การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ก และ ข เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่ง ก ทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนของตนให้กับ ค แล้วเรียกบังคับให้ ข ผู้เก็บรักษาส่งมอบโฉนดที่ดินให้ตนเพื่อไปทำนิติกรรมโอนที่ดินให้ผู้ซื้อต่อไป ข อ้างว่า ตนได้นำโฉนดที่ดินไปประกันหนี้เงินกู้ของตนไว้ไม่อาจส่งมอบให้ ก ได้ แต่การโอนที่ดินนั้น “วัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรม” ก สามารถร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้อยู่แล้ว ตนไม่จำเป็นจะต้องส่งมอบโฉนดให้ ก ข้ออ้างของ ข ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่ ก หรือไม่ เห็นว่า ก และ ข เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่ง แต่ละคนย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆและเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนก็ได้ (มาตรา 1361 วรรคแรก) การที่ ข นำโฉนดที่ดินไปให้บุคคลอื่นยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ เป็นเหตุให้ ก ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของ ก ให้กับ ค ตามสัญญาจะซื้อขาย ย่อมขัดต่อสิทธิของ ก เช่นนี้ ข ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่ ก และหากโฉนดที่ดินอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น ข ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการนำโฉนดที่ดินคืนมาเพื่อส่งมอบแก่ ก จนได้ตามมาตรา 213 วรรคแรก กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้
ส่วนที่ ข อ้างว่าในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนให้แก่ ค นั้น ก สามารถขอให้ศาลสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ ข ได้ โดย ก ไม่ต้องขอให้ ข ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่ ก นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 213 วรรคสอง การที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้ก็เฉพาะกรณีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่กรณีนี้ ก เรียกให้ ข ส่งมอบโฉนดที่ดิน วัตถุแห่งหนี้จึงเป็นการส่งมอบทรัพย์สินมิใช่เป็นการให้ทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้
ดังนั้น ข้ออ้างของ ข ที่ว่า ตนไม่จำเป็นจะต้องส่งมอบโฉนดที่ดินให้กับ ก และ ก สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ ข ได้นั้น จึงฟังไม่ขึ้น ข ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินให้กับ ก (ฎ. 4920/2547)
สรุป ข้ออ้างของ ข ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 แดงกู้เงินธนาคารสี่ล้านบาทโดยมีดำ ขาว เหลือง และเขียว เป็นผู้ค้ำประกัน ขาวผู้เดียวเป็นผู้ชำระหนี้แทนแดงทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมสี่ล้านสี่แสนบาท ขาวจะเรียกให้ใครรับผิดได้หรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 226 วรรคแรก บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
มาตรา 229 การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น
มาตรา 296 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่นๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป
มาตรา 682 วรรคสอง ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
มาตรา 693 ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆเพราะการค้ำประกันนั้น
อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดำ ขาว เหลือง และเขียว เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ธนาคาร 4 ล้านบาท ที่มีแดงเป็นลูกหนี้ ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 296 กำหนดว่า ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ต่างตนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมกันแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้ (มาตรา 291)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขาวผู้ค้ำประกันคนหนึ่งเข้าชำระหนี้แทนแดงทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวม 4 ล้าน 4 แสนบาท ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า เมื่อขาวชำระหนี้ไปแล้ว ขาวจะเรียกให้ใครรับผิดได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า
1 เมื่อขาวผู้ค้ำประกันคนหนึ่งเข้าชำระหนี้แล้ว ขาวย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยได้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าเสียหายจากการค้ำประกันได้ทั้งหมดจากแดงลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา 693 วรรคแรก และ
2 ขาวผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้โดยอำนาจของกฎหมาย ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีความผูกพันเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229(3) ประกอบมาตรา 226 วรรคแรก ไปไล่เบี้ยเอากับผู้ค้ำประกันอื่นๆได้ทุกคนตามมาตรา 693 วรรคสอง ทั้งนี้ตามสัดส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกันแต่ละคนตามมาตรา 296 กล่าวคือ ไล่เบี้ยเอากับดำ เหลือง และเขียวได้คนละ 1 ล้าน 1 แสนบาท (ฎ. 4574/2536)
สรุป ขาวจะเรียกให้แดงลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งหมด 4 ล้าน 4 แสนบาทตามมาตรา 693 วรรคแรก หรือจะเรียกให้ดำ เหลือง และเขียวผู้ค้ำประกันร่วมคนอื่นๆรับผิดคนละ 1 ล้าน 1 แสนบาทก็ได้ตามมาตรา 229(3) ประกอบมาตรา 226 วรรคแรก และมาตรา 693 วรรคสอง ประกอบมาตรา 296
