การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามทำสัญญาเช่าอาคารตึกแถวสามชั้น  เนื้อที่สามร้อยตารางเมตรจากนายสิบโดยมิได้แบ่งแยกว่าคนใดเช่าส่วนใดของอาคาร  ต่อมา  นายหนึ่งนำอาคารพิพาทบางส่วนไปให้นายเก้าเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายสิบ  ซึ่งเป็นการผิดสัญญาเช่า  นายสิบจึงบอกเลิกสัญญาเช่าต่อนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  และฟ้องขับไล่ทั้งสามคนออกจากอาคารที่เช่า

นายหนึ่งให้การยอมรับว่าให้เช่าช่วงไปจริง  ส่วนนายสองและนายสามต่อสู้ว่า  นายสิบไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่  เพราะนายสองกับนายสามไม่ได้มีส่วนทำผิดสัญญาอันเป็นการกระทำของนายหนึ่งคนเดียว  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายสองกับนายสามฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  295  วรรคแรกนั้น  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทจากนายสิบโดยที่ไม่สามารถแบ่งแบกได้ว่าใครเช่าส่วนใดของพื้นที่อาคารพิพาทนั้น  ถือได้ว่านายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามเป็นผู้เช่าร่วมกัน  และเป็นลูกหนี้ร่วมตามมาตรา  291

ตามข้อเท็จจริง  แม้นายหนึ่งคนเดียวเป็นผู้ให้นายเก้าเช่าช่วงอาคารพิพาทบางส่วนไปโดยมิชอบซึ่งตามมาตรา  295  นั้น  ถือว่าเป็นข้อความจริงอื่นใด  นอกเหนือจากข้อความจริงที่ระบุไว้ในมาตรา  292  293  และ  294  ที่ท้าวถึงแล้วเป็นโทษแก่เฉพาะนายหนึ่ง  อันเป็นความผิดของนายหนึ่งผู้เดียวตามมาตรา  295  วรรคสองก็ตาม  แต่เมื่อการเช่ารายนี้มีสภาพแห่งหนี้ที่มีลักษณะไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าใครเช่าพื้นที่ส่วนใดของอาคารพิพาท  จึงเป็นกรณีที่ข้อความจริงดังกล่าวขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง  จึงย่อมถือได้ว่านายสองและนายสามเป็นผู้ผิดสัญญาเช่าด้วยตามมาตรา  295  วรรคแรกตอนท้าย  นายสิบจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ทั้งนายหนึ่งนายสองและนายสามได้  (ฎ. 9544/2539)

ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายสองและนายสามที่ว่านายสิบไม่มีสิทธิเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่  เพราะนายสองกับนายสามไม่ได้มีส่วนทำผิดสัญญาจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายสองและนายสามรับฟังไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายเอก  ทำสัญญากู้เงิน  50,000  บาท  จากนายสิน  และได้มอบนาฬิกาของตนให้นายสินไว้เป็นการจำนำ  ต่อมา  นายสินได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินดังกล่าวแก่นายสองเจ้าหนี้ของตน  โดยได้ส่งมอบนาฬิกาที่รับจำนำไว้นั้นแก่นายสองด้วย แล้วทั้งนายสินและนายสองได้ร่วมกันทำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังนายเอกเพื่อทราบ  ต่อมา  นายเอกผิดนัดชำระหนี้เงินกู้

นายสองจึงฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากนายเอกและขอบังคับจำนำ  แต่นายเอกต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากตนเอง  จึงไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้  นายสองไม่มีอำนาจฟ้อง  ทั้งการจำนำก็ไม่ได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่างตนเองกับนายสอง  การจำนำระงับสิ้นไปแล้ว  นายสองจึงไม่มีสิทธิบังคับจำนำ  ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเอกฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  305  วรรคแรก  เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป  สิทธิจำนองหรือจำนำที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี  สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี  ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย

มาตรา  306  วรรคแรก  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าไม่สมบูรณ์  อนึ่งการโอนหนี้นั้น  ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้  หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น  คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้  ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

วินิจฉัย

ในเรื่องการดอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา  306  วรรคแรกนั้น  กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องกันเป็นหนังสือแล้วคู่สัญญาก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือยินยอมด้วย  หรือเพียงแต่บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือไปให้ลูกหนี้ทราบก็ได้  ซึ่งการโอนนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสินได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ระหว่างตนกับนายเอกให้กับนายสอง  และทั้งนายสินและนายสองได้ร่วมกันทำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังนายเอกลูกหนี้เพื่อให้ทราบแล้วนั้น  แม้นายเอกจะมิได้ยินยอมด้วย การโอนดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์และเป็นการโอนที่ชอบด้วยมาตรา  306  วรรคแรกแล้ว  เมื่อนายเอกผิดนัดชำระหนี้เงินกู้  นายสองย่อมสามารถฟ้องเรียกหนี้เงินกู้จากนายเอกได้

