การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายแสนได้ครอบครองที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายดำและนายแดงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว แต่นายแสนยังไม่ได้ไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินนั้น  เมื่อนายดำรู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวจึงขายที่ดินส่วนของตนให้นายแดงเจ้าของรวมอีกผู้หนึ่ง  ภายหลังการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของนายแดงเพียงผู้เดียวแล้ว  นายแดงจึงรู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของนายแสน  และต้องการฟ้องขับไล่ให้นายแสนออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายแดงจะฟ้องไล่นายแสนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

วินิจฉัย

การที่นายแสนได้ครอบครองที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายดำและนายแดงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว นายแสนจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคสอง  แต่เนื่องจากนายแสนยังไม่ได้ไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว  จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยมีค่าตอบแทนโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้  ส่วนกรณีที่นายดำเจ้าของรวมจดทะเบียนขายที่ดินส่วนของตนให้กับนายแดงเจ้าของรวมอีกผู้หนึ่ง  จนนายแดงเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวนั้น  ก็ไม่ถือว่านายแดงเป็นบุคคลภายนอกตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1299  วรรคสอง  เพราะการครอบครองปรปักษ์ของนายแสนเป็นการครอบครองปรปักษ์ในส่วนที่นายแดงเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  นายแสนจึงยกการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นายแดงได้  ดังนั้น  นายแดงจึงฟ้องขับไล่นายแสนไม่ได้

 

ข้อ  2  จันทร์เก็บโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งได้ในห้องลองเสื้อของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  ย่านถนนรามคำแหง  และได้นำโทรศัพท์เครื่องนี้ไปขายให้น้อยซึ่งตั้งร้านรับซื้อขาย  ซ่อมโทรศัพท์มือสองทุกรุ่นทุกยี่ห้อ  ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกันในราคา  3,000  บาท  ขณะที่จันทร์ขายโทรศัพท์ที่เก็บได้แก่น้อย  อาทิตย์ซึ่งกำลังหาซื้อโทรศัพท์ในร้านก็มาขอดูโทรศัพท์เครื่องนี้และตกลงซื้อจากน้อยในราคา  3,500  บาท  แต่เมื่อใช้ไปได้เพียง  3  วัน  ก็ได้รับแจ้งจากอังคารว่าโทรศัพท์นี้เป็นของอังคารขอให้อาทิตย์นำมาคืน  มิฉะนั้นจะแจ้งตำรวจให้จับอาทิตย์

ดังนี้  อาทิตย์จึงมาปรึกษาท่านเพื่อขอคำแนะนำว่าตนจะต้องคืนโทรศัพท์เครื่องนี้แก่อังคารหรือไม่  และหากต้องคืน  ตนจะมีทางเรียกเงิน  3,500  บาท  กลับคืนหรือไม่  จากใคร  เพราะเหตุใด  ขอให้ท่านให้คำปรึกษาแก่อาทิตย์

ธงคำตอบ

มาตรา  1332  บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด  หรือในท้องตลาด  หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น  ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง  เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

วินิจฉัย

อาทิตย์ซื้อโทรศัพท์มือถือมาจากน้อยซึ่งเป็นพ่อค้าที่รับซื้อขาย  ซ่อมโทรศัพท์มือสองทุกรุ่นทุกยี่ห้อ  จึงถือว่าอาทิตย์ซื้อทรัพย์สินมาจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น  เมื่อซื้อโดยไม่รู้ว่าเป็นโทรศัพท์ที่เจ้าของลืมไว้จึงเป็นการซื้อโดยสุจริต  ตามหลัก  ป.พ.พ.  มาตรา  1332  อาทิตย์ย่อมได้รับความคุ้มครอง  กล่าวคือ  อาทิตย์ไม่ต้องคืนโทรศัพท์แก่เจ้าของที่แท้จริง  นอกเสียจากว่าจะได้รับชดใช้ราคาที่เสียไปจากเจ้าของ

ดังนั้น  ข้าพเจ้าจะแนะนำอาทิตย์ว่า  อาทิตย์ต้องคืนโทรศัพท์แก่นายอังคาร  แต่ยังไม่ต้องคืนจนกว่าอังคารจะชดใช้ราคา  3,500  บาท  ที่เสียไปคืนแก่อาทิตย์

 

ข้อ  3  นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง  โดยนายหนึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้มาตลอด  ต่อมานายหนึ่งได้ให้นายสามซึ่งเป็นเพื่อนกับนายหนึ่งเข้าอาศัยในที่ดินแปลงนี้โดยไม่ได้บอกให้นายสองทราบ  เมื่อนายสามอาศัยในที่ดินแปลงนี้มาได้หกเดือน  นายสองเพิ่งทราบว่านายสามเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงนี้และโดยนายหนึ่งเป็นผู้อนุญาต  นายสองจึงได้บอกนายสามว่าถ้านายสามอยากอยู่ต่อก็ต้องเสียค่าเช่า  มิฉะนั้นก็ต้องออกไปจากที่ดินแปลงนี้  แต่นายสามไม่ยอมออกไปจากที่ดินแปลงนี้  และก็ไม่ยอมเสียค่าเช่าให้นายสอง

