การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 เพชรทำสัญญาอนุญาตให้พลอยอาศัยอยู่ในบ้านของตนได้ตลอดชีวิตของพลอย แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากที่พลอยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ 15 ปี พลอยเห็นว่าบ้านชำรุดทรุดโทรมมาก จึงรื้อถอนบ้านเก่าและสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่า โดยไม่ได้บอกกล่าวเพชรแต่อย่างใด ต่อมาอีก 5 ปี เพชรทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้กับมรกต และมรกตแจ้งให้พลอยย้ายออกไปจากที่ดินและบ้านหลังนั้น แต่พลอยอ้างว่าตนมีสิทธิอาศัยในบ้านหลังนั้นตลอดชีวิตตามสัญญาที่เพชรทำไว้กับตน ส่วนบ้านตนเป็นผู้ออกเงินก่อสร้างจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของตน เพชรไม่มีสิทธินำบ้านไปขายแต่อย่างใด
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าพลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยขึ้นต่อสู้มรกตเพื่อไม่ต้องย้ายออกไปได้หรือไม่ และระหว่างพลอยกับมรกตผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทดีกว่ากัน เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 144 วรรคสอง เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น
มาตรา 146 ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย
มาตรา 1299 วรรคแรก ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่า การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า พลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยขึ้นต่อสู้มรกตเพื่อไม่ต้องย้ายออกได้หรือไม่ เห็นว่า โดยหลักแล้ว การได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยนิติกรรม หากไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงความสมบูรณ์ของการได้มาไว้ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 1299 วรรคแรก กล่าวคือ หากมิได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ ไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้
คงบังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณีในฐานะบุคคลสิทธิเท่านั้น กรณีนี้เมื่อพลอยเป็นผู้มีสิทธิอาศัยในบ้านของเพชรตามสัญญาที่เพชรทำกับพลอย พลอยจึงเป็นผู้ที่ได้มาซึ่งทรัพย์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม แต่เนื่องจากนิติกรรมดังกล่าว ไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยจึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ ทำให้ไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 1299 วรรคแรก กรณีเช่นนี้ พลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยซึ่งเป็นบุคคลสิทธิขึ้นต่อสู้มรกตบุคคลภายนอกไม่ได้ (ฎ. 1752/2523)
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ระหว่างพลอยกับมรกตผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทดีกว่ากัน เห็นว่า การที่พลอยเห็นบ้านชำรุดทรุดโทรมมากจึงรื้อถอนบ้านเก่าและสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่าโดยไม่ได้บอกกล่าวเพชรแต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏบ้านที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีลักษณะติดที่ดินเป็นการถาวร เพราะไม่ปรากฏว่าเป็นการปลูกสร้างเพียงชั่วคราวและจะรื้อถอนไป ทั้งพลอยก็ไม่มีสิทธิหรือได้รับอำนาจจากเพชรที่จะปลูกบ้านลงในที่ดินของเพชรแต่อย่างใด กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 146 ดังนั้น บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน โดยที่ดินเป็นทรัพย์ประธาน เพชรเจ้าของที่ดินทรัพย์ประธานจึงเป็นเจ้าของส่วนควบคือบ้านด้วยตามมาตรา 144 วรรคสอง (ฎ. 1516 – 1517/2529)
หลังจากที่พลอยสร้างบ้านได้ 5 ปี เพชรได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือบ้านพิพาทให้กับมรกต เมื่อได้ความว่า เพชรเป็นเจ้าของส่วนควบคือบ้านด้วยย่อมมีสิทธิที่จะจดทะเบียนขายบ้านพิพาทได้ ส่งผลทำให้มรกตผู้สืบสิทธิของเพชรเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าพลอย
สรุป พลอยจะอ้างสัญญาระหว่างเพชรกับพลอยขึ้นต่อสู้มรกตเพื่อไม่ต้องย้ายออกไม่ได้ และระหว่างพลอยกับมรกต มรกตเป็นผู้มีสิทธิในบ้านดีกว่า
ข้อ 2 นายเอกซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมือสองเครื่องหนึ่งจากร้านขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ย่านบางกะปิมาในราคา 12,000 บาท ปรากฏว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เป็นของนายโท ได้ถูกนายตรีขโมยมาขายไว้ที่ร้านดังกล่าวและนายเอกได้ไปซื้อมา โดยทางร้านขอให้นายเอกมาซื้อขณะที่ร้านปิดทำการแล้ว และให้มาเข้าทางประตูด้านหลังร้าน โดยให้เหตุผลว่าจะมีสินค้ามาให้เลือกมากมาย และจะได้ต่อรองราคากันได้สะดวกกว่าตอนเปิดทำการแล้ว
