การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 นาย ก เป็นเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้า ในช่วงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม ถึงวันที่ 5 มกราคม ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ร้านของนาย ก สั่งสินค้าจำพวก ส.ค.ส แบบต่างๆ มาจำหน่ายแก่ลูกค้า และสามารถสร้างผลกำไรจากการขาย ส.ค.ส. แก่นาย ก เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อปี
โดยจะสั่งซื้อจากโรงงานของนาย ข เพียงแห่งเดียว สำหรับในปี 2549 นาย ก ได้ส่งคำสั่งซื้อ ส.ค.ส. แบบมีเลข พ.ศ. กำกับไปยังโรงงานของนาย ข จำนวน 2,000 ชุด เช่นทุกปี โดยตกลงกันว่า นาย ข จะต้องนำสินค้ามาส่งที่ร้านของนาย ก ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เพื่อจะได้จัดเตรียมการจำหน่ายแก่ลูกค้าในวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฏว่านาย ข กลับนำสินค้ามาส่งในวันที่ 4 มกราคม 2550 นาย ก จึงไม่ยอมรับสินค้าทั้งหมดไว้จำหน่าย
เพราะนาย ก เห็นว่า นาย ข ผิดนัด ทั้ง ส.ค.ส. ที่เอามาส่งก็ไม่สามารถจำหน่ายได้แล้วเนื่องจากล่วงพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่มาแล้ว ต่อมา นาย ก จึงฟ้องนาย ข เรียกค่าเสียหายจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
จากเงินต้นดังกล่าว นาย ข ต่อสู้ว่า นาย ก ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวนนั้น เพราะเป็นแต่เพียงผลกำไรที่คาดว่าจะได้จากการขาย ส.ค.ส. เท่านั้น นอกจากนั้นนาย ก ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ด้วย เพราะไม่เคยตกลงกันในเรื่องนี้
ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างและข้อต่อสู้ของทั้งสองคนฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร
วินิจฉัย
มาตรา 204 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย
มาตรา 216 ถ้าโดยเหตุผิดนัด การชำระหนี้กลายเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้และจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ก็ได้
มาตรา 222 วรรคสอง เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว
มาตรา 224 วรรคแรก หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
วินิจฉัย
นิติสัมพันธ์ระหว่างนาย ก กับนาย ข เป็นสัญญาซื้อขาย ซึ่งนาย ข ต้องส่งมอบหรือชำระหนี้แก่นาย ก ตามวันที่กำหนดในปฏิทิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง คือวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เมื่อปรากฏว่านาย ข ส่งมอบสินค้าเมื่อพ้นกำหนดตามที่ตกลงกัน จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และจะเห็นได้ว่าการชำระหนี้ในวันที่ 4 มกราคม 2550 ทำให้การชำระหนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่นาย ก ตามมาตรา 216 นาย ก มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับชำระหนี้ได้ และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนาย ข ได้ด้วย
ค่าเสียหายที่นาย ก เรียกจำนวน 50,000 บาทนั้น เป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษ ตามมาตรา 222 วรรคสอง ซึ่งนาย ข สามารถคาดเห็นได้อยู่แล้วว่า นาย ก จะได้กำไรจากการขาย ส.ค.ส. ดังกล่าวเพราะได้ติดต่อค้าขายกันมากับนาย ก เป็นประจำและหลายปี ดังนั้นนาย ข จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่ นาย ก แต่สำหรับดอกเบี้ยในเงินต้นดังกล่าวนั้น นาย ก สามารถเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก จะเรียกถึงร้อยละ 15 นั้นไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นาย ก กับ นาย ข ได้ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยได้เท่าถึงอัตราดังกล่าวตามมาตรา 224 วรรคแรก ตอนท้าย
ข้อ 2 นายดำกู้ยืมเงินจากนายแดงไป 2 ครั้ง ครั้งแรกทำสัญญากู้ยืมเงินวันที่ 1 กันยายน 2536 จำนวนเงิน 100,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงิน ครั้งที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงิน วันที่ 1 ธันวาคม 2539 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงินคืนเช่นกัน ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2547 นายแดงทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ทั้ง 2 ครั้ง ให้แก่นายขาวโดยนายแดงลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว
ในวันดังกล่าวนายดำได้ทำหนังสือยินยอมให้โอนสิทธิเรียกร้องให้นายขาวได้ โดยหนังสือยินยอมที่นายดำลงลายมือชื่อไม่ได้กล่าวถึงเรื่องอายุความไว้ด้วย ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 นายขาวยื่นฟ้องนายดำเป็นจำเลยขอให้บังคับนายดำชำระเงินกู้จำนวน 100,000 บาท และ 200,000 บาท แก่นายขาว นายดำยื่นคำให้การว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์
เพราะนายแดงลงลายมือชื่อในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องฝ่ายเดียว นายขาวยื่นฟ้องเกิน 10 ปีนับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ครั้ง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว หากท่านเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นท่านจะพิพากษายกฟ้องตามที่นายดำให้การ หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 193/29 เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 306 วรรคหนึ่ง การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ
