การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  หาญต้องการฆ่าพล  หาญเห็นพลนั่งอยู่  หาญชักปืนออกจากเอวยังไม่ทันยกปืนเล็งไปที่พล  นพเห็นเข้าจึงเข้าไปปัดปืนเพื่อช่วยพล  ปืนลั่นกระสุนไปถูกเก่งตาย  ดังนี้  หาญและนพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  หาญและนพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของหาญ 

การที่หาญต้องการฆ่าพล  และได้ชักปืนออกจากเอวแต่ยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่พลนั้น  ถือว่าหาญยังไม่ได้ลงมือกระทำต่อพล  หาญจึงยังไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าพล  ดังนั้น  หาญจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อพล

แต่อย่างไรก็ตาม  ปืนเป็นอาวุธร้ายแรงซึ่งหาญต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  การชักปืนออกมาของหาญเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาญก็มิได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  เมื่อผลไปเกิดกับเก่ง  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของหาญ  ตามมาตรา  59  วรรคสี่  และไม่ถือว่าผลที่เกิดขึ้นกับเก่งนั้น  เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  ตามมาตรา  60  ทั้งนี้เพราะหาญมิได้กระทำโดยเจตนาต่อนพ  และผลไปเกิดขึ้นกับเก่งโดยพลาดไปแต่อย่างใด  ดังนั้น  หาญจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่งเพราะได้กระทำโดยประมาท

กรณีของนพ 

การที่นพปัดปืนที่หาญชักออกมาจากเอวเพื่อช่วยพล  และทำให้ปืนลั่น  กระสุนไปถูกเก่งตายนั้น  นพไม่ได้กระทำโดยประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ  จึงไม่ถือว่านพมีเจตนากระทำต่อเก่ง  และการกระทำของนพถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว  จึงไม่ถือว่านพได้กระทำโดยประมาทต่อเก่ง  ดังนั้นนพจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง

สรุป  หาญต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  ฐานกระทำโดยประมาท  ส่วนนพไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  เพราะมิได้กระทำโดยเจตนาหรือโดยประมาท

 

ข้อ  2  แสนและสดใสเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  วันหนึ่งแสนกลับเข้าบ้านเปิดประตูห้องนอน  เห็นกล้ากับสดใสกำลังร่วมประเวณีกันโดยสดใสยินยอม  แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้าได้รับบาดเจ็บ  และกระสุนปืนยังทะลุฝาห้องไปถูกเฉิดโฉมที่นอนอยู่ห้องติดกันตาย  ดังนี้  แสนต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะยกเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดหรือรับโทษได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของแสนจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้

การที่แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้าได้รับบาดเจ็บในขณะที่กล้ากับสดใส  ภริยาของแสนกำลังร่วมประเวณีกันอยู่นั้น  การกระทำของแสนเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแสนจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้ว  แสนจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การกระทำของแสนถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  อันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของแสนจึงเป็นการกระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  แสนจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อกล้า  ตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  80

และเมื่อการที่แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้านั้น  กระสุนปืนยังได้ทะลุฝาห้องไปถูกเฉิดโฉมที่นอนอยู่ในห้องติดกันตาย  การกระทำของแสนต่อเฉิดโฉมนั้นถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาโดยพลาดไป  ตามมาตรา  60  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของแสนนั้นเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  จึงเป็นผลที่เกิดจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  ตามมาตรา  60  ประกอบมาตรา  68  ดังนั้นแสนจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเฉิดโฉม

สรุป  แสนไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อกล้าและเฉิดโฉม  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  แม้นทำสวนทุเรียนมีช้างป่าเข้ามาทำลายต้นทุเรียนเพื่อกินผลทุเรียน  แม้นใช้ไม้ไล่ตีช้างป่า  ช้างป่าได้เข้ามาทำร้ายแม้น  แม้นวิ่งหนี  ช้างไล่ตาม  แม้นเห็นบ้านแจ้งซึ่งปิดประตูไว้  แม้นคิดว่าถ้าเข้าไปหลบซ่อนตัวในบ้านหลังนั้น  จะพ้นจากการถูกช้างทำร้าย  แม้นจึงพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้าน  แจ้งกลับมาเห็นแม้นพังประตูบ้านของตน  เข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์  จึงใช้ไม้ตีถูกแม้นได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  แม้นและแจ้งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะยกเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดหรือรับโทษอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้นและแจ้งจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของแม้น

การที่แม้นพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้านของแจ้ง  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแม้นจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาต่อทรัพย์ของแจ้ง  ตามมาตรา  59  วรรคสอง และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่แม้นพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้านของแจ้งก็เพื่อให้พ้นจากการถูกช้างทำร้าย  การกระทำของแม้นจึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  เพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  ตามมาตรา  67(2)  ดังนั้น  แม้นจึงไม่ต้องรับโทษทางอาญา

กรณีของแจ้ง

การที่แจ้งใช้ไม้ตีถูกแม้นได้รับบาดเจ็บนั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแจ้งจึงเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้วจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่แจ้งใช้ไม้ตีแม้นนั้นเป็นเพราะว่าแจ้งสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า  แม้นเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์จึงได้กระทำเพื่อป้องกันตนเอง  ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  อันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และแม้ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ดังนั้นแจ้งจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อแม้นตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62  วรรคแรก

สรุป  แม้นต้องรับผิดทางอาญาต่อแจ้ง  ฐานกระทำต่อทรัพย์โดยเจตนา  แต่ได้กระทำความผิดด้วยความจำเป็น  จึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แจ้งไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อแม้น  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองและเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  แดนต้องการฆ่ากร  แดนไปดักยิงกร  แดงเห็นกรเดินมา  แดนยกปืนเล็งไปที่กร  ก่อนลั่นไกปืน  แดนเห็นลูกของกรเดินตามหลังกร แดนเกิดความสงสารลูกของกรที่ต้องขาดพ่อ  จึงเก็บปืนไม่ยิง  ดังนี้  แดนต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  82  ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น  แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด  ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่แดนต้องการฆ่ากรและได้ยกปืนเล็งไปที่กรนั้น  ถือว่าแดนได้ลงมือกระทำต่อกรแล้ว  และเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  ดังนั้น  แดนจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อกร  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่เมื่อแดนได้เกิดความสงสารลูกของกรที่ต้องขาดพ่อ  จึงเก็บปืนไม่ยิงกร  การกระทำของแดนจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  แดนจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามกระทำความผิดต่อกร  ตามมาตรา  80

แต่อย่างไรก็ตาม  การลงมือกระทำความผิดของแดนที่ได้กระทำไปไม่ตลอดนั้น  เป็นเพราะแดนยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  ดังนั้น  แดนจึงไม่ต้องรับโทษฐานพยายามกระทำความผิดนั้น  ตามมาตรา  82

สรุป  แดนต้องรับผิดทางอาญาต่อกรฐานพยายามกระทำความผิด  แต่แดนไม่ต้องรับโทษฐานพยายามกระทำความผิดนั้น  เพราะได้ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด

Advertisement