ให้ท่านวินิจฉัยว่านายสองจะเรียกค่าเช่าที่ดินแปลงนี้จากนายสามได้หรือไม่  และถ้านายสามไม่ยอมจ่ายค่าเช่า  นายสองจะขับไล่นายสามให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1359  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก

มาตรา  1361  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ  จะจำหน่ายส่วนของตน  หรือจำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันก็ได้

แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย  จำนำ  จำนอง  หรือก่อให้เกิดภารติดพันได้  ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน

วินิจฉัย

นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง  โดยนายหนึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้มาตลอด  ต่อมานายหนึ่งได้ให้นายสามซึ่งเป็นเพื่อนกับนายหนึ่งเข้าอาศัยในที่ดินแปลงนี้โดยไม่ได้บอกให้นายสองทราบ  เมื่อนายสามอาศัยในที่ดินแปลงนี้มาได้หกเดือน  เดือน  นายสองทราบว่านายสามเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงนี้และโดยนายหนึ่งเป็นผู้อนุญาตเพียงผู้เดียว  ไม่ได้รับความยินยอมจากนายสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่ง  ตามมาตรา  1361  วรรคสอง  จึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์  นายสองจึงให้นายสามออกจากที่ดินแปลงนี้ได้  แต่นายสองบอกนายสามว่าถ้านายสามอยากอยู่ต่อก็ต้องเสียค่าเช่า  มิฉะนั้นก็ต้องออกไปจากที่ดินแปลงนี้  นายสองจะเรียกค่าเช่าที่ดินแปลงนี้จากนายสามได้  และถ้านายสามไม่ยอมเสียค่าเช่าให้นายสอง  นายสองก็ขับไล่นายสามให้ออกจากที่ดินแปลงนี้ได้ตามมาตรา  1359

 

ข้อ  4  นายแจ่มเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งที่มีคลองภารจำยอมให้นายใจผ่านเข้าออกจากที่ดินของนายใจ  นายใจได้ภารจำยอมมาโดยการครอบครองปรปักษ์  และจดทะเบียนการได้มาเรียบร้อยแล้ว  ต่อมานายแจ่มได้แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นออกเป็นสองโฉนดและยกที่ดินที่แบ่งทั้งสองแปลงแล้วขายให้กับนายจิตกับนายจอม  ที่ดินของนายจอมเท่านั้นที่มีคลองภารจำยอมแตะอยู่  ส่วนของนายจิตไม่มี นายจิตจึงต้องการเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินของตนที่รับโอนมา  แต่นายใจต้องการค่าชดเชยหนึ่งแสนบาทถึงจะยอมให้เพิกถอนทะเบียนในส่วนที่ดินที่นายจิตซื้อ  นายจิตจะขอเพิกถอนภารจำยอมและต้องจ่ายชดเชยตามที่นายใจเรียกร้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1394  ถ้ามีการแบ่งแยกภารทรัพย์  ท่านว่าภารจำยอมยังคงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออก  แต่ถ้าในส่วนใดภารจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการ  ท่านว่าเจ้าของส่วนนั้นเรียกให้พ้นจากภารจำยอมก็ได้

วินิจฉัย

นายแจ่มเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งที่มีคลองภารจำยอมให้นายใจผ่านเข้าออกจากที่ดินของนายใจ  นายใจได้ภารจำยอมมาโดยการครอบครองปรปักษ์  และจดทะเบียนการได้มาเรียบร้อยแล้ว  ต่อมานายแจ่มได้แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นออกเป็นสองโฉนดและยกที่ดินที่แบ่งทั้งสองแปลงแล้วขายให้กับนายจิตกับนายจอม  ที่ดินของนายจอมเท่านั้นที่มีคลองภารจำยอมแตะอยู่  ส่วนของนายจิตไม่มี  นายจิตจึงต้องการเพิกถอนภารจำยอมในส่วนที่ดินของตนที่รับโอนมา  แต่นายใจต้องการค่าชดเชยหนึ่งแสนบาทถึงจะยอมให้เพิกถอนทะเบียนในส่วนที่ดินที่นายจิตซื้อ  นายจิตจะขอเพิกถอนภารจำยอมได้เพราะว่าที่ดินส่วนของนายจิตภารจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการเพื่อประโยชน์แกสามานยทรัพย์  เจ้าของส่วนนั้นจะยกให้พ้นจากภารจำยอมอันเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนนั้นได้  และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่นายใจเรียกร้อง  กฎหมายให้สิทธิกับเจ้าของภารยทรัพย์เพิกถอนได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน  ตามมาตรา  1394

Advertisement