ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ก กู้เงิน ข ห้าแสนบาท มีกำหนดเวลาสามปี โดยจำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้นี้ไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากกู้ไปได้เพียงหกเดือน ก ถึงแก่ความตาย ข เห็นว่าตามสัญญาสิทธิเรียกร้องยังไม่ถึงกำหนดจึงไม่ได้เรียกไม่ได้บังคับชำระหนี้ เมื่อครบกำหนด ข ก็มาเรียกมาบังคับเอากับ ค ทายาทของ ก ค ต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความ ตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ข้อต่อสู้ของ ค ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/9 สิทธิเรียกร้องใดๆถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ
มาตรา 193/10 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
มาตรา 1754 วรรคสาม ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้หนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 1754 วรรคสาม ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม มิฉะนั้นสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก กู้เงิน ข โดยมีกำหนดเวลา 3 ปี และหลังจากกู้ไปได้เพียง 6 เดือน ก ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย ซึ่ง ข เจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของ ก ลูกหนี้ ดังนี้ แม้ว่าหนี้เงินกู้ระหว่าง ก กับ ข จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งปกติแล้วเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้ตามมาตรา 203 วรรคสอง แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องลูกหนี้ตายก่อนกำหนด และสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่า 1 ปี (มาตรา 193(30)) ดังนั้น เจ้าหนี้จึงต้องฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ตาย ตามมาตรา 1754 วรรคสาม เมื่อ ข ไม่ได้ฟ้องบังคับให้ ค ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ ก ลูกหนี้ตาย หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงขาดอายุความ (ตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/12) ค จึงมีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ที่ขาดอายุความนั้นได้ (ตามมาตรา 193/10) ดังนั้น ข้อต่อสู้ของ ค ที่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 1754 วรรคสาม กฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 193/27 ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่ ก กู้เงิน ข นั้น ก ได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนี้ไว้ ดังนั้น แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่บทบัญญัติมาตรา 193/27 ก็ยังให้สิทธิแก่ ข เจ้าหนี้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินของ ก ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตนรับจำนองไว้ได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของ ก และจะใช้สิทธินั้นบังคับให้ ค ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้ ดังนั้น ข้อต่อสู้ของ ค ที่ว่า ตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ จึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของ ค ที่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขาดอายุความนั้นฟังขึ้น แต่ข้อต่อสู้ที่ว่าตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 ดำมีหน้าที่ขับรถส่งของให้แดงนายจ้าง ขณะส่งของดำขับรถด้วยความเร็วสูง ช่วงทางโค้งดำควบคุมรถไม่ได้ รถวิ่งล้ำเลยกึ่งกลางถนน เฉี่ยวชนกับรถหกล้อที่ขาวขับสวนมา ตามบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนดำขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ และบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานเกี่ยวกับคดีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างดำกับขาวซึ่งทั้งคู่รู้จักสนิทสนมกัน
มีความว่า “ค่าเสียหายในการนี้คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้ และจะนำไปซ่อมกันเอง” เมื่อผู้รับประกันภัยรถหกล้อที่ขาวขับได้นำรถคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม เสียค่าซ่อมไปหกหมื่นบาท ผู้รับประกันภัยจะมาเรียกจากดำและแดงได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 224 วรรคแรก หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
มาตรา 226 วรรคแรก บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
มาตรา 227 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆด้วยอำนาจกฎหมาย
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
