การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายแดงซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนางแมว โดยทำสัญญาซื้อขายไว้และได้ชำระราคากันครบถ้วนแล้ว แต่นางแมวขอผัดจะไปจดทะเบียนโอนให้หลังจากนั้นอีก 20 วัน หลังจากทำสัญญาได้ 5 วัน นางแมวถึงแก่ความตาย นายหนูบุตรนางแมวได้ไปจดทะเบียนขอรับมรดกที่ดินแปลงนั้น แล้วนายหนูได้นำที่ดินนั้นไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้กับธนาคาร
โดยธนาคารไม่ทราบเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายแดงกับนางแมวมาก่อน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแดงจะฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินของนายหนู และฟ้องให้เพิกถอนการจำนองระหว่างนายหนูกับธนาคารได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1300 ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
วินิจฉัย
การที่นายแดงทำสัญญาซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนางแมว และได้ชำระราคากันครบถ้วนแล้ว เพียงแต่นัดจะไปโอนที่ดินทางทะเบียนกันภายใน 20 วันหลังจากทำสัญญาซื้อขายกัน ถือได้ว่านายแดงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตามมาตรา 1300 ดังนั้นนายแดงจึงมีสิทธิตามมาตรา 1300 ที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางให้ตนเสียเปรียบได้ เว้นแต่จะเป็นการโอนโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนจึงจะขอให้เพิกถอนไม่ได้ ดังนั้นการที่นายหนูจดทะเบียนรับมรดกที่ดินจากนางแมวซึ่งเป็นการรับโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน นายแดงจึงฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินของนายหนูได้
ส่วนการที่นายหนูนำที่ดินแปลงนั้นไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้กับธนาคารโดยธนาคารไม่ทราบเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายแดงกับนางแมวมาก่อน นายแดงจึงฟ้องให้เพิกถอนการจำนองระหว่างนายหนูกับธนาคารไม่ได้ เพราะธนาคารกระทำโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน
ข้อ 2 เด็กชายเอกอายุ 14 ปี ขายโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งให้แก่นายโทในราคาร้อยบาท โดยไม่ได้ขออนุญาตบิดา-มารดาของตนก่อน นายโทซื้อแล้วนำไปตีใช้หนี้เงินกู้ที่ตนค้างชำระนายตรีอยู่หนึ่งพันบาท นายตรียอมรับโทรศัพท์ไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นของที่นายโทซื้อมาจากเด็กชายเอก นายตรีใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ได้เพียงอาทิตย์เดียวก็ยกให้นางสาวนิดหน่อยน้องสาวของตน
นางสาวนิดหน่อยนำโทรศัพท์ไปใช้โดยรู้ว่าเป็นเครื่องเก่าของเด็กชายเอกที่โอนต่อให้กันมาเป็นทอดๆ จนมาถึงนายตรีพี่ชายของตน แต่ก็ไม่ว่าอะไรเพราะตนได้มาเปล่าๆ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ ต่อมาบิดาของเด็กชายเอกบอกล้างการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างเด็กชายเอกกับนายโท และติดตามทวงถามให้นางสาวนิดหน่อยคืนโทรศัพท์แก่เด็กชายเอก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างเด็กชายเอก นายตรี และนางสาวนิดหน่อยใครมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่ากัน เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1329 สิทธิของบุคคลผู้ได้มา ซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง
วินิจฉัย
ตามปัญหา เป็นการที่เด็กชายเอกผู้เยาว์ขายโทรศัพท์มือถือแก่นายโทโดยไม่ได้ขออนุญาตบิดา-มาดา นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆียะ การที่นายโทขายต่อแก่นายตรี นายตรีเป็นผู้ซื้อมาโดยสุจริต (ไม่รู้ว่าเป็นของที่นายโทซื้อมาจากเด็กชายเอก) และนายตรีซื้อมาก่อนที่นิติกรรมการซื้อขายโทรศัพท์จะถูกบอกล้าง ทำให้นายตรีไดกรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์ดังกล่าวตามมาตรา 1329 แม้ว่าการซื้อขายจะถูกบอกล้างในภายหลังก็ตามย่อมไม่กระทบกระเทือนสิทธิของนายตรีที่ได้ซื้อโทรศัพท์มา
ส่วน น.ส. นิดหน่อย แม้ได้โทรศัพท์มาโดยไม่เสียค่าตอบแทนและไม่สุจริต แต่เมื่อได้มาจากนายตรีผู้มีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามไปด้วย
ดังนั้นนายตรี และ น.ส. นิดหน่อย จึงมีสิทธิในโทรศัพท์เครื่องนี้ดีกว่าเด็กชายเอก
ข้อ 3 นายสีครอบครองที่ดินแปลงหนึ่งโดยได้ปลูกไม้เบญจพรรณทิ้งไว้ เพื่อตนจะได้ขอเอกสารสิทธิในภายหลัง ซึ่งความจริงแล้วที่ดินแปลงนั้นอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแต่นายสีไม่ทราบ นายสีปลูกต้นไม้บนที่ดินแปลงนั้นมาได้สองปี เจ้าหน้าที่ของสักปฏิรูปที่ดินจังหวัดได้นำที่ดินแปลงนั้นไปจัดให้นายสายซึ่งเป็นเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ นายสายเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นได้ประมาณห้าเดือน
