การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  บริษัท  เอ  จำกัด  ในประเทศเยอรมัน  ได้ส่งสินค้ามาขายให้บริษัท  ก  จำกัด  ในประเทศไทย  ตามที่บริษัท  ก  จำกัด  สั่งซื้อ  คิดเป้นราคารวม  100,000  มาร์คเยอรมัน  กำหนดชำระราคาด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท  เอ  จำกัด  ในประเทศเยอรมัน

ต่อมาระหว่างที่กำหนดเวลาชำระค่าสินค้ายังไม่ถึงกำหนด  ปรากฏว่าประเทศเยอรมันได้ประกาศยกเลิกเงินสกุลมาร์คเยอรมันของตน  และใช้เงินสกุลยูโรแทน  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  ปรากฏว่า  บริษัท  ก  จำกัด  ผิดนัด  ไม่ชำระราคาสินค้าตามที่ตกลงกัน  บริษัท  เอ  จำกัด  จึงมายื่นฟ้องเรียกค่าสินค้าในศาลไทย  บริษัท  ก  จำกัด  ต่อสู้คดีอ้างว่า  เนื่องจากไม่มีสกุลเงินมาร์คเยอรมันอยู่ในสารบบสกุลเงินของโลกแล้ว

จึงถือได้ว่า  การชำระหนี้เงินค่าสินค้าเป็นพ้นวิสัย  โดยไม่ใช่ความรับผิดชอบของตน  บริษัท  ก  จำกัด  จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าอีกต่อไป  และบริษัท  เอ  จำกัด  ต้องฟ้องร้องรัฐบาลเยอรมันที่เป็นผู้ประกาศยกเลิกสกุลเงินมาร์ค  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ก จำกัด  รับฟังได้หรือไม่  เพียงใด  และเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  197  ถ้าหนี้เงินจะพึงส่งใช้ด้วยเงินตราชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเฉพาะ  อันเป็นชนิดที่ยกเลิกไม่ใช้กันแล้วในเวลาที่จะต้องส่งเงินใช้หนี้ไซร้  การส่งใช้เงินท่านว่าให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดนั้น

มาตรา  219  วรรคแรก  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

วินิจฉัย

ในกรณีที่เป็นหนี้เงินซึ่งเงินตราชนิดนั้นยกเลิกไม่ใช้กันแล้ว  ในเวลาที่จะต้องส่งเงิน  กฎหมายให้ถือเสมือนว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น  ดังนั้นลูกหนี้จึงยังต้องส่งใช้เงินชนิดที่ยังใช้อยู่ต่อไป   เพราะไม่เป็นเหตุระงับแห่งหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ก  จำกัด  รับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  หนี้ค่าสินค้าของบริษัท  ก  จำกัด ในคดีนี้เป็นหนี้เงินตราต่างประเทศสกุลมาร์คเยอรมัน  อันเป็นเงินตราของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปที่มีการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเวลาใช้เงินจริง  เงินมาร์คเยอรมันเป็นเงินตราที่ยกเลิกไม่ใช้แล้ว  กรณีเช่นนี้บทบัญญัติมาตรา  197  ให้ถือเสมือนว่าคู่สัญญามิได้ตกลงระบุให้ใช้เงินมาร์คเยอรมันที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น  และเมื่อมีการใช้เงินสกุลยูโรแทนเงินมาร์คเยอรมัน  บริษัท  ก  จำกัดต้องชำระหนี้ค่าสินค้าด้วยเงินยูโรซึ่งเป็นเงินสกุลที่ใช้แทนเงินมาร์คเยอรมันที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้ต้นเงินมาร์คเยอรมัน  พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด  ทั้งนี้  โดยการคำนวณเปลี่ยนจำนวนหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่เป็นเงินมาร์คเยอรมันเป็นเงินยูโรนั้นด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงิน  ณ  วันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินมาร์คเยอรมันเป็นเงินสกุลยูโรสามารถแลกเปลี่ยนได้ในขณะหรือก่อนเวลาใช้เงินจริง  (ฎ. 568/2548ฎ. 583/2548)