มาตรา 880 วรรคแรก ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดำขับรถส่งของโดยประมาท เฉี่ยวชนกับรถหกล้อที่ขาวขับสวนมา จนทำให้รถหกล้อของขาวเกิดความเสียหายนั้น ถือเป็นกรณีที่ดำกระทำละเมิดต่อขาว และได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ดังนั้น ดำและแดงนายจ้างจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ขาว (ตามมาตรา 420 และมาตรา 425) ส่วนการที่ดำกับขาวทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายในมูลละเมิดนั้น เมื่อไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้ง จึงไม่มีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับ
ดังนั้น เมื่อผู้รับประกันภัยรถหกล้อที่ขาวขับได้นำรถคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม และเสียค่าซ่อมไป 6 หมื่นบาท กรณีจึงเป็นการที่ผู้รับประกันภัย (ลูกหนี้) ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ขาว (เจ้าหนี้) แล้ว ดังนั้น ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของขาวผู้เอาประกันภัยในอันที่จะเรียกให้ดำและแดงผู้ทำละเมิดชำระค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้จ่ายไปแล้วได้ตามมาตรา 226 วรรคแรก มาตรา 277 และมาตรา 880 วรรคแรก พร้อมทั้งเรียกดอกเบี้ยได้อีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ตนได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไป (ตามมาตรา 224)
สรุป ผู้รับประกันภัยสามารถเรียกค่าซ่อมรถ 6 หมื่นบาท จากดำและแดงได้พร้อมทั้งเรียกดอกเบี้ยได้อีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ตนได้จ่ายไป
ข้อ 3 หนึ่งเป็นเจ้าหนี้สองเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท และสองเป็นเจ้าหนี้สาม เป็นจำนวนเงิน 900,000 บาท หนึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องของสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสามเรียกเอาเงิน 900,000 บาท ที่สามค้างชำระแก่สอง ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาสามยอมชำระเงินให้หนึ่ง 300,000 บาท
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า หนึ่งจะว่ากล่าวเอาเงินอีก 600,000 บาท โดยขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือค้างอยู่ตามคำฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 235 เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้โดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งเจ้าหนี้ของสองในมูลหนี้ 300,000 บาท ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสามเรียกเอาเงิน 900,000 บาท ที่สามค้างชำระแก่สองนั้น กรณีถือเป็นการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ ซึ่งตามมาตรา 235 กำหนดให้ เจ้าหนี้สามารถเรียกเงินได้เต็มจำนวนที่จำเลยยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ แต่ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้แล้ว คดีก็เป็นอันเสร็จกันไป
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างพิจารณา สามจำเลยยอมชำระเงินให้หนึ่ง 300,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่สองค้างชำระแก่หนึ่งแล้ว คดีสำหรับหนึ่งผู้เป็นโจทก์ย่อมเป็นอันเสร็จไป หนึ่งจะมาว่ากล่าวขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปในส่วนจำนวนเงินอีก 600,000 บาท ที่เหลือติดค้างอยู่ตามคำฟ้องไม่ได้ เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิของสองโดยเฉพาะตามมาตรา 235
สรุป หนึ่งจะว่ากล่าวเอาเงินอีก 600,000 บาท โดยขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ตามคำฟ้องไม่ได้
ข้อ 4 จันทร์เป็นเจ้าหนี้และอังคารเป็นลูกหนี้ในหนี้เงิน 500,000 บาท โดยมีพุธและพฤหัสเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้ ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ อังคาร (ลูกหนี้) ผิดนัด จันทร์ (เจ้าหนี้) จึงเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ปรากฏว่า จันทร์เรียกให้พุธชำระหนี้เพียงคนเดียวทั้งหมด 500,000 บาท ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า จันทร์มีสิทธิเรียกให้พุธชำระหนี้ทั้งหมดได้โดยชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
มาตรา 682 วรรคสอง ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธและพฤหัสเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ 500,000 บาท ที่มีอังคารเป็นลูกหนี้จันทร์นั้น ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 682 วรรคสอง กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 291 มาบังคับใช้ในกรณีนี้ด้วย ซึ่งตามมาตรา 291 ได้กำหนดไว้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้สิ้นเชิง ในทางกลับกันลูกหนี้ร่วมแต่คนใดคนหนึ่งจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ก็ได้
ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ และอังคาร (ลูกหนี้) ผิดนัด ความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมเกิดมีขึ้น ดังนั้นจันทร์ (เจ้าหนี้) จึงมีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้สิ้นเชิงจากพุธ (ผู้ค้ำประกัน) เพียงคนเดียวทั้งหมด 500,000 บาท ได้ตามมาตรา 291
สรุป จันทร์มีสิทธิเรียกให้พุธชำระหนี้ทั้งหมดได้โดยชอบด้วยมาตรา 291