ข้อ 3 จันทร์ได้ยกที่ดิน 1 แปลงให้แก่อังคารโดยเสน่หาถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาอังคารได้ประพฤติตนเนรคุณโดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรง จันทร์จึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้ แต่ปรากฏว่าก่อนที่อังคารจะได้ประพฤติเนรคุณและก่อนที่จันทร์จะได้ทราบเหตุเนรคุณดังกล่าว อังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นให้แก่พุธ โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน และพุธรับไว้โดยสุจริต ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีวิธีใดตามบรรพ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ควรนำมาใช้กับเรื่องนี้ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ มาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เหมาะสมที่สุด คือ การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 สำหรับหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลดังกล่าว ประกอบด้วย
1 ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล หมายถึง นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งก็คือ นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง
2 ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ
3 นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้) ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้ (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)
4 หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้ (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)
5 การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น
ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ผู้ที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จะต้องอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ในขณะทำนิติกรรม ถ้าในขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรม ผู้ขอให้เพิกถอนยังไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ จะฟ้องขอให้เพิกถอนตามมาตรา 237 ไม่ได้
สำหรับกรณีนี้ แม้อังคารจะประพฤติเนรคุณโดยหมิ่นประมาทจันทร์ผู้ให้อย่างร้ายแรงซึ่งจันทร์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้จากอังคารได้ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าอังคารได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่พุธก่อนที่จะมีการประพฤติเนรคุณและก่อนที่จันทร์จะได้ทราบเหตุเนรคุณดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 237 วรรคแรก เพราะขณะอังคารยกที่ดินให้พุธอันเป็นการให้โดยเสน่หา จันทร์ยังไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้และยังไม่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทั้งนี้เนื่องจากในเรื่องการให้โดยเสน่หา เมื่อผู้รับประพฤติเนรคุณ ผู้ให้ชอบที่จะเพิกถอนการให้ได้นับแต่วันที่ทราบเหตุเนรคุณ และนับแต่นั้นจึงจะถือว่าผู้ให้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ (ฎ. 1514 –1515/2516) ดังนั้นจันทร์จึงไม่อาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างอังคารกับพุธได้
กรณีจึงไม่มีวิธีใดตามบรรพ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะนำมาใช้เป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของอังคารได้
สรุป ไม่มีวิธีใดตามบรรพ 2 ที่จะเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้
ข้อ 4 หนึ่งเป็นเจ้าหนี้และสองเป็นลูกหนี้ ในหนี้เงิน 200,000 บาท โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้ ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ สอง (ลูกหนี้) ผิดนัด แต่ต่อมาปรากฏว่าสามเพียงคนเดียวได้เอาแหวนเพชรตีใช้หนี้แทนเงิน 200,000 บาท ให้แก่หนึ่ง ซึ่งหนึ่งยอมรับเอาไว้ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า สี่ยังคงต้องรับผิดต่อหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 292 วรรคแรก การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย
มาตรา 321 วรรคแรก ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
มาตรา 682 วรรคสอง ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สามและสี่เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงิน 200,000 บาท ที่มีสองเป็นลูกหนี้ ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นทุกคนจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 296 กำหนดว่า ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมกันแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้ (มาตรา 291)
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สามผู้ค้ำประกันร่วมคนหนึ่งได้เอาแหวนเพชรตีใช้หนี้แทนเงิน 200,000 บาท ให้แก่หนึ่ง ซึ่งหนึ่งยอมรับเอาไว้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่สามลูกหนี้ร่วมทำการอันพึงกระทำแทนการชำระหนี้ตามมาตรา 292 วรรคแรก ซึ่งก็หมายถึง การที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 321 วรรคแรกนั่นเอง การที่สามลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้และเจ้าหนี้ก็ยอมรับย่อมมีผลให้หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป การระงับแห่งหนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่สี่ลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วย ตามมาตรา 292 วรรคแรก สี่จึงไม่ต้องรับผิดต่อหนึ่งอีกต่อไป
สรุป สี่ไม่ต้องรับผิดต่อหนึ่งอีกต่อไป เพราะการชำระหนี้ของสามมีผลให้หนี้ระงับไปถึงสี่ด้วย