ต่อมานายโทเจ้าของคอมพิวเตอร์มาพบคอมพิวเตอร์ของตนอยู่กับนายเอกและจำได้ว่าเป็นของตน จึงเรียกให้นายเอกคืนคอมพิวเตอร์ มิฉะนั้นนายโทจะแจ้งความต่อตำรวจว่านายเอกมีความผิดฐานรับของโจร นายเอกจึงมาขอคำปรึกษาท่านว่าตนจะต้องคืนคอมพิวเตอร์เครื่องนี้แก่นายโทหรือไม่ หรือจะมีข้อต่อสู้อย่างไรเพื่อไม่ต้องคืนบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การซื้อขายทรัพย์สินที่จะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1332 อันจะทำให้บุคคลผู้ซื้อได้รับการคุ้มครองนั้น ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริต จากการขายทอดตลาดของเอกชนหรือในท้องตลาด และจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเอกจะต้องคืนคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ให้แก่นายโทหรือไม่ หรือจะมีข้อต่อสู้อย่างไร เพื่อให้ไม่ต้องคืนบ้าง เห็นว่า นายเอกซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมือสองจากร้านขายคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง แต่การซื้อขายของนายเอกไม่ได้ซื้อในเวลาเปิดทำการปกติ แต่ไปซื้อเมื่อร้านปิดทำการแล้วและให้เข้ามาทางประตูหลังร้าน กรณีเช่นนี้ แม้ได้ความว่าการซื้อขายดังกล่าวจะซื้อจากร้านค้าที่ขายของชนิดนั้น อันถือว่าเป็นการซื้อทรัพย์ในท้องตลาดก็ตาม แต่การที่นายเอกมาซื้อในขณะที่ร้านปิดทำการแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อขายที่สุจริต ทำให้นายเอกไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1332 ดังนั้นข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายเอกว่านายเอกต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายโทผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง โดยไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆจากนายโทได้ เพราะถือเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินโดยไม่สุจริต
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำนายเอกว่านายเอกต้องคืนคอมพิวเตอร์ให้แก่นายโทผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง โดยไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆจากนายโทได้
ข้อ 3 นายจิตเช่าที่ดินของนายแจ่มปลูกบ้านอยู่และได้เดินผ่านที่ดินของใจมาได้หกปีเพื่อเข้าออกในหมู่บ้าน ตอลดมาโดยไม่เคยขออนุญาตใจเลย สัญญาเช่าที่ดินแจ่มหมดอายุ นายจิตจึงได้รื้อบ้านออกไปและไปเช่าที่ดินในตัวเมืองเพื่อปลูกบ้านอยู่ แต่ก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขาย จึงยังต้องใช้ทางเดินผ่านที่ดินของใจเข้าออกในหมู่บ้านเพื่อเข้าไปค้าขายเหมือนเดิม จิตใช้ทางผ่านที่ดินของใจมาช่วงหลังนี้ได้ห้าปี ทางผ่านที่เป็นดินเริ่มเป็นหลุมเป็นบ่อเข้าออกไม่สะดวก
จิตจึงได้จ้างผู้รับเหมาทำถนนและตั้งใจจะเทคอนกรีต แต่เมื่อใจทราบจึงได้ห้ามไม่ให้จิตเข้ามาในที่ดินของตนและให้ผู้รับเหมารื้อย้ายข้าวของที่จะทำถนนผ่านออกไปและทำที่ดินให้ดีเหมือนเดิม ระหว่างจิตและใจ จิตจะรักษาทางทำถนนและเทคอนกรีตบนทางเข้าออกบนที่ดินของใจได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1377 วรรคแรก ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยุดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1391 เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ โดยหลักแล้ว การใช้ภารยทรัพย์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมนั้น ไม่จำเป็นที่เจ้าของสามยทรัพย์จะต้องเป็นผู้ใช้เองเท่านั้น การที่นายจิตผู้เช่าที่ดินของนายแจ่มได้เดินผ่านที่ดินของนายใจโดยเจตนาใช้เป็นทางเข้าออกในหมู่บ้าน โดยไม่เคยขออนุญาตนายใจเลยเป็นระยะเวลา 6 ปี ถือว่านายแจ่มเจ้าของที่ดินใช้ทางโดยปรปักษ์โดยมีนายจิตเป็นผู้ใช้ทางแทน (ตามมาตรา 1368 ประกอบมาตรา 1401)
การที่ต่อมา สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายจิตและนายแจ่มสิ้นสุดลง นายจิตผู้เช่าได้รื้อถอนบ้านออกไปและไปเช่าที่ดินในเมืองปลูกบ้านอยู่ โดยไม่ปรากฏว่านายแจ่มได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายใจต่อจากนายจิตแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ถือว่านายจิตสละเจตนาครอบครองเพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิภาระจำยอมในทางผ่านที่ดินของนายใจตามมาตรา 1377 วรรคแรกแล้ว การครอบครองโดยปรปักษ์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมที่มีก่อนตลอด 6 ปีที่ผ่านมาจึงสิ้นสุดลง ดังนั้น อายุความครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมของนายจิตจึงสิ้นสุดลงด้วย