มาตรา 308 วรรคหนึ่ง ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา 306 โดยมิได้อิดเอื้อน ท่านว่าจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่
วินิจฉัย
นายแดงโอนสิทธิเรียกร้องให้นายขาวทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือ แม้จะลงลายมือชื่อนายแดงผู้โอนสิทธิเรียกร้องเพียงฝ่ายเดียว ก็สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง นายขาวจึงมีอำนาจฟ้อง
นายขาวยื่นฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 พ้น 10 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงิน ทั้ง 2 ครั้ง คดีจึงขาดอายุความตามมาตรา 193/30 แต่ศาลจะยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ เว้นแต่จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้ตามมาตรา 193/29 เมื่อนายขาวยื่นฟ้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง นายดำลูกหนี้ย่อมมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของตนที่มีอยู่ขึ้นต่อสู้นายขาวได้ ปรากฏว่านายดำมีหนังสือยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้อง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547 ซึ่งขณะนั้นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครั้งที่ 1 ขาดอายุความแล้ว แต่นายดำมิได้อิดเอื้อนเรื่องคดีขาดอายุความไว้ นายดำจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้นายขาวได้ตามมาตรา 308 ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ขณะที่นายดำให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้อง ยังไม่ขาดอายุความ นายดำจึงไม่ต้องอิดเอื้อนไว้และสามารถนำกำหนดระยะเวลาที่ล่วงไปแล้วมารวมเข้ากับระยะเวลาหลังจากที่โอนสิทธิเรียกร้องได้นายดำจึงยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ เมื่อนายดำให้การว่าคดีขาดอายุความ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้
หากข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น จะพิพากษายกฟ้องเฉพาะหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครั้งที่ 2 จำนวน 200,000 บาท
ข้อ 3 จันทร์กู้เงินของอังคารไปหนึ่งล้านบาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงเดียวที่มีอยู่เป็นประกันเงินกู้กับอังคาร ที่ดินแปลงนี้ราคาประมาณหนึ่งล้านบาท นอกจากที่ดินแปลงนี้แล้วจันทร์มีสิทธิเป็นเจ้าหนี้พุธในมูลหนี้ซื้อขายอยู่ห้าแสนบาท ซึ่งหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว
ส่วนทรัพย์สินอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี ต่อมาปรากฏว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ดินแปลงดังกล่าวตกเหลือราคาประมาณห้าแสนบาท อังคารพยายามบอกกล่าวให้จันทร์ใช้สิทธิเรียกร้องให้พุธชำระหนี้ แต่จันทร์ก็ละเลยเพิกเฉยเสีย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าอังคารจะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของจันทร์ลูกหนี้ในกรณีดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 214 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย
มาตรา 233 ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้
มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหาเรื่องจำนอง เมื่อไม่มีข้อตกลงรับผิดชดใช้เงินที่ขาดเมื่อบังคับจำนอง หากเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้อีก (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 และมาตรา 733) อังคาร (เจ้าหนี้) จึงไม่มีสิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินอย่างอื่นของจันทร์โดยการใช้สิทธิเรียกร้องของจันทร์ เพราะการละเลยเพิกเฉยไม่เรียกให้พุธชำระหนี้ไม่เป็นการเสียประโยชน์แก่อังคาร (เจ้าหนี้) กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 233 อังคารใช้สิทธิเรียกร้องของจันทร์ไม่ได้
ข้อ 4 ก ข ค เป็นลูกหนี้ร่วมกู้เงินของ ง 3,000 บาท โดยตกลงระหว่างกันเองให้แต่ละคนได้เงินกู้ไป 1,000 บาท ต่อมาปรากฏว่า ง ตาย แต่ ง ได้ทำพินัยกรรมยกสิทธิเรียกร้องในเงินกู้รายนี้ให้แก่ ก ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ก จะเรียกให้ ข และ ค ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 295 ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง
ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว การผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน
มาตรา 353 ถ้าสิทธิ และความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป
วินิจฉัย
ก เป็นผู้รับพินัยกรรมของ ง กรณีจึงเกิดหนี้เกลื่อนกลืนในตัว ก และกฎหมายบัญญัติให้หนี้เกลื่อนกลืนกันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ก ผู้เดียว ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นๆ ข และ ค จึงหาได้รับผลด้วยไม่ ก จึงคงใช้สิทธิเรียกให้ ข และ ค ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ก ได้ เฉพาะส่วนที่เหลือทำนองเดียวกับการปลดหนี้ กล่าวคือ ก สามารถเรียกให้ ข และ ค ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ให้ ก ได้ เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคแรก และวรรคสอง ประกอบมาตรา 353