การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

ข้อ  1  กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐ  อำนาจรัฐ  การปกครองของรัฐ  การควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง

ดังนั้น จึงขอให้นักศึกษาอธิบายความหมายของรัฐธรรมนูญ  กฎหมายปกครอง  และขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.  2550 ว่ามีหลักการ  ขั้นตอนการแก้ไขอย่างไร

ธงคำตอบ

ความหมายของรัฐธรรมนูญคือ  ตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ว่าด้วยระเบียบอำนาจแห่งรัฐ  มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ  เป็นการบัญญัติกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปกครองประเทศ  หรือเป็นกฎหมายที่รวบรวมกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ  เป็นกฎหมายที่กำหนดองค์กรทางการเมืองของรัฐ  หรือ  กลไกของรัฐและให้ประกันสิทธิเสรีภาพพื้นฐานแก่ประชาชน  ซึ่งได้จัดทำด้วยวิธีการที่แตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา

ความหมายของกฎหมายปกครองของไทย  ได้แก่กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการปกครองประเทศ  แต่กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปกครอง

กฎหมายนี้จะกล่าวถึงการจัดระเบียบขององค์กรการปกครอง  เช่น  จัดแบ่งออกเป็น  กระทรวง  ทบวง  กรม  หรือเทศบาล ความเกี่ยวพันระหว่างองค์กรนี้กับรัฐ

ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  กำหนดหลักการในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขแบบง่ายโดยมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนการแก้ไขกำหนดไว้ในมาตรา  291  ดังนี้

มาตรา  291  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามกลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

1         ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา  หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติ ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ  จะเสนอมิได้

2         ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ3         การออกเสียงลงคะแนน  ในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย  และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น  ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนษมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

4         การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา  ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

5         เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว  ให้รอไว้สิบห้าวัน  เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป6         การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย  ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ ด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง หมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

7         เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว  ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  และให้นำบทบัญญัติมาตรา  150  และมาตรา  151  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ข้อ  2   ถ้าจะกล่าวว่าการปกครองของไทยทุกระดับ  เกิดจากกฎหมายมหาชนทั้งสิ้น  ท่านเห็นด้วยหรือไม่  พร้อมยกตัวอย่างให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชนปัจจุบันได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้อำนาจในการปกครองประเทศ  ได้แก่

1         อำนาจนิติบัญญัติโดยมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจ

2         อำนาจบริหาร  โดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจ

3         อำนาจตุลาการ  โดยมีศาลเป็นองค์การใช้อำนาจ

กฎหมาย ปกครองเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการในทางปกครองได้จะต้อง มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้มิฉะนั้นไม่สามารถดำเนินการได้  กฎหมายดังกล่าวได้แก่กฎหมายปกครองหรือกฎหมายมหาชน  เช่น  พ.ร.บ.  ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฯ หรือ พ.ร.บ.อื่นๆ

 

 ข้อ  3  ให้นักศึกษาอธิบายความสัมพันธ์ของหลักการกฎหมายปกครองที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาพอให้เข้าใจ  ถึงความสัมพันธ์ของหลักการดังกล่าว

ธงคำตอบ 

นักศึกษาอธิบายความหมายของกฎหมายปกครอง  การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้

นักศึกษาหยิบยกเอาหลักกฎหมายปกครอง  อาทิเช่น

หลักการกำกับดูแล

หลักการควบคุมบังคับบัญชา

หลักการแบ่งอำนาจ

หลักการรวมอำนาจ

หลักการกระจายอำนาจ

มาอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์กันของการแบ่งส่วนราชการที่แบ่งออกเป็น  3  ส่วน

1         ราชการส่วนกลาง  ยึดหลัก  การรวมอำนาจ

2         ราชการส่วนภูมิภาค  ยึดหลัก  การแบ่งอำนาจ

3         ราชการส่วนท้องถิ่น  ยึดหลัก  การกระจายอำนาจ

นักศึกษา ตอบได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  และในระหว่างความสัมพันธ์กันของราชการส่วนกลางกับราชการส่วนภูมิภาค  เป็นแบบควบคุมบังคับบัญชา  ส่วนราชการกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่น  เป็นแบบกำกับดูแล

Advertisement