และแม้ต่อมาจะได้ความว่าในขณะที่สัญญาเช่าที่ดินระงับไปแล้ว นายจิตจะยังใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายใจเข้าออกในหมู่บ้านอยู่ก็ตาม แต่การเข้าออกดังกล่าวเป็นการเข้าไปเพื่อค้าขายอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายจิตโดยเฉพาะ มิใช่เพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ การใช้ทางผ่านในช่วงหลังตลอดเวลา 5 ปี จึงนับอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 เพื่อให้ได้ภาระจำยอมไม่ได้ เพราะไม่เข้าลักษณะและสาระสำคัญของภาระจำยอมตามมาตรา 1387 ดังนั้น ภาระจำยอมจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ (ฎ. 11 – 13/2503)
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายจิตจะทำถนนและเทคอนกรีตบนทางเข้าออกบนที่ดินของนายใจได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายจิตจ้างผู้รับเหมาทำถนนและตั้งใจจะเทคอนกรีต แม้จะเป็นการกระทำเพื่อรักษาและใช้ทางผ่านที่ดินของนายใจ และไม่เป็นการกระทำที่เป็นการเพิ่มภารยทรัพย์ก็ตาม (ฎ.1730/2503) นายจิตก็ไม่สามารถทำได้ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1391 วรรคแรก เพราะกรณีนี้ภาระจำยอมไม่เกิดขึ้น นายใจจึงมีอำนาจห้ามไม่ให้นายจิตเข้ามาในที่ดินของตน และให้ผู้รับเหมารื้อย้ายข้าวของที่จะทำถนนออกไปและทำที่ดินให้ดีเหมือนเดิมได้
สรุป นายจิตทำถนนและเทคอนกรีตบนทางเข้าออกบนที่ดินของนายใจไม่ได้
ข้อ 4 ทองครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายนาค ทำสวนลิ้นจี่มาได้แปดปี ถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลาเก้าเดือน เงินซึ่งเป็นเพื่อบ้านทราบจึงได้ขอเช่าสวนลื้นจี่เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสวนเกษตรและเก็บลิ้นจี่ขายนักท่องเที่ยวด้วย เมื่อถูกจำคุกไปได้แปดเดือนขณะอยู่ในเรือนจำ ทองป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อพ้นโทษทองจึงได้มารักษาพยาบาลต่ออยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพ อีกห้าเดือนเป็นเวลารวมหนึ่งปีกับสองเดือน เมื่อรักษาตัวหายดีแล้วทองจึงได้หางานทำที่กรุงเทพ แต่ที่ดินแปลงนี้ทองยังคงให้เงินเช่าต่อ ทองทำงานอยู่ที่กรุงเทพมาได้สองปี เงินและทองถูกนาคฟ้องขับไล่เรียกที่ดินแปลงนี้คืน ให้ท่านอธิบายว่าทองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้วหรือยัง นาคฟ้องคดีต่อศาลเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากทองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1368 บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือ หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
2 ได้ครอบครองโดยความสงบ
3 ครอบครองโดยเปิดเผย
4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี
สำหรับการครอบครองติดต่อกันนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ครอบครอง ไม่มีเจตนาสละการครอบครอง หรือขาดการยึดถือโดยสมัครใจ และนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันได้ หากเป็นเพียงการขาดการยึดถือโดยไม่สมัคร เพราะมีเหตุมาขัดขวางโดยไม่สมัครใจ กฎหมายถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้ขาดอายุความ การครอบครองสะดุดหยุดลง หากได้ทรัพย์สินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ ทั้งนี้ตามมาตรา 1384
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทองครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายนาค มา 8 ปี โดยทำเป็นสวนลิ้นจี่ ต่อมานายทอง ได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 9 เดือน เงินซึ่งเป็นเพื่อบ้านจึงได้ขอเช่าสวนลิ้นจี่จากทองเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสวนเกษตร และเก็บลิ้นจี่ขายนักท่องเที่ยวด้วย กรณีเช่นนี้ ถือว่า ทองได้ขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจตามมาตรา 1384 โดยมีเงินผู้เช่าเป็นผู้ยึดถือการครอบครองแทนตามมาตรา 1368 และเป็นผู้เอาคืนซึ่งการครอบครองให้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจ อายุความการครอบครองจึงไม่สะดุดหยุดลง
เมื่อได้ความว่า ทองถูกจำคุกไปได้ 8 เดือน ขณะอยู่ในเรือนจำทองป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อพ้นโทษทองจึงได้มารักษาพยาบาลต่ออยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ อีก 5 เดือน ซึ่งเป็นเวลารวม 1 ปี 2 เดือน เมื่อรักษาตัวหายดีแล้ว ทองจึงได้หางานทำที่กรุงเทพฯ และทองได้ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯอีก 2 ปี ในกรณีดังกล่าวนี้ ระหว่างที่ทองถูกจำคุกและในระหว่างป่วยและทำงานที่กรุงเทพฯ จะถือว่าทองขาดการยึดถือไม่ได้ เพราะที่ดินแปลงนี้ก็มีเงินครอบครองปรปักษ์แทนทองตลอดเวลาตามมาตรา 1368 ประกอบมาตรา 1384 ดังที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดติดต่อกันแล้วเป็นเวลาเกิน 10 ปี ดังนั้น ทองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
สรุป ทองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว นาคจึงฟ้องศาลเรียกที่ดินแปลงนี้จากทองไม่ได้