การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ภาวะน้ำมันแพง แดงขายรถอีแต๋นที่ใช้ไถนาแล้วซื้อควายมาไถนาแทน ยามว่างก็รับจ้างไถหรือให้เช่าควาย แดงโฆษณาว่า เช่าควายได้ปุ๋ย (ขี้ควาย) ฝนแรกพฤษภา ขาวมาเช่าควายไปไถนา เมื่อไถเสร็จแล้วขาวนำค่าเช่า 2,000 บาท และจูงควายไปคืนแดง เกิดฝนฟ้าคะนอง จนต้องหลบฝนที่กระท่อมกลางนา ฝนเริ่มซาฟ้าผ่าไฟไหม้ถึงหลังคา ขาวก็ตายควายก็ตาย สตางค์ก็โดนไฟไหม้หมด ขาวมีหน้าที่ชำระหนี้ให้แดงหรือไม่อย่างไรอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 8 คำว่า เหตุสุดวิสัย หมายความว่า เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
มาตรา 195 วรรคสอง ถ้าลูกหนี้ได้กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี หรือถ้าลูกหนี้ได้เลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้จำเดิมแต่เวลานั้นไป
มาตรา 219 วรรคหนึ่ง ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่ และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมาย หรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
วินิจฉัย
บุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อถึงแก่ความตายสิทธิและหน้าที่ของขาวย่อมสิ้นไป ขาวไม่มีหน้าที่ชำระหนี้ให้แดง
ส่วนของควาย การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 อันมิใช่ความผิดของลูกหนี้ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง สำหรับค่าเช่า 2,000 บาท เป็นทรัพย์ทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ไม่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เมื่อขาวตายหน้าที่ที่จะชำระค่าเช่าตกไปยังทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และ 1600
ข้อ 2 วันทนีย์ขายบ้านพร้อมที่ดินให้สุชาดาในราคาห้าล้านห้าแสนบาท สุชาดาขอกู้ธนาคารโดยนำบ้านและที่ดินดังกล่าวเข้าจำนอง แล้วชำระค่าบ้านให้วันทนีย์ไปห้าล้านบาท ที่ค้างชำระห้าแสนบาท ได้ทำสัญญากู้กันไว้ และสุชาดาได้จ่ายเช็คล่วงหน้าเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้ ให้วันทนีย์ไว้ 5 ใบ รวม 5 เดือนเดือนละหนึ่งแสนบาท เมื่อถึงกำหนดวันทนีย์เบิกเงินไม่ได้ (เช็คเด้ง) วันทนีย์ร้อนใจมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำปรึกษาอย่างไร (ตอบเฉพาะในส่วนของวิชาหนี้)
ธงคำตอบ
มาตรา 194 ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้
มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
มาตรา 229 การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่ง ผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำจำนอง
วินิจฉัย
สัญญากู้ที่ทำกันไว้มีมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 วันทนีย์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของสุชาดา ส่วนธนาคารเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง วันทนีย์มีสิทธิชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนอง แล้วรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมาเป็นของตน มีผลทำให้วันทนีย์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิในฐานะเป็นผู้รับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (1) เพื่อที่บังคับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ต่อไป
ข้อ 3 เอกยกที่ดินหนึ่งแปลงให้แก่โทโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาโทได้ประพฤติเนรคุณเอกผู้ยกให้ เอกจึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากโทได้ และเอกยื่นฟ้องโทเรียกถอนคืนการให้ในวันที่ 20 มกราคม 2549 โดยเอกทราบเหตุเนรคุณในวันที่ 10 มกราคม 2549 แต่ปรากฏว่าโทได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2549 โดยตรีรู้อยู่แล้วว่าเอกกำลังเรียกเอาที่ดินที่ยกให้คืน เอกจึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโทกับตรี
แต่ตรีต่อสู้ว่าเอกไม่มีสิทธิมาฟ้องขอต่อศาลให้เพิกถอน เพราะตรีได้รับการโอนขายที่ดินมาก่อนวันที่เอกฟ้องเรียกถอนคืนการให้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าเอกฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโทกับตรีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
วินิจฉัย
แม้จะมีการโอนขายที่ดินให้แก่ตรี ก่อนที่เอกยื่นฟ้องเรียกถอนคืนการให้ก็ตาม นับแต่วันทราบเหตุเนรคุณ ถือได้ว่าเอกอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จากการที่โทผู้เป็นลูกหนี้ได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้ตรีไป กรณีต้องด้วยมาตรา 237 วรรคหนึ่ง เอกฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินได้
ข้อ 4 จันทร์ตกลงว่าจ้างอังคารและพุธ ทำและประกอบรถแข่งร่วมกันหนึ่งคัน เพราะพอใจและเชื่อในฝีมือของอังคารและพุธร่วมกัน โดยอังคารมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำและประกอบตัวถังรถแข่ง ส่วนพุธมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการประกอบและแต่งเครื่องยนต์รถแข่ง กำหนดให้อังคารและพุธทำและประกอบรถแข่งร่วมกันให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อส่งมอบให้แก่จันทร์ในวันที่ 30 มกราคม 2549 ปรากฏว่าอังคารทำและประกอบตัวถังรถแข่งได้เสร็จ แต่พุธประกอบและแต่งเครื่องยนต์ไม่เสร็จ เป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งมอบรถแข่งให้แก่จันทร์ได้ตามกำหนดนัด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 295 วรรคหนึ่ง ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้นเมื่อเป็นเรื่องเท้าถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษ แต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง
มาตรา 301 ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน
วินิจฉัย
การทำและประกอบรถแข่งร่วมกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตามมาตรา 301 กรณีต้องถือว่าอังคารและพุธ ตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดทั้งสองคนเพราะสภาพแห่งหนี้ตามสัญญาต้องชำระหนี้ร่วมกัน กรณีการผิดนัดจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเฉพาะตัว ทั้งนี้เป็นไปตามข้อยกเว้นในตอนท้ายของมาตรา 295 วรรคหนึ่งที่ว่า เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง