมภพ รถยนต์ของสมเดชชนถูกรถจักรยานยนต์ของสมภพล้มลง สมเดชไม่ได้หยุดรถ สมภพลุกขึ้นได้ใช้ปืนยิงไปที่ล้อรถยนต์ของสมเดชเพื่อให้หยุดรถ กระสุนปืนถูกล้อรถยนต์แล้วทะลุตัวถังไปถูกคนนั่งอยู่ในรถยนต์ของสมเดชตาย
ดังนี้ สมภพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การกระทำของสมภพจะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้
การที่สมภพได้ใช้ปืนยิงไปที่ล้อรถยนต์ของสมเดชเพื่อให้รถหยุดนั้น เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ และในขณะเดียวกันสมภพได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น จึงถือว่าการกระทำของสมภพที่ได้กระทำต่อทรัพย์ของสมเดชเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง และต้องรับผิดทางอาญาเพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการกระทำของสมภพนั้นได้กระทำไปเพราะเหตุบันดาลโทสะ เนื่องจากการที่ถูกสมเดชแซงรถจักรยานยนต์ของสมภพ และชนถูกรถจักรยานยนต์ของสมภพล้มลงโดยสมเดชไม่ได้หยุดรถ ทำให้สมภพเกิดบันดาลโทสะ และได้ใช้ปืนยิงไปที่ล้อรถยนต์ของสมเดชในขณะนั้น ดังนั้นศาลจะลงโทษสมภพน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ตามมาตรา 72
ส่วนกรณีที่กระสุนปืนที่สมภพยิง ได้ทะลุตัวถังไปถูกคนที่นั่งอยู่ในรถยนต์ของสมเดชตายนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำโดยเจตนา เพราะสมภพไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะเกิดผลให้มีคนตาย แต่การกระทำของสมภพถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาท คือ เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ ดังนั้นสมภพจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 59 วรรคสี่
สรุป สมภพต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทำโดยเจตนาต่อทรัพย์ แต่จะได้รับโทษน้อยลงเพราะได้กระทำไปโดยบันดาลโทสะ และต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย
ข้อ 2 อาจหาญต้องการฆ่าบุญยัง อาจหาญเข้าไปในห้องนอนของบุญยังแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ที่นอน โดยเข้าใจว่าบุญยังนอนอยู่ กระสุนปืนถูกหมอนข้างเพราะบุญยังนอนค้างบ้านเพื่อนไม่ได้กลับบ้าน และกระสุนปืนทะลุฝาห้องไปถูกสำรวยที่นอนอยู่ข้างห้องนอนบุญยังตาย ดังนี้ อาจหาญต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคแรก และวรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น
มาตรา 81 วรรคแรก ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่อาจหาญต้องการฆ่าบุญยัง และได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ที่นอนโดยเข้าใจว่าบุญยังนอนอยู่ กระสุนปืนถูกหมอนข้างไม่ถูกบุญยัง เพราะบุญยังไปนอนค้างบ้านเพื่อนไม่ได้กลับบ้านนั้น การกระทำของอาจหาญถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกัน ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้นอาจหาญจึงต้องรับผิดทางอาญาที่กระทำต่อบุญยังโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก และวรรคสอง
และเมื่อการกระทำของอาจหาญที่ได้กระทำโดยมุ่งต่อผลคือความตายของบุญยัง แต่อาจหาญได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ที่นอนและหมอนข้าง โดยเข้าใจว่าเป็นบุญยังคนที่ตนต้องการฆ่าหรือวัตถุที่ตนมุ่งหมายจะกระทำ ดังนั้นถือว่าการกระทำของอาจหาญเป็นการกระทำที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ อาจหาญจึงมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา 81 วรรคแรก
และตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระสุนปืนที่อาจหาญยิงนั้นได้ทะลุฝาห้องไปถูกสำรวยที่นอนอยู่ข้างห้องนอนบุญยังตาย ความตายของสำรวยต้องถือว่าเกิดจากการกระทำโดยเจตนาของอาจหาญด้วย เพราะเมื่ออาจหาญมีเจตนาที่จะกระทำต่อบุญยัง แต่ผลของการกระทำของเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งคือ สำรวยโดยพลาดไปตามมาตรา 60 ให้ถือว่าอาจหาญได้กระทำโดยเจตนาต่อสำรวยซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นด้วย
สรุป
อาจหาญต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทำความผิดต่อบุญยังและสำรวยโดยเจตนา
ข้อ 3 สมรขับรถยนต์กลับบ้านตามปกติ ระหว่างทางมีเหตุการณ์ทหารใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุม สมรเร่งเครื่องเพื่อให้ผ่านเหตุการณ์ตรงนั้นโดยเร็ว ปรากฏว่ามีสอนและสินผู้ชุมนุมวิ่งหนีมาทางที่สมรขับรถยนต์อยู่ ซึ่งสมรก็เห็นและสอนถูกรถยนต์ของสมรชนตาย สินเห็นสอนเพื่อนที่ชุมนุมด้วยกันถูกรถยนต์ชนจึงใช้ไม้ตีไปที่รถยนต์ของสมรถูกกระจกหน้ารถยนต์แตก และกระจกได้ถูกแขนสมรได้รับบาดเจ็บ
ดังนี้ สมรและสินต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร และจะอ้างเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงได้บ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคแรก และวรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
มาตรา 67 ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