นายสีทราบจึงต้องการฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นจากนายสาย โดยอ้างว่าตนได้ครอบครองที่ดินแปลงนั้นมาก่อนและได้เรียกคืนในระยะเวลาภายในหนึ่งปี ท่านคิดว่าข้ออ้างของนายสีรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
วินิจฉัย
นายสีครอบครองที่ดินแปลงหนึ่งโดยได้ปลูกไม้เบญจพรรณทิ้งไว้ เพื่อตนจะได้ขอเอกสารสิทธิในภายหลัง ซึ่งความจริงแล้ว ที่ดินแปลงนั้นอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแต่นายสีไม่ทราบ นายสีปลูกต้นไม้บนที่ดินแปลงนั้นมาได้สองปี เจ้าหน้าที่ของสำนักปฏิรูปที่ดินจังหวัดได้นำที่ดินแปลงนั้นไปจัดให้นายสายซึ่งเป็นเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ นายสายจึงได้ครอบครองที่แปลงนั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย นายสีจะฟ้องขับไล่และเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นจากนายสายไม่ได้ แม้นายสีจะครอบครองก่อน และเรียกคืนในระยะเวลาภายในหนึ่งปีก็ตาม แต่การเรียกคืนตามมาตรา 1375 ต้องเป็นการที่ผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และถ้าอีกฝ่ายมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าผู้ครอบครอง ผู้ครอบครองก็จะเรียกคืนไม่ได้ ข้ออ้างของนายสีจึงรับฟังไม่ได้
ข้อ 4 นายปลามีอาชีพปลูกผักขาย ที่ดินของนายปลาที่นายปลาปลูกบ้านอยู่ และใช้ทำสวนผักได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความในการเข้าไปตักน้ำในบ่อซึ่งอยู่ในที่ดินของนายปูเพื่อใช้รดน้ำผักและใช้ในครัวเรือนของนายปลา นอกจากนั้นที่ดินของนายปลาแปลงนั้นยังได้สิทธิใช้ทางภารจำยอมโดยทางนิติกรรมเป็นทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งเพื่อออกสู่ทางสาธารณะอีก ต่อมาชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันทำประปาหมู่บ้านเพื่อนำน้ำมาใช้ในหมู่บ้าน แต่เป็นข้อตกลงของหมู่บ้านว่าน้ำประปาใช้ในครัวเรือนรดน้ำต้นไม้ในบริเวณบ้านได้เท่านั้น ห้ามไปใช้ประกอบการเกษตรเพราะจะทำให้น้ำไม่พอใช้ทั่วถึง นายปลาจึงยังคงใช้น้ำในบ่อในที่ดินของนายปูเพื่อรดน้ำผัก แต่ทางเดินนายปลาก็ไม่ได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งอีกเลย เพราะทางเดินใช้เดินไม่สะดวก ให้ท่านอธิบายว่าภารจำยอมในการใช้น้ำและทางเดินนั้นจะสิ้นไปได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 1399 ภาระจำยอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป
มาตรา 1400 ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีก แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน
ถ้าภารจำยอมยังเป็นประโยชน์แก่สามยทรัพย์อยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่ภารยทรัพย์แล้ว ประโยชน์นั้นน้อยนักไซร้ ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย์จะขอให้พ้นจากภารจำยอมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้แต่ต้องใช้ค่าทดแทน
วินิจฉัย
นายปลามีอาชีพปลูกผักขาย ที่ดินของนายปลาปลูกบ้านอยู่และใช้ทำสวนผักได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความในการเข้าไปตักน้ำในบ่อซึ่งอยู่ในที่ดินของนายปูเพื่อใช้รดน้ำผักและใช้ในครัวเรือนของนายปลา นอกจากนั้นที่ดินของนายปลาแปลงนั้นยังได้สิทธิใช้ทางภารจำยอมโดยทางนิติกรรมเป็นทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งเพื่อออกสู่สาธารณะ ต่อมาชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันทำประปาหมู่บ้านเพื่อนำน้ำมาใช้ในหมู่บ้าน แต่เป็นข้อตกลงของหมู่บ้านว่าน้ำประปาใช้ในครัวเรือนรดต้นไม้ได้เท่านั้น ห้ามไปใช้ประกอบการเกษตรเพราะจะทำให้น้ำไม่พอใช้ทั่วถึง นายปลาจึงยังคงใช้น้ำในบ่อที่ดินของนายปูเพื่อรดน้ำผัก แต่ทางเดินนายปลาก็ไม่ได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายกุ้งอีกเลย เพราะทางเดินใช้เดินไม่สะดวก ภารจำยอมในการใช้น้ำยังคงมีอยู่ยังไม่หมดประโยชน์แม้จะมีประปาหมู่บ้าน แต่ยังจำเป็นในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการทำสวนผักยังไม่หมดประโยชน์ ตามมาตรา 1400 และประโยชน์ยังมีอยู่มาก การลดประโยชน์ในการใช้น้ำเป็นเพียงเล็กน้อย สิทธิภารจำยอมในการใช้น้ำยังมีอยู่ และสิทธิในการขอให้พ้นตาม มาตรา 1400 วรรคสอง ก็ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนทางเดินนั้นจะสิ้นไปได้ ถ้านายปลาไม่ได้ใช้ทางเดินภารจำยอมนั้นติดต่อกันสิบปีตามมาตรา 1399