ดังนั้นข้อต่อสู้ของบริษัท  ก  จำกัดที่ว่าไม่มีเงินสกุลมาร์คเยอรมันอยู่ในสารบบเงินของโลกแล้ว  จึงถือได้ว่าการชำระหนี้เงินค่าสินค้าเป็นพ้นวิสัยโดยไม่ใช่ความผิดของตนตามมาตรา  219  วรรคแรก  บริษัท  ก  จำกัด  จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าอีกต่อไปจึงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการชำระหนี้ด้วยเงินนั้นไม่ใช่การชำระหนี้  โอน  หรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ทั้งกฎหมายก็ได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดแล้วโดยให้ถือว่ามิได้ระบุไว้ให้ใช้เป็นเงินตราชนิดที่ถูกยกเลิกไปแล้ว  บริษัท  ก  จำกัดลูกหนี้จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  219  วรรคแรก  บริษัท  เอ  จำกัด  สามารถฟ้องบริษัท ก  จำกัดให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ก  จำกัด  รับฟังไม่ได้

 

 

ข้อ  2  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2551  นายเอก  ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจากนายโท  100,000  บาท  โดยนายโทตกลงไม่คิดดอกเบี้ย  กำหนดชำระเงินกู้คืนในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ต่อมาเมื่อถึงวันกำหนดชำระหนี้ดังกล่าว  นายเอกได้นำเงินไปชำระให้แก่นายโทที่บ้านของนายโท  แต่นายโทคิดในใจว่า  อยากจะได้ดอกเบี้ยจากนายเอกบ้าง

เพราะได้กำไรดีกว่าเมื่อเอาไปฝากไว้กับธนาคาร  จึงไม่ยอมรับเงินไว้  แล้วอ้างว่าจะต้องรีบออกไปธุระต่างจังหวัด  นายเอกจึงไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้แก่นายโท  ต่อมานายโทเห็นว่านายเอกหายหน้าไปตั้งแต่วันนั้น  ดังนั้นในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2552  นายโทจึงรีบยื่นฟ้องคดีต่อศาลเรียกเงินกู้กับดอกเบี้ยร้อยละ  15  ต่อปี  นับแต่วันที่  1  มกราคม  2551

ถึงวันฟ้องนายเอกให้การต่อสู้ว่านายโทเป็นฝ่ายผิดนัดและสัญญากู้ไม่ได้ตกลงให้คิดดอกเบี้ย  นายโทจึงเรียกดอกเบี้ยจากตนไม่ได้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่านายเอกต้องชำระหนี้เงินกู้คืนนายโทพร้อมดอกเบี้ยตามที่ขอด้วยหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  หนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายเอกและนายโทตกลงกันไม่มีการคิดดอกเบี้ย  นายโทเจ้าหนี้จึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยในหนี้เงินโดยอาศัยสัญญากู้ยืมได้  และหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินตามมาตรา  204  วรรคสอง  นายเอกจึงต้องชำระหนี้ตามวันที่กำหนด  คือ  วันที่  1  ตุลาคม  2551  แต่เนื่องจากเมื่อนายเอกนำเงินต้นไปชำระครบถ้วนตามกำหนดที่ภูมิลำเนาของนายโทเจ้าหนี้อันถือว่าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว  การที่นายโทเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้โดยอ้างว่าจะต้องรีบออกไปธุระต่างจังหวัดเพราะอยากได้ดอกเบี้ยจากนายเอกเนื่องจากเห็นว่าได้กำไรดีกว่าเอาไปฝากไว้กับธนาคาร  ถือได้ว่าเป็นข้ออ้างที่ปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  นายโทเจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207 

โดยที่หนี้ระหว่างนายเอกและนายโทเป็นหนี้เงิน  ซึ่งตามปกติถ้าลูกหนี้ผิดนัด  ลูกหนี้ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีตามมาตรา  224  วรรคแรก  แต่กรณีนี้เมื่อถือว่านายโทเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดเสียเอง  โดยลูกหนี้คือ  นายเอกมิได้เป็นฝ่ายผิดนัด  ผลจึงต้องบังคับตามมาตรา  221  คือ  หนี้เงินอันจะต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดไม่ได้  เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันที่  1  ตุลาคม  2551  ซึ่งเป็นวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระและนายโทเจ้าหนี้ผิดนัดจนถึงวันฟ้อง  นายโทจะคิดดอกเบี้ยจากนายเอกไม่ได้  ทั้งจะเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่กู้คือวันที่  1  ตุลาคม  2551  ก็ไม่ได้  เนื่องจากไม่ได้ตกลงกันคิดดอกเบี้ยกันมาตั้งแต่ต้น

สรุป  นายเอกต้องชำระหนี้เงินต้นแก่นายโท  แต่ไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามที่นายโทเรียกร้อง    