ส่วนกรณีการจำนำนาฬิกานั้นตามมาตรา  305  วรรคแรก  ได้บัญญัติไว้ว่า  เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องไป  ให้การจำนำนั้นตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการโอนสิทธิเรียกร้อง  และส่งมอบนาฬิกาต่อไปยังนายสองผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว  นายสองจึงเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ที่มีสิทธิตามสัญญาจำนำนั้นด้วย  จึงสามารถบังคับจำนำนาฬิกานั้นได้

ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายเอกที่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากตนเอง  จึงไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้  นายสองไม่มีอำนาจฟ้อง  และที่ว่าการจำนำไม่ได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่างตนกับนายสอง  การจำนำระงับสิ้นไปแล้ว  นายสองจึงไม่มีสิทธิบังคับจำนำนั้น  จึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเอกทั้งสองกรณีรับฟังไม่ได้ 

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารห้าหมื่นบาท  และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธห้าหมื่นบาท  ต่อมาพุธได้เป็นเจ้าหนี้อังคารในมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อห้าหมื่นบาทเช่นกัน  หนี้ทุกรายทั้งหมดนี้ต่างถึงกำหนดชำระพร้อมกัน  ในวันที่  20  มกราคม  2554  ต่อมาปรากฏว่า  ในวันที่  30 มกราคม  2554  จันทร์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธ  โดยอ้างว่าเป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามมาตรา  233  ป.พ.พ. พุธจึงยื่นคำให้การต่อสู้คดีที่จันทร์เป็นโจทก์ฟ้อง

โดยขอหักลบกลบหนี้กับหนี้ที่อังคารเป็นลูกหนี้ค่าซื้อของเชื่อพุธอยู่ด้วย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของพุธฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา  236  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ  ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น  เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  หากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน  จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้  (มาตรา  233)  แต่หากจำเลยที่ถูกเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้นมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่  ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้  เว้นแต่ข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้วตามมาตรา  236

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนี้ทุกรายถึงกำหนดชำระ  และต่อมาจันทร์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธ  โดยอ้างว่าเป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามมาตรา  233  นั้น  โดยหลักจันทร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของอังคารสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  พุธก็ได้เป็นเจ้าหนี้อังคารในมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อจำนวนห้าหมื่นบาทอยู่ด้วย  ซึ่งถือเป็นข้อต่อสู้ที่เกิดขึ้นก่อนจันทร์ยื่นฟ้อง  พุธจึงสามารถยกข้อต่อสู้ที่ตนมีอยู่กับอังคาร  (ลูกหนี้เดิม)  ดังกล่าว  ขึ้นเป็นข้อต่อสู้จันทร์  (เจ้าหนี้)  ผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา  236  ดังนั้นคำให้การต่อสู้คดีของพุธที่ขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่อังคารเป็นลูกหนี้ค่าซื้อของเชื่อพุธนั้นจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของพุธฟังขึ้น

 

 

ข้อ  4  เสาร์และอาทิตย์เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง  ต่อมา  เสาร์และอาทิตย์ร่วมกันทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ศุกร์ในราคาห้าแสนบาท  ครั้นถึงกำหนดชำระราคาค่าซื้อ  ศุกร์ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบต่อเสาร์  แต่เสาร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุ  อันจะอ้างกฎหมายได้  ศุกร์จึงนำเงินห้าแสนบาทนั้นไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การวางทรัพย์ในกรณีดังกล่าวนี้  มีผลต่ออาทิตย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  292  วรรคแรก  การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น  ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ  อันพึงกระทำแทนชำระหนี้  วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย

มาตรา  299  วรรคสาม  นอกจากนี้  ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา  292, 293  และ  295   มาใช้บังคับโดยอนุโลม  กล่าวโดยเฉพาะก็คือ  แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

มาตรา  331  ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดีหรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี  หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว  ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ  หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่ความผิดของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เสาร์และอาทิตย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง  ได้ร่วมกันทำสัญญาขายรถยนต์คันนั้นให้กับศุกร์  ทั้งเสาร์และอาทิตย์จึงถือเป็นเจ้าหนี้ร่วมในค่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว

ตามข้อเท็จจริง  การที่ศุกร์ไปขอชำระหนี้ต่อเสาร์โดยชอบ  แต่เสาร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้  โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้นั้น  เสาร์เจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207  และย่อมเป็นโทษแก่อาทิตย์เจ้าหนี้ร่วมด้วย

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ศุกร์ได้นำเงินค่าซื้อรถยนต์  5  แสนบาทไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  จึงถือเป็นการวางทรัพย์สินแทนการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา  331  ดังนั้น  การวางทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงมีผลต่ออาทิตย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมกันด้วยตามมาตรา  299  วรรคสาม  ประกอบมาตรา  292  วรรคแรก  มาตรา  207  และมาตรา  331

สรุป  การวางทรัพย์กรณีดังกล่าวมีผลต่ออาทิตย์ด้วย

Advertisement