วินิจฉัย
การกระทำของสมรและสินจะต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ อย่างไร วินิจฉัยได้ดังนี้
ตามอุทาหรณ์ การกระทำของสมรที่ขับรถยนต์ชนสอนตายนั้น แม้สมรจะไม่ได้ระสงค์ต่อผล คือความตายของสอนก็ตาม แต่เป็นการกระทำที่สมรย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ถ้ารถยนต์ชนสอนอาจทำให้สอนตายได้ ดังนั้น การกระทำของสมรจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น สมรจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำโดยเจตนาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 59 วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการกระทำของสมรนั้นได้กระทำไปเพราะต้องการให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใด และเป็นภยันตรายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน และได้กระทำไปไม่สมควรแก่เหตุ จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67(2) ดังนั้นสมรจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้น
ส่วนกรณีที่สินเห็นเพื่อนถูกรถยนต์ชนจึงได้ใช้ไม้ตีไปที่รถยนต์ของสมรถูกกระจกหน้ารถยนต์แตก และกระจกได้ถูกแขนสมรได้รับบาดเจ็บนั้น การกระทำของสินเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น การกระทำของสินจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก
และการกระทำของสินนั้น จะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 68 หรือจะอ้างว่าได้กระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67(2) เพื่อไม่ต้องรับโทษนั้นไม่ได้ เพราะภยันตรายนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง และจะอ้างว่าได้กระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะเพื่อให้ได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา 72 ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่กรณีที่นายสอนได้ถูกข่มเหงด้วยเหตุร้ายแรงอันไม่เป็นธรรม
สรุป สมรต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อสอนโดยเจตนา แต่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้น
สินต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อสมรโดยเจตนา จะอ้างเหตุใดๆเพื่อให้ตนไม่ต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงไม่ได้
ข้อ 4 เนวินบอกพลรบลูกน้องให้หามือปืนไปยิงวิทยาให้ตาย พลรบปรึกษาการุณเรื่องมือปืน การุณได้แนะนำให้พลรบไปจ้างยอด พลรบได้จ้างยอดให้ไปยิงวิทยาตามคำแนะนำของการุณ ยอดตกลงแต่พลรบต้องหาอาวุธปืนมาให้ สดใสทราบว่ายอดจะไปยิงวิทยา สดใสอยากให้วิทยาตายอยู่แล้ว จึงนำอาวุธปืนไปให้พลรบเพื่อพลรบจะได้นำไปให้ยอด พลรบได้อาวุธปืนจากสดใสแล้วนำไปให้ยอด ยอดใช้ปืนนั้นยิงวิทยาตาย ดังนี้ เนวิน พลรบ การุณ และสดใส ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน หรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
วินิจฉัย
ความรับผิดของเนวิน
การที่เนวินบอกพลรบให้หามือปืนไปยิงวิทยาให้ตายนั้น แม้ว่าจะเป็นการใช้คนหลายคนต่อๆกันไป ก็ถือว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ดังนั้นเนวินจึงเป็นผู้ใช้ในความผิดฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะผู้ใช้ของผู้ใช้ก็เท่ากับเป็นผู้ใช้ของผู้ลงมือกระทำความผิดด้วย ตามมาตรา 84 วรรคแรก เมื่อยอดยิงวิทยาตาย เนวินผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง
ความรับผิดของพลรบ
การที่พลรบว่าจ้างยอดให้ไปยิงวิทยา ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทำความผิด พลรบจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคแรก เมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง พลรบผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง แต่ไม่ต้องรับผิดฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ในกรณีที่นำอาวุธปืนไปให้ยอดอีกเพราะการเป็น “ผู้ใช้” ได้กลืนการเป็น “ผู้สนับสนุน” แล้วนั่นเอง
ความรับผิดของการุณ
การที่การุณแนะนำให้พลรบไปจ้างยอดให้ไปยิงวิทยา กรณีนี้ถือว่าการุณได้ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด การุณจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 โดยการุณไม่ผิดฐานเป็นผู้ใช้ เพราะการแนะนำไม่ถือเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามมาตรา 84
ความรับผิดของสดใส
สดใสทราบว่ายอดยิ่งจะไปยิงวิทยา จึงนำอาวุธปืนไปให้พลรบเพื่อพลรบจะได้นำไปให้ยอดยิ่ง จึงถือเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด สดใสจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ถึงแม้ว่ายอดผู้กระทำผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกของสดใสก็ตาม
สรุป
เนวินต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84
พลรบต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84
การุณต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
สดใสต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86