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้และอังคารเป็นลูกหนี้ในหนี้เงิน  100,000  บาท  โดยมีพุธและพฤหัสเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  อังคาร  (ลูกหนี้  ผิดนัด  จันทร์จึงเรียกให้พุธผู้ค้ำประกันชำระหนี้  พุธนำเงิน  100,000  บาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ  แต่ปรากฏว่าจันทร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

พุธจึงนำเงิน  100,000  บาทนั้นไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่จันทร์  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  พฤหัสยังต้องรับผิดต่อจันทร์ในหนี้รายดังกล่าวนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  292  วรรคแรก  การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น  ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ  อันพึงกระทำแทนชำระหนี้  วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย

มาตรา  331  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดีหรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี  หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว  ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ  หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่ความผิดของตน

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่พุธและพฤหัสเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้  1  แสนบาท  ที่มีอังคารเป็นลูกหนี้  ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา  682  วรรคสอง  ซึ่งตามมาตรา  296  ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น  ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง  ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมกันแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้  (มาตรา  291)

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  อังคาร  (ลูกหนี้)  ตกเป็นผู้ผิด  จันทร์จึงเรียกให้พุธผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน  (มาตรา  680  ประกอบมาตรา  686)  การที่พุธชำระหนี้โดยนำเงิน  1  แสนบาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ  แต่ปรากฏว่าจันทร์เจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  กรณีเช่นนี้ถือว่าจันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207  พุธมีสิทธิวางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา  331  ซึ่งผลแห่งการนี้ทำให้พุธหลุดพ้นจากหนี้นั้นไป 

เมื่อพุธและพฤหัสอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  การที่พุธลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้นั้น  ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้นกรณีนี้พฤหัสย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นไปด้วย  กล่าวคือ  พฤหัสไม่ต้องรับผิดต่อจันทร์เจ้าหนี้ในหนี้รายดังกล่าวนี้ตามมาตรา  292  วรรคแรก

สรุป  พฤหัสไม่ต้องรับผิดต่อจันทร์ในหนี้รายดังกล่าวนี้

 

 

ข้อ  4  หนึ่งเป็นเจ้าหนี้สอง  90,000  บาท  ต่อมาหนึ่งได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายดังกล่าวนี้ให้แก่สามในวันที่  10  มกราคม  2552  ปรากฏว่าในวันที่  20  มกราคม  2552  สองได้เอาสร้อยคอทองคำตีใช้หนี้แทนเงิน  90,000  บาท  ให้แก่หนึ่ง  ซึ่งหนึ่งยอมรับเอาไว้  หลังจากนั้นในวันที่  30  มกราคม  2552  สองได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้นจากสาม  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  สามจะมีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีกหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  306  วรรคสอง  ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน  หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว  หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้  ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

มาตรา  321  วรรคแรก  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

ตามมาตรา  306  วรรคสองดังกล่าวนั้น  หมายความว่า  ถ้าก่อนลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวหรือก่อนลูกหนี้ได้ตกลงด้วยในการโอนสิทธิเรียกร้อง  ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ผู้โอนไปแล้วหรือกระทำประการใดจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้  เช่น  นำทรัพย์สินไปตีใช้หนี้ให้เจ้าหนี้  หนี้เป็นอันระงับไปแล้ว  ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นความรับผิด  ผู้รับโอนจะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกไม่ได้  แต่ถ้าภายหลังได้รับคำบอกกล่าวการโอนหรือภายหลังที่ลูกหนี้ยินยอมด้วยแล้ว  ถือว่าเจ้าหนี้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แล้ว  ถ้าลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้  หนี้ไม่ระงับผู้รับโอนเรียกให้ชำระหนี้ได้อีก

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  สามจะมีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีกหรือไม่  เห็นว่า  ก่อนที่สองลูกหนี้จะได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา  306  วรรคแรก  สองได้เอาสร้อยคอทองคำตีใช้หนี้แก่หนึ่งผู้โอนไปแล้ว  กรณีเช่นนี้จึงเป็นการที่สองลูกหนี้ทำให้พอใจแก่หนึ่งผู้โอนด้วยการชำระหนี้ด้วยประการอื่นและเจ้าหนี้ยอมรับตามมาตรา  321  วรรคแรก  หนี้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นอันระงับไป  สองลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้  ดังนั้น  สองลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้ให้สามอีกตามมาตรา  306  วรรคสอง  สามไม่มีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีก

สรุป   สามไม่มีสิทธิเรียกให้สองชำระหนี้อีก

Advertisement